ยัน ฮุส
ยัน ฮุส (เช็ก: Jan Hus, ออกเสียง: [ˈjan ˈɦus] ) หรือ จอห์น ฮัส (อังกฤษ: John Hus, John Huss; ประมาณ ค.ศ. 1369 – 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1415) เป็นนักปรัชญาและบาทหลวงชาวเช็ก ถือเป็นบุคคลแรก ๆ ที่มีแนวคิดในการปฏิรูปศาสนา
ประวัติ
[แก้]ยัน ฮุสเกิดที่เมืองฮูซิเนตส์ ราชอาณาจักรโบฮีเมีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเช็ก) เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1369 หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ย้ายไปอยู่ที่ปราก และเรียนจบที่มหาวิทยาลัยปราก หลังเรียนจบ ฮุสก็บวชเป็นบาทหลวงและเทศนาตามเมืองต่าง ๆ และขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยปรากหลังจากนั้น 2-3 ปี ฮุสมีความสนใจในแนวคิดของจอห์น วิคลิฟฟ์ (John Wycliffe) นักปรัชญาศาสนาชาวอังกฤษ และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปศาสนา เนื่องจากเห็นถึงความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของบรรดานักบวช นอกจากนี้ ฮุสยังแปลหนังสือของวิคลิฟฟ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ทางคริสตจักรสั่งห้ามอีกด้วย ทำให้ในปี ค.ศ. 1409 เขาถูกขับออกจากศาสนาโดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 5 ฮุสลี้ภัยไปที่เมืองคอนสตันซ์ในเยอรมนี ด้วยความช่วยเหลือจากจักรพรรดิซีกิสมุนด์ แต่ก็ถูกจับตัวที่นั่น เขาถูกไต่สวนและถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในฐานเป็นบุคคลนอกรีต จนที่สุด ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1415 ฮุสก็ถูกมัดติดกับเสาและเผาทั้งเป็น เถ้ากระดูกของเขาถูกนำไปทิ้งที่แม่น้ำไรน์
หลังจากที่ฮุสเสียชีวิต ผู้ที่เชื่อในแนวคิดของเขาที่เรียกว่า "ฮุสไซต์" (Hussite) ก็รวมตัวกันก่อกบฏต่อผู้ปกครองที่นับถือนิกายคาทอลิก จนเกิดเป็นสงครามฮุสไซต์[1] แนวคิดของเขายังเป็นแนวทางให้มาร์ติน ลูเทอร์, ฌ็อง กาลแว็ง และฮุลดริช ซวิงลี ทำการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์และคริสตจักรปฏิรูปในอีกร้อยกว่าปีต่อมา
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยัน ฮุส