ข้ามไปเนื้อหา

มาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญสมัยโรมันที่มีรูปศีรษะของมาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุส

มาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุส (ละติน: Marcvs Clavdivs Marcellvs; ประมาณ 268-208 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นกงสุลแห่งสาธารณรัฐโรมันถึงห้าสมัย เป็นผู้นำทางการทหารคนสำคัญของโรมันระหว่างสงครามกอล (225 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และสงครามพิวนิกครั้งที่สอง มาร์แก็ลลุสได้รับสปอลิอาออปีมา (Spolia opima) ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติที่สุดที่นายพลโรมันคนหนึ่งที่จะได้รับ หลังจากการสังหารผู้นำทางการทหารและกษัตริย์ชาวกอลวีรีโดมารุสในการต่อสู้แบบประชิดตัวในยุทธการที่กลัสติดิอูง (222 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นอกจากนี้ เขายังเป็นที่รู้จักจากการพิชิตเมืองปราการซีรากูซาระหว่างการล้อมอันยืดเยื้อ ซึ่งอาร์คิมีดีส นักประดิษฐ์ผู้โด่งดัง ถูกสังหารระหว่างการรบ มาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุสเสียชีวิตในการรบเมื่อ 208 ปีก่อนคริสต์ศักราช เหลือไว้เพียงมรดกของการพิชิตทางทหารและตำนานที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ของสปอลิอาออปีมา

ชีวิตช่วงต้น : นายทหารที่มีชื่อเสียงและนักการเมือง

[แก้]

ประวัติชีวิตช่วงต้นของมาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุสเป็นที่ทราบกันเพียงเล็กน้อยเนื่องจากข้อมูลชีวประวัติส่วนใหญ่ของเขานั้นเกี่ยวข้องกับการสงครามมากกว่า ประวัติชีวิตของมาร์แก็ลลุสที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นเขียนขึ้นโดยพลูทาร์ก นักประวัติศาสตร์โรมัน ผลงานของพลูทาร์กที่ได้รับการรวบรวมขึ้น ซึ่งมีชื่อว่า ชีวิตของมาร์แก็ลลุส นั้น มุ่งความสนใจไปยังการทำสงครามและชีวิตการเมืองของมาร์แก็ลลุสมากกว่าจะเป็นชีวประวัติตัวเต็ม จากการสันนิษฐานตามชื่อผลงาน[1] พลูทาร์กได้ให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับวัยเยาว์ของมาร์แก็ลลุส วันเกิดที่แท้จริงของเขานั้นไม่เป็นที่ทราบ กระนั้นนักวิชาการก็มั่นใจว่าเขาจะต้องเกิดก่อน 268 ปีก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากเขาได้รับตำแหน่งกงสุลโรมันครั้งที่ห้าและครั้งสุดท้ายเมื่อ 208 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากที่เขามีอายุได้ 60 ปี มาร์แก็ลลุสเป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้ชื่อสกุลมาร์แก็ลลุส ถึงแม้ว่าบันทึกวงศ์ตระกูลของสายครอบครัวของเขานั้นจะสามารถสืบย้อนไปได้จนถึง 331 ปีก่อนคริสต์ศักราช[2] ตามบันทึกของพลูทาร์ก มาร์แก็ลลุสเป็นนักสู้ที่มีทักษะในวัยเยาว์และถูกเลี้ยงดูขึ้นมาเพื่อมารับราชการทหาร[1] การศึกษาโดยทั่วไปของมาร์แก็ลลุสนั้นอาจขาดไป ในวัยเยาว์ มาร์แก็ลลุสมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฐานะนักรบที่ทะเยอทะยาน เป็นที่รู้จักกันดีในทักษะการสู้ประชิดตัว เขายังเป็นที่รู้จักกันว่าช่วยชีวิตออตากิลิอุส (พี่ชายหรือน้องชายของเขา) เมื่อทั้งสองถูกล้อมโดยทหารข้าศึกในอิตาลี[1]

ขณะที่ยังเป็นชายฉกรรจ์ในกองทัพโรมัน มาร์แก็ลลุสได้รับการยกย่องจากผู้บังคับบัญชาในด้านทักษะและความกล้าหาญ จากประวัติการรับราชการที่ดี เมื่อ 226 ปีก่อนคริสต์ศักราช เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งไอดีลิสกูรูลิส (aedilis cvrvlis) ในสาธารณรัฐโรมัน ตำแหน่งไอดีลิสนั้นถือว่าค่อนข้างมีเกียรติสำหรับชายอย่างมาร์แก็ลลุส เนื่องจากไอดีลิสเป็นผู้ดูแลอาคารสาธารณะและงานเทศกาลตลอดจนดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชน ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งแรกที่ชาวโรมันจะได้รับในตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ส่วนตำแหน่งกูรูลิสค่อนข้างแปลกประหลาดเพราะเป็นการแสดงออกซึ่งมีความหมายว่าบุคคลนั้นเป็นชนชั้นพาทริเชียนหรือชนชั้นสูงมากกว่าจะเป็นพลิบีอันหรือสามัญชน มาร์แก็ลลุสได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงจากผู้บังคับบัญชาจนกระทั่งถูกมองว่าเป็นพาทริเชียน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วครอบครัวของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นพลิบีอัน ราว ๆ เวลาที่เขาดำรงตำแหน่งไอดีลิส มาร์แก็ลลุสได้รับตำแหน่งเอากูร์หรือโหรหลวง (avgvr) ซึ่งพลูทาร์กอธิบายว่าเป็นเพราะความสามารถในการแปลความลางบอกเหตุได้[1] เมื่อเขาอายุได้ประมาณ 40 ปี มาร์แก็ลลุสได้กลายมาเป็นทหารและบุคคลสาธารณะที่ได้รับการสรรเสริญ อาชีพช่วงต้นของมาร์แก็ลลุสปิดฉากลงเมื่อ 222 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเวลานั้นเขาได้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากขึ้นจากการเลือกตั้งเป็นกงสุลแห่งสาธารณรัฐโรมัน ตำแหน่งทางการเมืองและทางการทหารที่สูงสุดในสมัยโรมันโบราณ

ชีวิตช่วงกลาง : สปอลิอาออปีมา

[แก้]

หลังจากสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่งซึ่งมาร์แก็ลลุสร่วมรบในฐานะทหาร พวกกอลที่อยู่ทางเหนือได้ประกาศสงครามต่อโรมเมื่อ 225 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในปีที่สี่และปีสุดท้ายของสงคราม มาร์แก็ลลุสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกงสุลหนึ่งในสองที่นั่ง เพื่อนร่วมงานของเขาคือ กงสุลกไนอุส กอร์เนลิอุส สกีปิโอ กัลวุส กงสุลชุดก่อนหน้าได้เอาชนะแคว้นอินซูเบรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่ากอล ไปจนถึงแม่น้ำโป หลังจากความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายนั้น อินซูเบรียถูกล้อม แต่มาร์แก็ลลุสซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นกงสุล โน้มน้าวให้รักษาการกงสุลทั้งสองคนไม่ยอมรับเงื่อนไขสันติภาพนี้ เมื่อมาร์แก็ลลุสและเพื่อนร่วมงานของเขาเข้าทำงานในตำแหน่งกงสุล อินซูเบรียจึงรวบรวมพวกไกซาไตซึ่งเป็นพันธมิตรของกอลจำนวน 30,000 คนเพื่อมาสู้กับโรมัน[2] มาร์แก็ลลุสได้รุกรานอินซูเบรียลึกเข้าไปถึงแม่น้ำโป เช่นเดียวกับที่กงสุลก่อนหน้าเคยประสบความสำเร็จ จากที่นั่น พวกกอลส่งทหาร 10,000 คนข้ามแม่น้ำโปและโจมตีกลัสติดิอูง ป้อมปราการของโรมัน เพื่อเบี่ยงเบนการโจมตีของโรมัน[2] สมรภูมินี้เองที่เป็นเวทีของการเผชิญหน้าระหว่างมาร์แก็ลลุสกับวีรีโดมารุส กษัตริย์กอล ซึ่งเป็นการจารึกชื่อของเขาในประวัติศาสตร์

การเผชิญหน้าตามที่พลูทาร์กเล่านั้นมีรายละเอียดจำนวนมากจนอาจตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องของการบรรยายนี้ พลูทาร์กเล่าว่าก่อนหน้าการรบ วีรีโดมารุสมองเห็นมาร์แก็ลลุสผู้ซึ่งสวมเครื่องหมายผู้บัญชาการบนเกราะ และขี่ม้าออกมาพบกับเขา มาร์แก็ลลุสมองเห็นเกราะที่สวยงามบนหลังของข้าศึกที่กำลังขี่ม้ามุ่งมาทางเขา และสรุปได้ว่านี่เป็นเกราะที่สวยที่สุด ซึ่งเขาเคยสวดอ้อนวอนแก่เทพเจ้าให้ส่งมาแก่เขา จากนั้นทั้งสองคนก็ต่อสู้กัน และหลังจากนั้น มาร์แก็ลลุส "ด้วยการแทงหอกของเขาซึ่งทะลุทะลวงเกราะอกของข้าศึกนั้น และโดยการอัดของม้าของเขาที่วิ่งสุดฝีเท้า ได้เหวี่ยงเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ลงบนพื้น และด้วยโจมตีครั้งที่สองและสาม ข้าศึกก็สิ้นใจลงในทันทีทันใด"[1] มาร์แก็ลลุสปลดชุดเกราะออกจากศัตรูที่สิ้นชีพ ซึ่งเขาเรียกมันว่าสปอลิอาออปีมา คำนี้ซึ่งหมายถึง "ของริบสูงสุด" เป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์โรมันว่าเป็นรางวัลที่เป็นที่เคารพและมีเกียรติสูงสุดที่นายพลสามารถได้รับ มีเพียงนายพลที่สังหารผู้นำของกองทัพฝ่ายตรงข้ามก่อนหน้าการบเท่านั้นที่จะได้รับเกียรติได้รับสปอลิอาออปีมา

หลังจากที่ได้สังหารนักรบที่น่าเกรงขามลงแล้ว ผู้ซึ่งเขาทราบในภายหลังว่าเป็นกษัตริย์ มาร์แก็ลลุสได้อุทิศชุดเกราะนั้น ให้แก่เทพจูปิเตอร์ผู้พิชิตศัตรู ซึ่งเขาได้ให้สัญญาไว้ก่อนหน้าการรบ ในเรื่องนี้มีปัญหาในการบอกเล่าเหตุการณ์ของพลูทาร์ก เมื่อมาร์แก็ลลุสมองเห็นนักรบที่แต่งกายสวยงามที่สุดแล้ว เขาไม่ได้มองว่าผู้นั้นเป็นกษัตริย์ แต่มองว่าเป็นชายที่มีชุดเกราะเช่นนั้น แต่ทันทีหลังจากการรบ มาร์แก็ลลุสได้อธิษฐานต่อเทพจูปิเตอร์ผู้พิชิตศัตรู โดยกล่าวว่าเขาได้สังหารกษัตริย์หรือผู้ปกครอง[3] ความไม่สอดคล้องกันนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าของพลูทาร์กอาจถูกเสริมแต่งขึ้นเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าพลูทาร์กเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อยกย่องมาร์แก็ลลุสในฐานะวีรบุรุษแห่งโรม แทนที่จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์

หลังจากการต่อสู้ระหว่างมาร์แก็ลลุสกับกษัตริย์แห่งกอล ทหารโรมันซึ่งมีจำนวนเหนือกว่าได้ทำลายการล้อมที่กลัสติดิอูง โดยสามารถชนะศึกและดำเนินการผลักดันกองทัพกอลไปจนถึงเมืองหลวงแมดิโอลานูง ที่นั่น พวกโรมันเอาชนะพวกกอล และพวกกอลยอมจำนนต่อโรมันในที่สุด[1] เงื่อนไขสันติภาพระหว่างทั้งสองได้รับการยอมรับและสงครามกอลยุติลง พอลิเบียส นักประวัติศาสตร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช กล่าวว่าความสำเร็จโดยรวมเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของสกีปิโอ เพื่อนร่วมงานของมาร์แก็ลลุส แต่เนื่องจากมาร์แก็ลลุสได้รับสปอลิอาออปีมา มาร์แก็ลลุสจึงได้รับการเฉลิมฉลองมากกว่า หลังจากสงครามกอล ชื่อของมาร์แก็ลลุสเหมือนจะจางหายไปจากประวัติศาสตร์ไปพักหนึ่งจนกระทั่ง 216 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงชีวิตบั้นปลายของเขา

ชีวิตบั้นปลาย : สงครามพิวนิกครั้งที่สอง

[แก้]

มาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุสปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งทั้งในด้านการเมืองและการทหารระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่สอง ซึ่งเขาได้เข้าร่วมรบในยุทธการครั้งสำคัญ ๆ เมื่อ 216 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปีที่สามของสงครามพิวนิกครั้งที่สอง มาร์แก็ลลุสได้รับเลือกตั้งเป็นไปรตอร์ (praetor) อันเป็นตำแหน่งซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับการเลือกตั้งหรือผู้บัญชาการกองทัพ ซึ่งหน้าที่อันหลังนี้เองที่มาร์แก็ลลุสได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ในซิซิลี[2] โชคร้ายที่ระหว่างมาร์แก็ลลุสและคนของเขากำลังเตรียมเรือจะเดินทางไปซิซิลี กองทัพของเขาถูกเรียกตัวกลับไปยังโรมหลังจากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่กันไน นับเป็นหนึ่งในหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรม[4] โดยคำสั่งของสภาซีเนต มาร์แก็ลลุสถูกบีบให้แบ่งทหารจำนวน 1,500 นายกลับไปยังโรมเพื่อป้องกันเมืองหลังจากพ่ายแพ้ให้กับแฮนนิบัลแห่งคาร์เธจ กองทัพที่เหลืออยู่ของเขา ตลอดจนทหารเดนตายที่เหลือรอดมาจากคันนาย มาร์แก็ลลุสตั้งค่ายอยู่ใกล้กับซูเอสซูลา เมืองในแคว้นคัมปาเนียทางตอนใต้ของอิตาลี ในขณะเดียวกัน บางส่วนของกองทัพคาร์เทจเริ่มเคลื่อนทัพมาเพื่อที่จะยึดเมืองโนลา มาร์แก็ลลุสสามารถขับไล่การโจมตีกลับไปและสามารถป้องกันเมืองจากเงื้อมมือของแฮนนิบัลได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าการรบครั้งนี้จะไม่สำคัญนักเมื่อเทียบกับสงครามพิวนิกครั้งที่สองโดยรวม แต่ชัยชนะนั้น "สำคัญต่อผลกระทบด้านขวัญกำลังใจ เป็นการรุกครั้งแรก แม้จะเล็กน้อยมาก ซึ่งแฮนนิบัลไม่ยอมรับ"[2]

จากนั้น เมื่อ 215 ปีก่อนคริสต์ศักราช มาร์แก็ลลุสถูกเรียกตัวไปยังโรมโดยผู้เผด็จการมาร์กุส ยูนิอุส เปรา ผู้ซึ่งต้องการจะปรึกษากับเขาเกี่ยวกับการจัดการสงครามในอนาคต หลังจากการประชุมครั้งนี้ มาร์แก็ลลุสได้รับตำแหน่งโปรกงสุล (proconsvl)[2] ในปีเดียวกัน เมื่อกงสุลลูกิอุส ป็อสตุมิอุส อัลบีนุส ถูกสังหารในการรบ มาร์แก็ลลุสถูกเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์โดยชาวโรมันให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากเขา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกงสุลอีกคนหนึ่งในเวลานั้นเป็นพลิบีอันเช่นเดียวกัน สภาซีเนตจึงไม่อนุญาตให้มาร์แก็ลลุสดำรงตำแหน่งได้ ด้วยเหตุผลที่สภาซีเนตมองว่าการที่พลิบีอันดำรงตำแหน่งกงสุลทั้งสองคนจะเป็นลางร้าย[2] ดังนั้นมาร์แก็ลลุสจึงกลับไปดำรงตำแหน่งโปรกงสุลตามเดิม ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้ป้องกันเมืองโนลาอีกครั้งหนึ่งจากทัพหลังของกองทัพแฮนนิบัล ในปีต่อมา เมื่อ 214 ปีก่อนคริสต์ศักราช มาร์แก็ลลุสได้รับเลือกให้เป็นกงสุลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนร่วมงานของเขาคือ ฟาบิอุส มักซิมุส มาร์แก็ลลุสสามารถป้องกันโนลาได้เป็นครั้งที่สามจากแฮนนิบัลและสามารถยึดครองเมืองกาซิลีนูง ซึ่งมีขนาดเล็กแต่สำคัญได้

ซิซิลีและซีรากูซา

[แก้]

หลังจากชัยชนะที่กาซิลีนูง มาร์แก็ลลุสถูกส่งไปยังซิซิลี ซึ่งแฮนนิบัลได้จับตามอง เมื่อเดินทางมาถึงซิซิลี มาร์แก็ลลุสพบว่าเกาะอยู่ในสภาพสับสนอลหม่าน เฮียรอนิมัส ผู้ปกครองคนใหม่ของราชอาณาจักรซีรากูซาซึ่งเป็นพันธมิตรของโรม เพิ่งสืบราชบัลลังก์ภายหลังการสวรรคตของพระอัยกา (ปู่) และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้แทนของคาร์เธจ ฮิปพอคระทีสและเอพิซิดีส พระองค์ทรงประกาศสงครามต่อโรมันหลังจากชัยชนะของคาร์เธจในยุทธการที่กันไน อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักเฮียรอนิมัสก็ทรงถูกปลดจากราชบัลลังก์ และผู้นำซีรากูซาคนใหม่ต้องการที่จะปรองดองใหม่กับโรม แต่ไม่สามารถขจัดความน่าสงสัยไปได้ จากนั้นซีรากูซาจึงเข้าฝ่ายคาร์เธจ ในปี 214 ก่อนคริสต์ศักราช ปีเดียวกับที่มาร์แก็ลลุสถูกส่งมายังซิซิลี เขาได้รุกรานเมืองแลออนตีนีซึ่งเป็นที่พำนักของผู้ปกครองซีรากูซาสองคน หลังจากการโจมตีเมืองประสบความสำเร็จ มาร์แก็ลลุสได้สั่งการให้ฆ่าทหารโรมันหนีทัพจำนวน 2,000 คนที่หลบซ่อนอยู่ในเมือง ก่อนจะเคลื่อนทัพไปล้อมเมืองซีรากูซาต่อไป เมื่อถึงจุดนี้ หลายเมืองในจังหวัดซิซิลีประกาศก่อกบฏต่อการปกครองของโรมัน การล้อมครั้งนี้กินเวลานานถึงสองปี บางส่วนเป็นเพราะความพยายามของโรมันถูกขัดขวางจากประดิษฐกรรมทางทหารซึ่งสร้างขึ้นโดยอาร์คิมีดีส นักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียง ในขณะเดียวกัน หลังจากสั่งการให้กองทหารโรมันขนาดใหญ่ (ภายใต้การบังคับบัญชาของอัปปิอุส เกลาดิอุส ปุลแคร์) ล้อมซีรากูซาไว้ มาร์แก็ลลุสและกองทัพขนาดเล็กก็เคลื่อนไปทั่วซิซิลี ปราบปรามข้าศึกและเมืองที่ก่อกบฏ เช่น แอโลรุส, แมการาฮือไบลอา, แฮร์แบ็สซุส เป็นต้น

หลังจากที่มาร์แก็ลลุสกลับมาบัญชาการและดำเนินการล้อมต่อไป พวกคาร์เธจพยายามที่จะปลดปล่อยเมืองจากผู้รุกราน แต่ถูกตีกลับไป แม้ว่าจะมีการต้านทานอย่างเหนียวแน่นและประดิษฐกรรมอันชาญฉลาดของอาร์คิมีดีส ทหารโรมันสามารถยึดครองเมืองได้ในที่สุด ในช่วงฤดูร้อน 212 ปีก่อนคริสต์ศักราช พลูทาร์กเขียนไว้ว่า ขณะที่มาร์แก็ลลุสเคยเข้าไปในเมืองก่อนหน้านี้เพื่อประชุมการทูตกับชาวเมืองซีรากูซา ก็พบกับจุดอ่อนในป้อมปราการของฝ่ายตั้งรับ มาร์แก็ลลุสเน้นการโจมตีมายังจุดเปราะบางนี้ในเวลากลางคืนโดยกองทหารขนาดเล็กที่ได้รับการเลือกสรร เพื่อโจมตีกำแพงและเปิดประตูเมือง[2] ระหว่างการโจมตี อาร์คิมีดีสถูกสังหารซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มาร์แก็ลลุสเสียใจ[5] พลูทาร์กเขียนว่า ทหารโรมันอาละวาดไปทั่วทั้งเมือง โดยปล้นสะดมเอาข้าวของและผลงานศิลปะทุกชิ้นที่พบ การกระทำนี้มีความสำคัญเพราะซีรากูซาเคยเป็นเมืองของกรีกที่มีวัฒนธรรม ศิลปะ และสถาปัตยกรรมแบบกรีก เมื่อเมืองถูกปล้น ผลงานศิลปะกรีกจำนวนมากก็ถูกนำไปยังโรม นักวิชาการบางคนกล่าวว่าชัยชนะของมาร์แก็ลลุสมีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างมากเนื่องจากเป็นการนำวัฒนธรรมกรีกเข้าสู่สังคมโรมัน[4]

หลังจากชัยชนะที่ซีรากูซา มาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุสยังคงอยู่ในซิซิลี ที่ซึ่งเขาสามารถเอาชนะข้าศึกคาร์เธจและกบฏได้เพิ่มเติม เมืองอากริแก็นตูงที่มีความสำคัญยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของคาร์เธจแม้ว่าผู้นำคาร์เธจจะไม่สามารถส่งกำลังไปสนับสนุนได้มากนัก เนื่องจากการสงครามกับโรมันในสเปนและอิตาลีมีความสำคัญมากกว่า เมื่อถึงสิ้นปี 211 ปีก่อนคริสต์ศักราช มาร์แก็ลลุสลาออกจากการบังคับบัญชาจังหวัดซิซิลี จากนั้นก็มอบตำแหน่งไปรตอร์ของจังหวัดให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของมาร์กุส กอร์เนลิอุส เมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงโรม มาร์แก็ลลุสไม่ได้รับเกียรติจากชัยชนะที่สมควรแก่ความดีความชอบเท่าใดนัก เนื่องจากศัตรูการเมืองของเขาค้านว่า เขาไม่ได้กำจัดภัยคุกคามในซิซิลีได้อย่างสิ้นเชิง[2]

เสียชีวิตในการรบ

[แก้]

ชีวิตช่วงสุดท้ายของมาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุสนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อการเลือกตั้งเป็นกงสุลโรมันสมัยที่สี่เมื่อ 210 ปีก่อนคริสต์ศักราช การเลือกตั้งของมาร์แก็ลลุสเข้าดำรงตำแหน่งนั้นก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจอย่างมากต่อมาร์แก็ลลุส เนื่องจากข้อกล่าวหาโดยคู่แข่งทางการเมืองที่ว่าการกระทำของเขาในซิซิลีนั้นโหดร้ายอย่างมาก[2] ตัวแทนจากนครซิซิลีได้มาร้องเรียนยังวุฒิสภาเกี่ยวกับการกระทำในอดีตของมาร์แก็ลลุส คำร้องทุกข์นี้ทำให้มาร์แก็ลลุสถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนการควบคุมดินแดนให้แก่เพื่อนร่วมงานแทน เพื่อที่ว่ามาร์แก็ลลุสจะได้ไม่เป็นกงสุลที่ควบคุมซิซิลี ซึงในการเปลี่ยนอำนาจปกครองนั้น มาร์แก็ลลุสได้เข้าบัญชาการกองทัพโรมันในอาปูลิอา[2]

ในระหว่างที่บังคับบัญชากองทัพแคว้นอาปูลิอานั้น มาร์แก็ลลุสได้นำกองทัพไปสู่ชัยชนะเด็ดขาดหลายครั้งเหนือพวกคาร์เธจ โดยครั้งแรก มาร์แก็ลลุสเข้ายึดเมืองซาลาปิอา จากนั้นจึงเคลื่อนทัพต่อไปและยึดเมืองอีกสองเมืองทางภาคกลางของอิตาลี ต่อมา เมื่อกองทัพของกงสุลฟุลวิอุส นายพลอีกคนหนึ่งของโรมัน ถูกทำลายลงอย่างราบคาบโดยแฮนนิบัล มาร์แก็ลลุสและกองทัพของเขาได้ก้าวเข้ามาเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการทำสงครามกับผู้นำคาร์เธจ จากนั้นมาร์แก็ลลุสและแฮนนิบัลได้สู้รบกันที่นุมิสโตรที่ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าโรมจะเป็นฝ่ายอ้างชัยชนะก็ตาม หลังจากยุทธการครั้งนี้ มาร์แก็ลลุสยังคงติดตามแฮนนิบัลต่อไป แต่กองทัพทั้งสองก็ไม่เคยเผชิญหน้ากันเพื่อรบอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด

209 ปีก่อนคริสต์ศักราช มาร์แก็ลลุสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโปรกงสุลและกลับมาบัญชาการกองทัพของเขาอีกครั้งหนึ่ง ในปีเดียวกันนั้นกองทัพโรมันภายใต้บังคับบัญชาของมาร์แก็ลลุสเผชิญกับกองทัพของแฮนนิบัลหลายครั้งในรูปแบบของการปะทะและการโจมตีอย่างไม่เปิดเผย มาร์แก็ลลุสกล่าวป้องกันการกระทำและยุทธวิธีของเขาต่อหน้าวุฒิสภาและเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกงสุลเป็นสมัยที่ห้าเมื่อ 208 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากนั้น มาร์แก็ลลุสกลับเข้าสู่สนามรบอีกครั้งและเข้าบัญชาการกองทัพที่แวนุซิอา ระหว่างภารกิจออกลาดตระเวนครั้งหนึ่งพร้อมกับติตุส กวิงก์ติอุส กริสปีนุส เพื่อนร่วมงานของเขา และทหารม้าขนาดเล็ก 220 นาย[1][2] ทหารกลุ่มดังกล่าวถูกซุ่มโจมตีและเกือบจะถูกสังหารทั้งหมดโดยกองทัพทหารม้านูมิเดียของคาร์เธจที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มาร์แก็ลลุสถูกแทงด้วยหอกและเสียชีวิตในสนามรบ[2] ในอีกไม่กี่วันถัดมา กริสปีนุสก็เสียชีวิตลงด้วยพิษบาดแผล

เมื่อ 23 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิเอากุสตุสเล่าว่าแฮนนิบัลได้อนุญาตให้จัดงานศพมาร์แก็ลลุสอย่างเหมาะสมและถึงกับส่งเถ้ากระดูกกลับมาให้บุตรชายของมาร์แก็ลลุส[1] การสูญเสียกงสุลไปทีเดียวสองคนทำให้ขวัญกำลังใจของชาวโรมันตกต่ำลงไปมาก สาธารณรัฐได้สูญเสียผู้บัญชาการทหารอาวุโสไปถึงสองคน ขณะที่กองทัพคาร์เธจในอิตาลียังคงมีขนาดใหญ่

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

[แก้]

มาร์แก็ลลุสเป็นนายพลคนสำคัญระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่สองและการได้รับเลือกตั้งเป็นกงสุลถึงห้าสมัย ทำให้เขาถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์โรมัน ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของเขาในซิซิลี การทัพของเขาในอิตาลีทำให้แฮนนิบัลต้องหยุดชะงักและฟื้นฟูกำลังของวุฒิสภาโรมัน แต่ชัยชนะของมาร์แก็ลลุสในฐานะนักรบและผู้ได้รับสปอลิอาออปีมาที่ทำให้เขาถูกจดจำในประวัติศาสตร์โรมันโบราณ จึงเป็นการเหมาะสมที่เขาจะกลายเป็นที่รู้จักกันว่า "ดาบแห่งโรม"[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Plutarch "Life of Marcellus", The Parallel Lives, 30 Apr. 2008, 26 Nov. 2008.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 Smith, William, Sir, ed. "M. Claudius M. F M. N. Marcellus", A Dictionary of Greek and Roman Biography and Mythology (Boston: Little, 1867) 927; Plutarch "The Life of Marcellus", The Parallel Lives, 30 Apr. 2008, 26 Nov. 2008
  3. Flower, Harriet I. "The Tradition of the Spolia Opima: M. Claudius Marcellus and Augustus", Classical Antiquity, Apr. 2000: 37.
  4. 4.0 4.1 Lendering, Jona. "Marcus Claudius Marcellus", Livius: Articles on Ancient History, 26 Nov. 2008.
  5. Rorres, Chris. "Death of Archimedes: Sources". Courant Institute of Mathematical Sciences. สืบค้นเมื่อ 2010-09-28.
  6. Marcellus By Plutarch[ลิงก์เสีย]