ข้ามไปเนื้อหา

หม่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มัลเบอร์รี)
หม่อน
ผลและใบหม่อน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไฟลัม: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Rosales
วงศ์: Moraceae
สกุล: Morus
L.

ดูในบทความ

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (อังกฤษ: mulberry) ภาคอีสานเรียก มอน ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก เก้ซิวเอียะ เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติชนิดเดียวของหนอนไหม และเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปริมาณผลผลิตและคุณภาพรังไหมจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพใบหม่อน หม่อนเป็นพืชที่มีอายุนาน 80-100 ปี ถ้าไม่ได้รับความกระทบกระเทือน จากการเก็บเกี่ยวหรือโรค แมลงศัตรู สามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นถึงเขตร้อน หม่อนที่เกิดในเขตอากาศหนาว จะหยุดพักไม่เจริญเติบโต นับตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ผลหม่อนสามารถรับประทานได้ สารสกัดด้วยเมทานอลจากกากหม่อนที่เหลือจากการทำน้ำผลไม้มีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

หม่อนเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านไม่มากนัก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบสากคาย ก้านใบเล็กเรียว ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปแถบแคบปลายแหลม ยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกช่อ รูปทรงกระบอกออกที่ซอกใบ และปลายยอด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างช่อกัน วงกลีบรวมสีขาวหม่น หรือสีขาวแกมเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง เกสรเพศเมีย วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว

สรรพคุณ

[แก้]

ยาพื้นบ้าน ใช้ ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง ใบแก่ ตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก ใบ แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะฝ้าฟาง ใบ ใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ราก ขับพยาธิ และเป็นยาสมาน ตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง ยานี้จะมีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจ และการมีน้ำสะสมในร่างกายผิดปกติ ใช้แก้โรคความดันโลหิตสูง แขนขาหมดความรู้สึก กิ่งอ่อน ใบอ่อน แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ใบ น้ำต้มและยาชง มีฤทธิ์เป็นยาชะล้าง ใช้ล้างตาแก้ตาอักเสบ ใบอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไอ ยาหล่อลื่นภายนอก น้ำต้มใบใช้กลั้วคอแก้เจ็บคอ ใช้ล้างตา แก้อาการติดเชื้อ ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอก รักษาแผลจากการนอนกดทับ ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น ต้มน้ำหรือเชื่อมกิน เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้โรคปวดข้อ ใช้แก้โรคได้เช่นเดียวกับเปลือกราก ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น เมล็ด ใช้เพิ่มกากใยอาหาร เปลือก เป็นยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ

ในประเทศจีนใช้ เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะแก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ

องค์ประกอบทางเคมี

[แก้]

ใบ มี carotene, succinic acid, adenine, choline, วิตามินซี ผล มี citric acid, วิตามินซี เนื้อไม้ มี morin ลำต้น มี steroidal sapogenin เปลือก มี α-amyrin

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศุทธินี ลีลาเหมรัตน์ และศศิธร ตรงจิตภักดี. 2554. องค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของกากลูกหม่อน. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 49 1-4 ก.พ. 2554 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 548-555

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Morus (Moraceae) ที่วิกิสปีชีส์