ข้ามไปเนื้อหา

ฟร็องซิส ปีกาบียา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรานซิส พิคาเบีย)
ฟร็องซิส ปีกาบียา
เกิด22 มกราคม ค.ศ. 1879
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
อาชีพจิตรกร ช่างภาพ กวี นักพิมพ์
มีชื่อเสียงจากผู้เคลื่อนไหวคนสำคัญในลัทธิดาดา

ฟร็องซิส ปีกาบียา (ฝรั่งเศส: Francis Picabia; ชื่อเกิด ฟร็องซิส-มารี มาร์ตีเน เดอ ปีกาบียา, 22 มกราคม ค.ศ.1879 – 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1953) ศิลปิน ช่างภาพ กวี และนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

นอกจากบทบาทในการเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวคนสำคัญของลัทธิดาดาในอเมริกาและฝรั่งเศสแล้ว เขายังมีผลงานในลัทธิประทับใจ ศิลปะนามธรรม และงานในศิลปะลัทธิผสานจุดสี เขายังมีผลงานเกี่ยวข้องกับบาศกนิยมและโดดเด่นในผลงานของลัทธิเหนือจริงอีกด้วย

ชีวประวัติ

[แก้]

ช่วงวัยเด็ก

[แก้]

ฟร็องซิส ปีกาบียา เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1879 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเขากำเนิดขึ้นในตระกูลที่ร่ำรวย จึงทำให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ท่องเที่ยว และมีความสุขกับชีวิตที่หรูหรา อย่างไรก็ตามเมื่อเขาอายุได้7ปี แม่ของเขาได้จากไปด้วยวัณโรคและในปีถัดไป ยายของเขาก็ได้เสียชีวิตลง เขาจึงตกอยู่ในการดูแลของพ่อ ลุง และตาของเขา

ลุงของเขาเป็นคนรักศิลปะและนักสะสม ทำให้ปีกาบียาเริ่มมีความสนใจในจิตรกรคลาสสิคของฝรั่งเศส อาทิเช่น เฟลิกซ์ ซีม (Felix Ziem) และเฟอร์ดินาน รอยเบิร์ด (Ferdinand Roybert) ส่วนตาของเขาที่เป็นช่างภาพมือสมัครเล่น ก็ได้สอนเขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วย และหลังจากนั้นปีกาบียาจึงได้ใช้กล้องเพื่อช่วยในการทำงานของเขา [1]

ช่วงแรกของการเป็นศิลปิน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1895 ปีกาบียาได้เข้าเรียนที่ École des Arts Decoratifs เขาได้ทำงานกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาฌอร์ฌ บรัก และมารี ลอเรนซิน ซึ่งเขาได้สร้างผลงานที่เป็นงานสีน้ำและเคยถูกจัดแสดงที่ Salon des Artistes Francis อยู่หนหนึ่ง เขาละทิ้งงานสีน้ำแบบดั้งเดิมไปในเวลาอันสั้นและเริ่มหันไปทำงานแนวลัทธิประทับใจแทน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกามีย์ ปีซาโรและอัลเฟรด ซิสลีย์ เขามีความเชื่อว่า “ภาพวาดไม่ได้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ แต่เป็นอารมณ์ที่ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของศิลปิน” และงานแนวลัทธิประทับใจ ก็สามารถเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ของเขาได้

ปีกาบียาเริ่มแสดงงานครั้งแรกในปี 1905 ที่ Galerie Hausmann ในกรุงปารีส ในนิทรรศการได้จัดแสดงภาพทิวทัศน์จำนวน 61 รูปและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและเริ่มจัดแสดงต่อในกรุงปารีส ลอนดอน และเบอลิน

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1909 เขาได้ละทิ้งงานที่เรียกว่าเป็นแบบอย่างของเขาและเปลี่ยนมาเป็นแบบอาว็อง-การ์ดซึ่งรวมไปถึงคติโฟวิสต์ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่เขาต้องเลิกแสดงงานที่ Galerie Hausmann ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้แต่งงานกับนักดนตรีผู้นำดนตรีมาสู่ชีวิตของเขา เธอคนนั้นก็คือ แกเบรียล บัฟเฟ ด้วยเหตุนี้เองก็ทำให้เขาได้ค้นพบจุดเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและศิลปะ นอกจากนี้เธอก็ยังทำให้เขาสนใจงานแนวอาว็อง-การ์ด มากขึ้นไปอีกจากปี 1909-1913

Francis Picabia, 1909, Caotchouc, Oil on canvas

ปีกาบียาได้พยายามค้นหาแบบอย่างงานอีกครั้งที่จะสามารถถ่ายทอดความเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าของเขาได้อย่างเหมาะสมลงตัวที่สุด เขาลองเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น คติโฟวิสต์, บาศกนิยม, ศิลปะนามธรรม แม้อนาคตของเขาในฐานะศิลปินจะยังมีความไม่แน่นอน แต่เขาและภรรยาก็เริ่มต้นสร้างครอบครัวด้วยการมีลูกคนแรกด้วยกันในปี 1910 และคนที่ 2 ในปีต่อมา เขาและภรรยาได้เข้าร่วม Sociètè Normande de Peinture Moderne ซึ่งเป็นที่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์ของงานศิลปะแบบสหวิทยาการ และมันนำพามาสู่การจัดนิทรรศการเป็นประจำทุกปีและอีเว้นท์อื่นๆ เป็นการสร้างเครือข่ายและสังคมกับศิลปินคนอื่นๆ ในปี 1911 ปีกาบียาได้พบกับมาเซล ดูช็องป์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทั้งในชีวิตจริงและบนเส้นทางงานศิลปะ

การเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1912 ปีกาบียาได้แสดงออกทางงานบาศกนิยมอย่างรุนแรงขึ้น ภาพวาดของเขามาจากความทรงจำและประสบการณ์มากกว่าการได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ จากการเข้าร่วม Armory Show ที่ นิวยอร์ก เขาแสดงผลงาน La Danses à la source (1912),Souvenir de Grimaldi (1912), La Procession Seville (1912) และ ปารีส (1912)ผลงานของเขาถูกวิจารณ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่นนักข่าวบางส่วนที่วิจารณ์สีสันที่ประสานกันอย่างลงตัวของเขาว่าเป็นสิ่งจอมปลอม แม้ว่าจะได้รับคำวิจารณ์เช่นนั้นในอเมริกา แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่ต่อไปอีก 2 สัปดาห์กับ อัลเฟรด สติกกลิซ และแกลอรี 291 ของเขา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ปีกาบียาได้หนีหลบซ่อนตัวไปอยู่ที่บาร์เซโลนา, นิวยอร์ก และแคริบเบียน ตามลำดับ ผลจากสงครามทำให้เขาค้นพบงานแนวใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคอุตสาหกรรม เขาได้แสดงเครื่องวาดภาพเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 ที่ Modern Gallery ในนิวยอร์กความสัมพันธ์ระหว่างเขาและภรรยาเริ่มจืดจางลงเมื่อเขาได้พบกับเจอเมน เอเวอร์ลิง

ในปี ค.ศ. 1919 ปีกาบียาและภรรยาของเขาได้หย่าร้างกันในที่สุด ถึงตอนนี้ผลงานภาพวาดแนวเครื่องจักรของเขาก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีผ่านสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวกับงานอาว็อง-การ์ด ในปี 1920 ดาดาได้ดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุด ซึ่งผลงานมีทั้ง Happening งานนิทรรศการ หนังสือ และนิตยสาร หลังจากการเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของการต่อต้านงานศิลปะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายปี ปีกาบียาเริ่มรู้สึกว่าดาดาได้กลายเป็นแค่ระบบทั่วไปของการก่อตั้งความคิด ในปี ค.ศ. 1921 เขาโจมตีศิลปินดาดาคนอื่น ๆ ในประเด็นพิเศษใน 391 ที่ชื่อว่า Phihaou-Thibaou

หลังจากที่เขาล้มเลิกที่จะเป็นดาดา เขาก็หันมาสนใจการจัดนิทรรศการภาพวาดอีกครั้งหนึ่ง และในปี 1922 เขาได้แสดงที่ Salon d’Automne ด้วยเครื่องวาดภาพของเขาที่ใกล้เคียงกับภาพวาดในสไตล์สเปนมากขึ้น หลังจากที่เขาจากเพื่อนร่วมงานมากว่า 10 ปี และแสวงหาชีวิตใหม่กับภรรยาใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาทิ้งกรุงปารีสไปในปี 1925 และใช้ชีวิต 20 ปีอยู่ที่โกตดาซูร์ เขาและภรรยาใช้เวลาพักผ่อนในบ้านที่คานส์ และจ้างแม่นมมาดูแลลูกชายของพวกเขา ซึ่งปีกาบียาได้เกิดหลงรักแม่นมที่ชื่อโอลก้า โมเลอ ต่อมาไม่นานเขาก็เริ่มห่างกับเจอเมน และแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการในปี 1933

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

ในช่วงปี 1930 ปีกาบียาแสดงผลงานภาพวาดของเขาในชุด Transparencies (1928-31) ที่ Galerie Theophile Briant ซึ่งเป็นผลงานที่เค้าได้ฉีกกฎการภาพวาดประเพณีนิยมไป โดยเป็นภาพวาดแนวใหม่ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องทัศนมิติ แต่เป็นการวาดภาพแบบแบนๆ มีขนาดที่แตกต่างกัน มีจุดรวมสายตาหลายจุด และภาพซ้อนไขว้กันไปมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาพมายาที่สามารถมองได้หลายมุม[2]

ในปี ค.ศ. 1940 เขาและโอลก้า โมเลอได้แต่งงานกัน และนั่นก็ทำให้สไตล์งานของเขาเปลี่ยนไปอีกครั้ง หลายคนพูดว่างานของเขาในช่วง 1940 ค่อนข้างจะเป็นเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง เขาวาดภาพรูปที่ได้รับความนิยมมากจากนิตยสารของสาว ๆ อย่างดาราหญิง และคู่รักโรแมนติกในชีวิตจริง ในท้ายที่สุดของสายงานของเขา ปีกาบียาก็เปลี่ยนเส้นทางอีกครั้งเป็นงานศิลปะนามธรรม เขายังคงจัดงานนิทรรศการต่อไปอีกตามแกลอรี่ดังๆในปารีสและตีพิมพ์งานเขียนของเขาจนถึงปี ค.ศ. 1951 ในขณะที่เขามีสภาวะผิดปกติที่หลอดเลือดและไม่สามารถวาดภาพต่อไปได้อีก และได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1953

แนวความคิดสำคัญในการสร้างผลงาน

[แก้]

ช่วงปี ค.ศ. 1910 ปีกาบียาเป็นหนึ่งในศิลปินผู้มีความสนใจลัทธิบาศกนิยม และได้แรงบันดาลใจจากความทันสมัยและวัตถุนิยม ซึ่งความสนใจนี้ถูกแสดงออกผ่านภาพวาดแบบศิลปะนามธรรมของเขา และความสนใจต่อเครื่องจักรกลของเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านผลงานภายใต้ลัทธิดาดาในช่วงต้นของเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงาน mechanomorphs ซึ่งเป็นภาพของเครื่องจักรประดิษฐ์ และชิ้นส่วนของเครื่องจักรกลที่มีเจตนาเป็นเหมือนการล้อเลียนเสียดสีในผลงานของเขาว่า มนุษย์เป็นเพียงเครื่องจักรเท่านั้นที่ถูกสั่งการโดยความกระหายหิว

ช่วงต้นปี ค.ศ. 1920 ปีกาบียาเริ่มเป็นที่รู้จักในปารีสและถือเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวในดาดา โดยเขาได้ละทิ้งเทคนิคและความสนใจเดิมๆไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มใช้ข้อความในรูปภาพและผลงานคอลลาจของเขาเพื่อเพิ่มความรุนแรงและชัดเจนให้กับงานของเขาที่เป็นการโจมตีความคิดแบบประเพณีนิยมที่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรม ศาสนา และกฎหมาย โดยเป็นงานที่ถูกสร้างโดยกลุ่มเคลื่อนไหวในดาดาเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมที่กลุ่มผู้นำยุโรปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้มีการสนับสนุน การโจมตีของเขามักเป็นการเสียดสีด้วยมุขตลกร้ายและหยาบคาย ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เคารพต่อสิ่งใดๆ แม้กระทั่งศิลปะ ที่กลายเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของวัฒนธรรมที่กว้างขึ้นของสังคม ที่เขาปฏิเสธ

ผลงานหลักช่วงกลาง ค.ศ. 1920 จนถึงช่วงกลาง ค.ศ. 1940 เมื่อเขาได้แรงบันดาลใจจากสเปน โรมาเนสก์ และสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ภาพประหลาดต่าง ๆ และภาพนู้ด เขาได้รวมทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันภายใต้ผลงานชุด Transparencies (ค.ศ. 1928-1931) ซึ่งเป็นภาพที่มีการซ้อนทับกันไปมา ดูประหลาดและสับสน โดยนักวิจารณ์ศิลปะได้อธิบายภาพ Transparencies ว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ลึกลับ หรือภาพความฝันแบบลัทธิเหนือจริง ปีกาบียามักจะมีอารมณ์ขันและหัวรุนแรงในการต่อต้านรัฐบาลเสมอในผลงานต่าง ๆ ด้านดาดาของเขา

ปีกาบียาเรียนรู้ว่าศิลปะนามธรรม ไม่ได้เพียงสะท้อนถึงเครื่องจักรกลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความลึกลับและความหมกมุ่นในกามารมณ์ ได้อีกด้วย เขาจึงสร้างผลงานในรูปแบบศิลปะนามธรรมเป็นหลัก แม้กระทั่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาก็ได้ย้อนกลับมาสร้างผลงานในรูปแบบนี้อีก

ในช่วงต้นปีค.ศ.1940 ปีกาบียาได้รับการยกย่องจากจิตรกรร่วมสมัย ให้เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีความลึกลับและน่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษ[3]

ตัวอย่างผลงานที่สำคัญ

[แก้]
  • (1898-1901) "The Path"
  • (1901) "Moret-sur-Loing"
  • (1903) "Moret, Route des Pres"
  • (1904) "Canal de Moret, Winter Effect(also known as Barges on the Loing, Morning Effect)"
  • (1905) "Morning Effect, Banks of the Yonne River"
  • (1907) "A Canal at St. Mammes","Banks of the River"
  • (1909) "Saint-Tropez","Caucho"
  • (1910) "Bouquet of Flowers"
  • (1913) "Clergyman","Estrella danzante y su escuela de danza"
  • (1915) "He ahí la mujer"
  • (1916-1918) "Machine Turn Quickly"
  • (1922) "The Spanish Night"
  • (1924-1926) "Woman with Dog"
  • (1926-1927) "Barcelona"
  • (1928-1929) "Transparence"
  • (1929) "Lotruli - Visage de Olga"
  • (1930) "Salomé"
  • (1934) "Portrait of Olga"
  • (1937) "The Spanish Revolution"
  • (1936-1938) "Notornis"
  • (1936-1939) "Transparence, Portrait of a Woman"
  • (1941-1943) "French Cancan","Two Dancers"
  • (1941-1946) "Woman's Face in Black"
  • (1947) "Le Brave"
  • (1948) "Clover Leaf"
  • (1949) "Colloquium"
  • (1950) "The Spell"
  • (1951) "The Groom","Villejuif"

สมุดภาพตัวอย่างผลงาน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552. (ISBN 978-9-747-38539-7)
  • Baker, George. The Artwork Caught by the Tail: Francis Picabia and Dada in Paris. Cambridge, MA: MIT Press, 2007. (ISBN 978-0-262-02618-5)
  • Samaltanos, Katia. Apollinaire Catalyst for Primitivesm, Picabia and Duchamp. UMI : Press, 1981. (ISBN 0-8357-1568-x)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟร็องซิส ปีกาบียา