ข้ามไปเนื้อหา

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็น"องค์กรการกุศล"จัดตั้งขึ้นโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า[1] เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่ พุทธธรรมโดยจัดตรวจชำระและแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา แล้วจำหน่ายเผยแผ่ในราคาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบัน ได้จัดพิมพ์ตำรับตำราทางพระพุทธศาสนาอันจะเป็นประโยชน์ในการเรียนนักธรรมและบาลีทุกระดับชั้นในราคาถูก และยังจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนา

ประวัติ

[แก้]

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขอให้หมอบรัดเลย์พิมพ์ตำรับตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแผ่บ้าง เพราะสมัยของพระองค์นั้น คนไทยยังไม่มีโรงพิมพ์ แม้หมอบรัดเลย์จะมีโรงพิมพ์แต่หลักๆ ก็ใช้พิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นหลัก ต่อมาเมื่อหมอบรัดเลย์ปฏิเสธ อ้างว่าศาสนาพุทธเป็นคู่แข่งศาสนาคริสต์ พระองค์จึงพยายามสร้างโรงพิมพ์ในบริเวณตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหารนั่นเอง โดยให้ศิษยานุศิษย์ของพระองค์เป็นกองบรรณาธิการ ส่วนแท่นพิมพ์นั้นทรงให้เก็บไว้ที่ศาลาฤๅษีข้างพระอุโบสถ กิจการโรงพิมพ์นี้หยุดไปบ้าง เป็นครั้งคราวเพราะมีปัญหาค่าใช้จ่าย ต่อมาถึงยุคสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ได้ประกาศให้โรงพิมพ์ภายในวัดบวรนิเวศวิหารว่า โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเฉลิมพระนามพระบรมราชชนก โดยทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. 2439 แต่บางคราวก็หยุดพิมพ์บ้าง เพราะต้องหาทุนมาจัดพิมพ์เพื่อแจกอย่างเดียว

มหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง โดยระยะแรกพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ ต่อมาจึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกกรรมการในขณะนั้น ได้โปรดให้จัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อนำดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฏฯ มาช่วยบำรุงอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น[2]

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 หลังจากที่ได้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยมาได้ 40 ปี นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ 2 ของมหามกุฏราชวิทยาลัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก[3]

จนถึงสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระองค์ได้ทรงรื้อฟื้นกิจการโรงพิมพ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2478 คราวนี้ มีการดำเนินการขอรับบริจาคเพื่อตั้งทุนจัดพิมพ์หนังสือโดยเฉพาะ ทำให้กิจการดีขึ้นมาโดยลำดับจนทุกวันนี้

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยกับมหามกุฏราชวิทยาลัย

[แก้]

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยได้มีบทบาทสำคัญในช่วงที่อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพพยายามก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์จนเป็นผลสำเร็จ โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการช่วยให้มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยดำเนินการไปได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ รัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์เพราะเห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ยังให้ทุนแก่นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีอีกด้วย

สถานที่ตั้งสำนักงาน

[แก้]

สำนักงานมูลนิธิฯ ตั้งอยู่หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ติดต่อสอบถามหนังสือธรรมะได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-6291417

กรรมการบริหารมูลนิธิ

[แก้]

ปัจจุบัน นายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

อ้างอิง

[แก้]
  • ร้อยปีมหามกุฏราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2536 (จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. https://www.xn--62cbck0cewhq9a2ac3acds9bc8bf9jxafv0bb4k1iwh.com/document/sangkaracha19/sangkaracha11.pdf
  2. "สนง.แม่กองธรรมสนามหลวง - บทความ: พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการสอบธรรมศึกษา". www.gongtham.net.
  3. "สนง.แม่กองธรรมสนามหลวง - บทความ: พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการสอบธรรมศึกษา". www.gongtham.net.