ข้ามไปเนื้อหา

ฟอร์ด เฟียสตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟอร์ด เฟียสต้า)
ฟอร์ด เฟียสตา
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตฟอร์ด
เริ่มผลิตเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2519 – 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
(20 ล้านคัน; ทั่วโลก)
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก
รูปแบบตัวถัง3-ประตู hatchback
5-ประตู hatchback
4-ประตู sedan/saloon (บางประเทศ, เฉพาะ Mk4-Mk6)
3-ประตู van (เฉพาะทวีปยุโรป)
โครงสร้างเครื่องวางหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า
ระยะเหตุการณ์
รุ่นต่อไปFord Puma (crossover) (ไฟฟ้า; ในทางอ้อม)

ฟอร์ด เฟียสตา (อังกฤษ: Ford Fiesta) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) ที่ผลิตและจำหน่ายโดย ฟอร์ดมอเตอร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และส่งขายไปตามที่ต่างๆ โดยมีตลาดรองรับอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงอเมริกา

ประวัติ

[แก้]

เดิมทีนั้น ชาวยุโรปนิยมชมชอบในรถนาดใหญ่ หรูหรา ราคาแพง แต่ในช่วงต้น คริสต์ทศวรรษ 1970 ชาวยุโรป เริ่มหันมาสนใจรถขนาดเล็กกันมากขึ้น โดยในช่วงนั้น หลายค่ายที่มีการออกแบบรถขนาดกะทัดรัดไว้แล้ว ก็สามารถหยิบยกมาประชาสัมพันธ์ได้ทันที แต่สำหรับฟอร์ด รถที่เล็กที่สุดในขณะนั้น คือ ฟอร์ด เอสคอร์ต (อังกฤษ: Ford Escort) ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ยังไม่เข้ากับค่านิยมในรถขนาดเล็กสักเท่าใดนัก ประกอบกับใน พ.ศ. 2516 เกิดวิกฤติราคาน้ำมันแพงขึ้นรอบหนึ่ง (ราคาพุ่งจาก 3 จนถึง 13 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล แพงขึ้น 4 เท่าในครึ่งปี) ยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนหันมาซื้อรถขนาดเล็กกันมากขึ้น ฟอร์ดจึงต้องรีบพัฒนารถรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อชูเป็นจุดขาย

ทีมพัฒนาของฟอร์ดได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในยุโรปและอเมริกา ถึงความชอบเรื่องรถ เพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนารถต้นแบบ จนเมื่อรถต้นแบบสำเร็จ ก็ถึงขั้นตอนการเลือกชื่อที่เหมาะสมที่จะตั้งชื่อเป็นชื่อรถ ซึ่งช่วงแรก ทีมนักพัฒนาและพนักงานฟอร์ดส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกให้รถต้นแบบรุ่นใหม่มีชื่อว่า ฟอร์ด บราโว (อังกฤษ: Ford Bravo) แต่ เฮนรี ฟอร์ดที่ 2 (อังกฤษ: Henry Ford II) ประธานบริษัท ฟอร์ดมอเตอร์ ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจให้รถรุ่นใหม่มีชื่อว่า ฟอร์ด เฟียสตา ตามความชื่นชอบส่วนตัวของเขา

ฟอร์ด เฟียสตา เริ่มสายการผลิตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2519 โดยเริ่มขายในประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนี แล้วจึงขยายตลาดไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

ฟอร์ด เฟียสตา มีวิวัฒนาการตามช่วงเวลาแบ่งได้ 7 รุ่น ดังนี้

รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2519 - 2526)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 1

ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นแรก มีความแตกต่างจากรถ Subcompact รุ่นอื่นๆ ในยุคนั้น ตรงที่การออกแบบนั้นได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เสมือนจริงมาช่วยในการออกแบบ รวมทั้งมีนวัตกรรมที่ทันสมัยและภายในหรูหรากว่ารถ Subcompact รุ่นอื่นๆ (สมัยนั้น อุปกรณ์เสริมความหรูหรามักติดตั้งในรถขนาดใหญ่ ราคาแพง เกรดสูงๆ ไม่ใช่รถ Subcompact) เช่น กระจกนิรภัย, เข็มขัดนิรภัยดึงกลับอัตโนมัติแบบปรับระดับสูง-ต่ำได้ และอุปกรณ์ไล่ฝ้าที่กระจกหลัง, มูนรูฟ (หน้าต่างบนหลังคา เปิดดูดาวได้) ฯลฯ ซึ่งส่วนมากในยุคนั้นอุปกรณ์ประเภทนี้จะมีในรถขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งความทันสมัยดังกล่าวได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเฟียสตาเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้การออกแบบโดยใช้โปรแกรมช่วย ทำให้สามารถออกแบบรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานเพียง 0.42 (ต่ำมากเมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นๆ ในยุคเดียวกัน) ทำให้รถลู่ลม ไม่ต้านลม เครื่องยนต์จึงทำงานเบาลง ส่งผลให้เครื่องยนต์ใช้น้ำมันน้อยลง และยังช่วยให้อัตราเร่งดีขึ้นด้วย โดยเครื่องยนต์รุ่นมาตรฐาน(ลูกสูบเล็กที่สุด) เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 957 ซีซี ให้กำลัง 40 แรงม้า มีอัตราการใช้น้ำมันอยู่ที่ 17.8 กิโลเมตร/ลิตร (ประหยัดมาก แม้เมื่อเทียบกับรถสมัยใหม่) ส่วนเครื่องยนต์ที่ให้แรงมากกว่า ก็จะนิยมรุ่น 1298 ซีซี ให้กำลัง 66 แรงม้า มีอัตราการใช้น้ำมันอยู่ที่ 16.1 กิโลเมตร/ลิตร

ใน พ.ศ. 2522 เป็นเวลาเพียง 3 ปี ฟอร์ด เฟียสตา สามารถทำยอดขายสะสมได้ครบ 1 ล้านคัน และครบอีก 1ล้าน รวมเป็น 2 ล้านคันในปี 2524 เป็นยอดขายที่เร็วมาก

รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2526 - 2532)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 2

เฟียสตารุ่นที่ 2 มีจุดเด่นคือเครื่องยนต์(เฉพาะเครื่อง 1298 ซีซี) สามารถรองรับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และมีระบบเกียร์อัตโนมัติแบบอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือ CVT (รถญี่ปุ่นอื่นๆ เปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT เมื่อประมาณ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา) ส่วนภาพรวมอื่นๆ คือ เครื่องยนต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ให้กำลังน้อยลงเล็กน้อย

แต่ที่แปลกประหลาดและเรียกความสนใจของเฟียสตาที่เป็นที่กล่าวถึงกันมาก คือ หน้าปัทม์รถ ที่มีรูปร่างประหลาด ปกติ หน้าปัทม์รถแบบทั่วไป เข็มวัดทุกเข็มจะอยู่รวมกันในเบ้าใหญ่เบ้าเดียว แต่เฟียสตารุ่นที่ 2 ในต่างประเทศ เกจ์วัดแต่ละเกจจะอยู่ในเบ้าเล็กๆ เกจ์ละเบ้า ไม่ได้อยู่รวมกัน

รุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2532 - 2540)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 3

เฟียสตารุ่นที่ 3 มีการผลิตรถแฮทช์แบคแบบ 5 ประตูเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้มักจะมีแต่แบบ 3 ประตู) เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ก่อนการเปิดตัว 2 เดือน ต้นแบบรถเฟียสตารุ่นที่ 3 จำนวน 250 คัน ได้ถูกส่งมอบไปให้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท เพื่อเข้าสู่กระบวนการทดสอบรถบนการใช้งานจริง โดยเฟียสตาใหม่ มีระบบควบคุมการหยุด (อังกฤษ: Stop Control System-SCS) และระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (อังกฤษ: Anti-lock Breaking System-ABS) ทำให้มีความน่าเชื่อถือในการใช้งาน

ภายในปีแรกหลังการเปิดตัว ฟอร์ดสามารถขายเฟียสตาใหม่ได้ถึง 500,000 คัน และในปีที่สองมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 649,781 คัน และนอกจากนี้ ยังมีการเสริมระบบความปลอดภัย เช่น เปลี่ยนวัสดุที่บุพวงมาลัยให้สามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดีขึ้น เพื่อลดการบาดเจ็บจากการที่ศีรษะกระแทกพวงมาลัยหากรถชน, ติดตั้งถุงลมนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน, ตัวถังที่แข็งแรงขึ้นเพื่อป้องกันการกระแทกจากด้านข้าง, เข็มขัดนิรภัยที่มีระบบดึงกลับและปรับความตึงอัตโนมัติ, เบาะคู่หน้าแบบป้องกันการลื่นไถล, ปุ่มฉุกเฉิน กดเพื่อตัดการจ่ายเชื้อเพลิงออกจากถังในทันทีในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่อาจมีเชื้อเพลิงรั่วไหล ดังนั้น ถึงแม้เฟียสตาอาจมีความปลอดภัยต่ำกว่ารถรุ่นอื่นๆ เป็นบางรุ่น ก็เป็นธรรมดาของรถขนาดเล็กที่มีความสามารถในการปกป้องผู้โดยสารต่ำกว่ารถใหญ่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับรถขนาดเดียวกันแล้ว ถือว่า "ปลอดภัยไร้เทียมทาน"

นอกจากนี้ เฟียสตารุ่น 3 ยังสามารถกวาดรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ ได้มากมาย เช่น รางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1989 จากนิตยสาร What Car?, รางวัลรถขนาดกะทัดรัดยอดเยี่ยมจากการโหวตของผู้ว่านนิตยสาร Auto, Motor und Sport, รางวัลรถซิตี้คาร์ยอดเยี่ยมจากนิตยสาร Neue Revue, รางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมอันดับ 3 ของยุโรปประจำปี 1990 (อังกฤษ: European Car of the Year)

รุ่นที่ 4 (พ.ศ. 2538 - 2545)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 4

เฟียสตารุ่นที่ 4 ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความโค้งมนรอบขึ้น เหลี่ยมมุมต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยลายเส้นโค้ง ทำให้ลู่ลมได้ดีขึ้น ช่องระบายอากาศด้านล่างถูกเปลี่ยนใหม่, มีแผงไฟขนาดใหญ่ขึ้น, ระบบกันสะเทือนด้านหน้าออกแบบใหม่โดยใช้เหล็กเสริมกันโครง, และด้านหลังมีการออกแบบคานบิดใหม่และติดตั้งระบบควบคุมการยึดเกาะ Traction Control เพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัว, มีการติดตั้งระบบเบรกแบบ ABS 4 Channel, เครื่องยนต์ใหม่ ประหยัดน้ำมันและปล่อยไอเสียในระดับต่ำ จนได้รางวัล รถยนต์สีเขียว

ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 4 เป็นรถที่มียอดขายสูงที่สุดในสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน และมีภาพรวมเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ขายดีที่สุดในยุโรป

รุ่นที่ 5 (พ.ศ. 2545 - 2551)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 5

เฟียสตารุ่นที่ 5 ออกแบบให้ทันสมัยขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง

ในภาพรวมแล้ว เฟียสตาเริ่มเสื่อมความนิยมลงในแถบยุโรป โดยกลายเป็นรถที่มียอดขายอันดับ 3 รองจาก โอเปิล คอร์ซา (อังกฤษ: Opel Corsa) และ เปอโยต์ 206 (อังกฤษ: Peugeot 206) แต่ยังได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในประเทศ บราซิล

รุ่นที่ 6 (พ.ศ. 2551 - 2562)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 6

ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นที่ 6 เปิดตัวในงานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ 2008 และเริ่มขายตลาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ฟอร์ดประเทศไทย ได้นำเฟียสตาเข้ามาผลิตและจำหน่าย โดยในรุ่นนี้ เฟียสตามีตัวถังแบบรถซีดาน เป็นครั้งแรก (ซีดานคือรถทั่วๆไปที่มีกระโปรงหลังและกระโปรงหน้า) ซึ่งฟอร์ดจะขายเฟียสตาทั้งแบบซีดานและแฮทช์แบค และจากการทดสอบความปลอดภัยของเฟียสตาใหม่ ก็พบว่า เฟียสตาใหม่ ปลอดภัยในระดับแถวหน้าของรถเล็ก และยังได้นำรุ่นพิเศษ ที่ให้ถุงลมนิรภัย 6 ลูกและ 7 ลูก (รถ segment นี้ปกติจะมีถุงลมให้ 1-2 จุดเท่านั้น)ระบบ ESP มาจำหน่ายในไทยอีกด้วย เครื่องยนต์มีให้เลือกคือ 1.25, 1.4, 1.6, 1.4 ดีเซล, 1.6 ดีเซล ในประเทศไทยมีให้เลือกเฉพาะ 1.4 และ 1.6 เบนซิน ภายหลังมีการเพิ่ม 1.5 เบนซิน ตัวถังมีให้เลือกคือ 3, 5, 4 และ 2 ประตู van เกียร์มีให้เลือกคือ อัตโนมัติ 4 สปีด, ธรรมดา 5 สปีด, และ 6 สปีด dual clutch PowerShift

ต่อมาในปี 2014 ได้ทำการปรับ minor change ในประเทศไทย โดยมีรุ่นเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร EcoBoost มาให้เลือกอีกด้วย แต่ไม่ใช่อีโคคาร์ เนื่องจากฟอร์ดไม่ได้เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์

ปี 2016 ได้ยกเลิกรุ่นเครื่องยนต์ 1.0 EcoBoost และรุ่น 4 ประตู โดยเหลือแค่รุ่น 5 ประตูเพียงอย่างเดียวทั้ง 2 รุ่นเช่น Trend และ Sport โดยเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร มีการเพิ่มพลังงานทางเลือกให้รองรับนํ้ามัน E85

กลางปี 2018 ได้ยุติการทำตลาดแล้วในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาเรื่องระบบเกียร์ PowerShift

รุ่นที่ 7 (พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน)

[แก้]
รุ่นที่ 7
ภาพรวม
เริ่มผลิตเมื่อ2560–2566
รุ่นปี2561–ปัจจุบัน
แหล่งผลิตเยอรมนี: โคโลญ (CB&A)
ผู้ออกแบบอีแวน เทเลสกา
ตัวถังและช่วงล่าง
รูปแบบตัวถังแฮทช์แบ็ก 3/5 ประตู
แพลตฟอร์มFord global B-car platform
ระบบส่งกำลัง
เครื่องยนต์
มอเตอร์ไฟฟ้า11.5 kW (15.4 hp) belt-driven integrated starter/generator (BISG)
ระบบเกียร์
  • ธรรมดา IB5 5 จังหวะ
  • ธรรมดา B6 6 จังหวะ
  • อัตโนมัติ 6 จังหวะ
  • Powershift DCT 7 จังหวะ
ระบบขับเคลื่อนรถไฮบริดEcoBoost Hybrid mHEV
แบตเตอรี่48-volt battery pack
มิติ
ระยะฐานล้อ2,493 mm (98.1 in)
ความยาว4,040 mm (159 in) (แฮทช์แบ็ก)
4,406 mm (173.5 in) (เก๋ง)
ความกว้าง1,734 mm (68.3 in) (ไม่นับกระจก)
ความสูง1,483 mm (58.4 in)
ภาพด้านหลัง

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เฟียสตารุ่นที่เจ็ดได้เปิดตัวในประเทศเยอรมณี โดยมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ห้องโดยสารกว้างขวางขึ้น ปลอดภัยขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจับกลุ่มตลาดที่แพงขึ้น เฟียสตายังมีรุ่นครอสโอเวอร์ที่ชื่อว่าเฟียสตา แอคทีฟและรุ่นหรูหราชื่อเฟียสตา วินเนล[1]

การตลาด

[แก้]

ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ฟอร์ดสหราชอาณาจักรได้นำนักแสดงคีเลย์ ฮาเวสมาถ่ายโฆษณากับเฟียสตา[2]

เฟียสตา เอสที (2561)

[แก้]
ฟอร์ด เฟียสตา เอสที

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ได้มีการเปิดตัวฟอร์ด เฟียสตา เอสที รุ่นที่เจ็ด ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องยนต์อีโคบูสต์เทอร์โบ 1.5 ลิตร 3 สูบ 197 แรงม้า[3]

เฟียสตา ปรับปรุง/เฟียสตา EcoBoost Hybrid

[แก้]

Ford Fiesta ตัวถังล่าสุดเปิดตัวรุ่น Minorchange แล้วในเยอรมนี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2021 ซึ่งไม่ได้แต่การปรับหน้าตา แต่ยังเพิ่มระบบเชื่อมต่อและขุมพลัง EcoBoost Hybrid ด้านรุ่นย่อยมีให้เลือกทั้ง Trend, Titanium, ST-Line และ Active ส่วนสีตัวถังที่เพิ่มใหม่มีทั้ง สีเขียว Mean Green สำหรับ Fiesta ST และ สีน้ำเงิน Boundless Blue – สีม่วง Beautiful Berry สำหรับ Fiesta รุ่นอื่น

  • ขนาด 1.0 ลิตร EcoBoost เทอร์โบ กำลังสูงสุด 100 แรงม้า จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
  • ขนาด 1.0 ลิตร EcoBoost Hybrid เทอร์โบพ่วงระบบ Mild Hybrid 48 โวลต์ กำลังสูงสุด 125 หรือ 155 แรงม้า จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ Powershift DCT 7 จังหวะ
  • Fiesta ST ขนาด 1.5 ลิตร EcoBoost เทอร์โบ กำลังสูงสุด 200 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 4,000 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 6.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ปิดตำนาน Fiesta

[แก้]

Ford ได้ปิดตำนานรถยนต์นั่งชื่อดังไปแล้วหลายรุ่นทั้ง Escort, Cortina, Mondeo รวมถึง Focus ที่มีกำหนดการยุติการผลิตในปี 2025 ล่าสุด รถยนต์ขนาดเล็กยอดนิยมอย่าง Ford Fiesta ซึ่งออกขายมาตั้งแต่ปี 1976 ก็อาจไม่พ้นชะตากรรมดังกล่าว เนื่องจากมีรายงานว่าบริษัทอาจยุติการผลิตอย่างไวสุด ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2023 หลังก่อนหน้าบริษัทได้ประกาศเตรียมยุติการขาย Fiesta ตัวถัง 3 ประตู หลังปี 2022

มีรายงานว่า Ford จะแจ้งให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับการคัดเลือก ให้ทราบถึงจุดจบของ Ford Fiesta ในอนาคตอันใกล้ เมื่อสอบถามไปยัง Ford โฆษกระบุแค่ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการเร่งเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะนำไปสู่การปรับฐานผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ของธุรกิจ โดย Ford ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดคะเนได้ และจะเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

มีรายงานด้วยว่าโรงงานใน Cologne ประเทศเยอรมนี ซึ่งใช้ผลิต Ford Fiesta อยู่ในปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า generation ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของ Volkswagen ด้วยการนำ platform แบบ MEB มาใช้ นั่นจึงเป็นเหตุให้ไม่มีที่ยืนเหลืออยู่สำหรับ Ford Fiesta แต่สำหรับ Ford Puma ตัวถัง crossover ที่ใช้ platform ร่วมกับ Fiesta กลับจะได้ไปต่อ โดยพัฒนาเป็น EV ในปี 2024

อ้างอิง

[แก้]
  1. "New 2017 Ford Fiesta: specs, official pictures and Q&A". Auto Express. สืบค้นเมื่อ November 30, 2016.
  2. Stewart, Rebecca (July 21, 2017). "Ad of the Day: Ford gets nostalgic as it enlists Keeley Hawes to chart evolution of the Fiesta". The Drum. สืบค้นเมื่อ August 2, 2017.
  3. "All-new 2018 Ford Fiesta ST unveiled with 197bhp". Auto Express. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-09. สืบค้นเมื่อ February 24, 2017.

ดูเพิ่ม

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟอร์ด เฟียสตา