ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ | |
---|---|
ชื่อท้องถิ่น | 藤子・F・不二雄 |
เกิด | ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (藤本 弘) 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ทากาโอกะ จังหวัดโทยามะ จักรวรรดิญี่ปุ่น[1] |
เสียชีวิต | 23 กันยายน พ.ศ. 2539 (62 ปี)[1][2] [3] ชินจูกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น [4] |
ที่ฝังศพ | สุสานมิโดริงาโอกะ เขตทากัตสึ จังหวัดคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น[5] |
อาชีพ | นักเขียนการ์ตูน |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
ผลงานที่สำคัญ | โดราเอมอน นินจาฮาโตริ ปาร์แมน ผีน้อยคิวทาโร่ ดูรายชื่อผลงาน |
รางวัลสำคัญ | รางวัลมังงะโชงากูกัง (ค.ศ. 1963, ค.ศ. 1982) รางวัลวัฒนธรรมเทซูกะ โอซามุ (ค.ศ. 1997) |
ช่วงปีที่ทำงาน | ค.ศ. 1951–1996 |
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ | |
---|---|
ชื่อท้องถิ่น | 藤子不二雄Ⓐ |
เกิด | มาโตโอะ อาบิโกะ (安孫子 素雄) 10 มีนาคม พ.ศ. 2477 ฮิมิ จังหวัดโทยามะ, จักรวรรดิญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 7 เมษายน พ.ศ. 2565 (88 ปี) คาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น |
นามปากกา | Fujiko Fujio Ⓐ |
อาชีพ | นักเขียนการ์ตูน |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
ผลงานที่สำคัญ | โดราเอมอน นินจาฮาโตริ The Monster Kid ผีน้อยคิวทาโร่ ดูรายชื่อผลงาน |
รางวัลสำคัญ | รางวัลมังงะโชงากูกัง (ค.ศ. 1963, ค.ศ. 1982) |
ช่วงปีที่ทำงาน | ค.ศ. 1951–2022 |
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (ญี่ปุ่น: 藤子 不二雄; โรมาจิ: Fujiko Fujio) (1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 23 กันยายน พ.ศ. 2539) เป็นนามปากกา ของคู่นักวาดการ์ตูนได้แก่
- ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ (ญี่ปุ่น: 藤本 弘; โรมาจิ: Fujimoto Hiroshi; 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 23 กันยายน พ.ศ. 2539) และ
- อาบิโกะ โมโตโอะ (ญี่ปุ่น: 安孫子 素雄; โรมาจิ: Abiko Motoo; 10 มีนาคม พ.ศ. 2477 - 7 เมษายน พ.ศ. 2565)
มีผลงานมากมาย โดยมีเรื่องที่โด่งดังคือโดราเอมอน เมื่อปี พ.ศ. 2530 ทั้งสองได้แยกกันโดยใช้ชื่อ นามปากกาใหม่ว่า ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ และ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ
ประวัติ
[แก้]ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ และ อาบิโกะ โมโตโอะ ทั้งคู่ต่างก็เกิดในจังหวัดโทยามะ ที่ประเทศญี่ปุ่น ฮิโรชิได้มีโอกาสรู้จักกับอาบิโกะ ตอนที่อาบิโกะย้ายเข้ามาโรงเรียนประถมโจซูกะ ประจำ ในเมืองทากาโอกะ[6] และได้มาเรียนห้องเดียวกันกับฮิโรชิ ขณะเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยความที่ทั้งคู่ต่างก็ชอบในการวาดเขียนการ์ตูน และรู้สึกชื่นชอบหนังสือการ์ตูนเรื่อง เกาะมหาสมบัติ ภาคใหม่[6]ผลงานของเทซูกะ โอซามุเป็นอย่างมาก ถึงขนาดส่งจดหมายแฟนคลับไปถึงเทซูกะ ในระหว่างที่ทั้งสองคนร่ำเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น ก็ได้เริ่มออกนิตยสารการ์ตูนทำมือขึ้น ชื่อ "RING" [6]ต่อมาช่วงก่อนที่จะจบมัธยมศึกษา เขาทั้งสองก็เริ่มวาดการ์ตูนส่งไปตามคอลัมน์สำหรับผู้อ่านทางบ้านในหลายสำนักพิมพ์ และได้เปิดตัวครั้งแรกเรื่อง นางฟ้าทามะจัง (Tenshi no Tama-chan) ลงตีพิมพ์เป็นประจำในนิตยสาร "ไมนิจิ โชกักเซ" ซึ่งครั้งนั้นเขาทั้งสองก็ได้รับเงินค่าจ้างอีกด้วย หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมบ้านของเทซูกะในเมืองทาการาซูกะ จังหวัดเฮียวโงะ การเยี่ยมบ้านในครั้งนั้นได้จุดประกายในการเขียนการ์ตูนของทั้งสองเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุที่ว่าทั้งสองเป็นลูกชายคนโต ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ต้องรีบหางานทำหลังจากจบมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ. 2495 ฮิโรชิได้เข้าไปทำงานในโรงงานลูกกวาด ส่วนอาบิโกะก็เข้าไปทำงานในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ภายหลังเนื่องจากฮิโรชิได้รับอุบัติเหตุระหว่างทำงาน จึงลาออกจากงานประจำและตัดสินใจเขียนการ์ตูนอย่างจริงจังอยู่ที่บ้าน โดยมีอาบิโกะคอยมาช่วยเหลืออยู่ตลอดหลังจากเวลาว่างหลังเลิกงาน และในปี พ.ศ. 2496 ทั้งคู่ก็ได้ออกการ์ตูนเรื่อง ล่องลอย 4 หมื่นปี ลงใน"โบเก็นโอ" [6]และมีผลงานการ์ตูนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกในนามปากการ่วมกันว่า "อาชิซึกะ ฟูจิโอะ" เรื่อง สงครามโลกครั้งสุดท้าย (ญี่ปุ่น: UTOPIA—最後の世界大戦; โรมาจิ: Utopia: The Last World War) ในปีต่อมา พ.ศ. 2497 ทั้งคู่ได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่โตเกียว เพื่อจะเป็นนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว เมื่อย้ายมาอยู่ที่ห้องเช่าเล็ก ๆ ที่เรียวโกกุ แขวงซูมิดะ กรุงโตเกียวได้สักระยะหนึ่ง ฮิโรชิก็เกิดป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงยากต่อการรักษา แต่สุดท้ายแล้ว ฮิโรชิก็สามารถหายจากอาการป่วยได้ หลังจากนั้นทั้งคู่ได้รับความช่วยเหลือจากเทซูกะในการจัดหาห้องเช่าให้แถวโทกิวะ ในแขวงโทชิมะ กรุงโตเกียว ซึ่งบ้านเช่าแห่งนี้มีนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่หลายคนอาศัยอยู่ จึงมีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า บ้านการ์ตูน และได้จัดตั้งชมรมการ์ตูนยุคใหม่ขึ้น (ญี่ปุ่น: 新漫画党; โรมาจิ: Shin Manga-to) ทั้งคู่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนนามปากกาเป็น "ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ" และมีผลงานออกมาเรื่อง สายแร่อวกาศ
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้เขียนการ์ตูนส่งไปยังสำนักพิมพ์เรื่อยมา และเริ่มที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น แต่ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2498 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2499 ทั้งคู่ต้องพักงานเนื่องจากเมื่อตอนกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดโทยามะช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการฉลองกันหนักเกินไปจนทำให้เสียงาน ไม่สามารถส่งต้นฉบับการ์ตูนได้ทันตามกำหนด ความน่าเชื่อถือของทั้งคู่ลดลงไปในช่วงเวลานั้น ต่อมาทั้งสองคนจึงได้ตัดสินใจลงทุนจัดตั้งบริษัท "สตูดิโอซีโร" ขึ้นโดยได้เพื่อนเก่าอย่าง ซูซูกิ ชินอิจิ, อิจิโนโมริ โชตาโร ,สึโนดะ จิโร และสึโนดะ คิโยอิจิ ซึ่งเป็นเพื่อนจากกลุ่มนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้านการ์ตูนมาเป็นทีมงาน
หลังจากก่อตั้งสตูดิโอก็มีผลงานทำภาพยนตร์เรื่องยาวให้กับเรื่อง เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) สตูดิโอก็มีผลงานเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2505 ฮิโรชิได้แต่งงานเมื่ออายุ 28 ปี และในปีถัดไปก็ได้รับรางวัลโชกักคังครั้งที่ 8 จากเรื่อง โรบ็อตลุย และเท็ตจังถุงมือ จนในปี พ.ศ. 2507 ผลงานในนาม ฟูจิโกะ ฟูจิโอกะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนับจากเริ่มวาดการ์ตูน ด้วยการ์ตูนเรื่อง ผีน้อยคิวทาโร่ (Qtaro the Ghost) ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูน "โชเน็นซันเดย์" [6]มีคนติดตามโดยเฉพาะเด็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้คิวทาโร่ได้ผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันจัดฉายทางโทรทัศน์ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก และสตูดิโอซีโร ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจากทีมงานเริ่มต้นเพียง 7 - 8 คน ก็เพิ่มมาเป็น 80 คน ได้มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นไคบุซึ (Kaibutsu-kun), นินจาฮัตโตริ (Hattori the Ninja), ปาร์แมน (Pāman), 21 เอมอน (21-emon) และเจ้าชายจอมเปิ่น เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2509 อาบิโกะเข้าพิธีแต่งงานเมื่ออายุได้ 32 ปี ทว่าก็ต้องพบกับความไม่สมหวังในด้านการงาน สตูดิโอซีโรต้องปิดตัวลงเนื่องจาก เนื่องจากปัญหาทางด้านการเงินโดยมีผลงานเรื่องสุดท้ายคือ เจ้าชายจอมเปิ่น หรือ เจ้าชายลูกบ๊วย แต่ฮิโรชิไม่ได้ท้อแท้กับการปิดตัวลง กลับมองว่าแม้ต้องปิดตัวลงแต่เขาก็ได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย และทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ก็ต้องจบลงที่ศูนย์ตามชื่อของสตูดิโอ ซึ่งซีโร แปลได้ว่า "ศูนย์" (นิตยสาร aday, 2545)
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดในชีวิตของเขาทั้งสองคือเรื่อง โดราเอมอน ลงในโชกากุอิจิเน็นเซ-โยเน็นเซ โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้อ่านวัยเด็ก ในช่วงแรกนั้นโดราเอมอนยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ต่อมาใน 3 ปีให้หลัง โดราเอมอนได้ผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันฉายทางโทรทัศน์ ซึ่งทำให้ได้รับความสนใจและนิยมไปอย่างแพร่หลาย ทำให้ฮิโรชิได้รับรางวัล Nihon Mangaka จากผลงานโดราเอมอน ในปี พ.ศ. 2516 ส่วนอาบิโกะที่มุ่งออกผลงานสำหรับวัยรุ่นก็ได้มีผลงานเอง Black Salesman (ภายหลังเปลี่ยนเป็น Warau Salesman) อัตชีวประวัติ Manga-michi
ในปี พ.ศ. 2530 ทั้งคู่ถึงจุดอิ่มตัวในวัย 54 ปีจึงได้ตัดสินใจแยกกันใช้นามปากกาจาก "ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ" สำหรับฮิโรชิเป็น "ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ" ส่วนของอาบิโกะเป็น "ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ" เพื่อแยกตัวทำผลงานของตัวเอง ฮิโรชิได้เขียนการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอนต่อเรื่อยมา โดยเขาจะเป็นผู้วาดและแต่งเรื่องโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ เป็นประจำทุกปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2539 ฮิโรชิก็ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยวัย 62 ปี ส่วนอาบิโกะมีผลงานเรื่องนินจาฮัตโตริ และโปรกอล์ฟซารุจัดฉายในโรงภาพยนตร์
ลำดับเวลา
[แก้]- ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (藤子・F・不二雄, 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 23 กันยายน พ.ศ. 2539)
- พ.ศ. 2516 - รางวัลนักวาดการ์ตูนยอดเยี่ยมจากชมรมนักวาดการ์ตูนแห่งประเทศญี่ปุ่น จากเรื่อง โดราเอมอน (日本漫画家協会優秀賞)
- พ.ศ. 2524 - รางวัลวัฒนธรรมประจำนครคาวาซากิ (川崎市文化賞)
- พ.ศ. 2525 - รางวัลหนังสือการ์ตูนเด็กโชกาคุคันจากเรื่องโดราเอมอน (小学館漫画賞児童部門)
- พ.ศ. 2535 - รางวัลนักวาดการ์ตูนจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (日本漫画家協会文部大臣賞)
- พ.ศ. 2541 - คนแรกที่ได้รับ รางวัลเทซึกะโอซามุมังงะ สำหรับเรื่อง โดราเอมอน (第1回手塚治虫文化賞マンガ大賞)
ผลงาน
[แก้]บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
ผลงานของฮิโรชิ และอาบิโกะมีไม่น้อยกว่า 29 เรื่องด้วยกัน บางเรื่องได้รับการตีพิมพ์เป็นฉบับรวมเล่ม ส่วนบางเรื่องนั้นอาจจะตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูน โดยอาจจะแบ่งตามนามปากกา (ไม่ครบทุกเรื่อง) ได้ดังนี้
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
[แก้]- ผีน้อยคิวทาโร่ (1964-1969, 1971-1974; ghost Q-taro; オバケのQ太郎)
- ปาร์แมน (1966-1968; パーマン)
ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ
[แก้]- ปาร์แมน (1983-1986; パーマン)
- 21 เอมอน (1968-1969, 1981; the 21st-generation boy; 21エモン)
- โมจาโกะ (1969-1970; Prince Moja; モジャ公)
- เจ้าชายจอมเปิ่น (1969; the Ume Planet prince; ウメ星デンカ)
- โมจาโมจาลุยจักรวาล
- โดราเอมอน (1970-1996; Doraemon; ドラえもん)
- ตุ๊กตาอลเวง
- นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว (1974-1977; キテレツ大百科)
- ฝาแฝดสลับยุค
- โปโกะ
- มามิ สาวน้อยมหัศจรรย์ (1977-1982; エスパー魔美)
- ตำรวจกาลเวลา
- จิมปุย (1985, 1987-1988; チンプイ)
- ไคบุซึ ผีน้อยจอมมายา
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ
[แก้]- นินจาฮาโตริ (1964-1968, 1981-1988; 忍者ハットリくん)
- ไคบุตสึ (1965-1969, 1980-1982; 1972; 怪物くん)
- ฟูตะ ลูกจ้างยอดอัจฉริยะ (1968-1971, 1989-1996; smiling salesman; 笑ゥせえるすまん)
- เฮนดายูแห่งเมืองมาโบโร่ (1970-1972, 1977-1982, 1986; 1986-1988; 1989-1990, 1995 - ; the road to a comic artist;まんが道)
- เฮนเบะ กับร่มวิเศษ (1972-1975; Mataro is coming;魔太郎がくる!!)
- มิราเคิล วัน (1974-1980; 1982-1988; 1989; 1999 - ; プロゴルファー猿)
- ป๊ะป๋าซุปเปอร์แมน (1976-1977; Henkiro's Shadow Company; シャドウ商会変奇郎)
- ท็อปปี้ ยอดสุนัขอวกาศ (1978-1979; the boyhood; 少年時代)
- กัปตันบอง
- จูโปโกะ
- กล้องมหัศจรรย์
- เจ้าป่าคุโรเบ้
- บีลีเก้น
- โดบินสันผจญภัย
- อุลตร้าบี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 まんがseek・日外アソシエーツ共著『漫画家人名事典』日外アソシエーツ、2003年2月25日初版発行、ISBN 4-8169-1760-8、323–24頁
- ↑ "Doraemon Creator Dies". IGN. June 21, 2012. สืบค้นเมื่อ January 10, 2021.
- ↑ "'Doraemon' Cartoonist Fujio F. Fujiko Dies at 62". Associated Press.
- ↑ "Fujio F. Fujiko, Cartoonist, 62". The New York Times. September 24, 1996.
- ↑ "Doraemon's Grave". Thumbnail of Life. July 17, 2010. สืบค้นเมื่อ January 10, 2021.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-11. สืบค้นเมื่อ 2006-12-17.
- สมประสงค์ เจียมบุญสม, นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18, กุมภาพันธ์ 2545, หน้า 64
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติฟูจิโอะ ฟูจิโกะ - โดย kartoon-discovery.com
- ตามรอย 30 ผลงานการ์ตูนของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ โดยคุณ Patsy+
- ประวัติฟูจิโอะ ฟูจิโกะโดยย่อ เก็บถาวร 2008-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โดราเอมอนแชนเนล เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของฟูจิโกะโปร (ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ) (ญี่ปุ่น)
- รายละเอียดผลงานแต่ละเรื่องของฟูจิโอะ ฟูจิโกะ