ข้ามไปเนื้อหา

มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พอ.สว.)
กระเป๋าเสื้อสีเขียว บนเสื้อสีเทา มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (Princess Mother's Medical Volunteer - PMMV) ชื่อย่อ พอ.สว. [1] เป็นกิจการแพทย์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎร ในด้านการสาธารณสุข ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน ตามจังหวัดชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507

ในอดีต ราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์เท่าที่ควร เนื่องการเดินทางยากลำบาก บางครั้งต้องรอจนอาการหนัก จึงเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลจังหวัด บางครั้ง อาการก็หนักเกินกว่าจะรักษา หรือโรคที่ไม่ได้เจ็บป่วยมากมาย กลับเรื้อรังจนต้องพิการทุพพลภาพ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตั้งกิจการแพทย์อาสาเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ขณะทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยในเบื้องต้น ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

หน่วยแพทย์อาสาออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และไปเช้าเย็นกลับในวันเดียวกัน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะหลัก ในแต่ละหน่วยประกอบด้วย แพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องยา 1 คน พยาบาล 3 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ทั้งหมดนี้ อาสาทำงานโดยไม่มีรายได้ตอบแทน มีภูมิลำเนาหรือรับราชการอยู่ในจังหวัดนั้นๆ

อาสาสมัคร พอ.สว. ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า หมอกระเป๋าเขียว แม้แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกันในบางพื้นที่ ยังยกเวันการทำร้าย "หมอกระเป๋าเขียว"

ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา หน่วยแพทย์อาสา พอ.สว. แบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ

  • หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2512 ทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยได้รับการสนับสนุนด้านพาหนะจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือกรมตำรวจ ในแต่ละพื้นที่นั้น
  • หน่วยแพทย์ทางวิทยุ พอ.สว. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 มีทั้งสิ้นใน 24 จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานกลาง วังสระปทุม

จังหวัดที่มีกิจการแพทย์อาสา เรียกว่า จังหวัดแพทย์อาสา ทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า จังหวัดที่ต้องการตั้งหน่วยแพทย์อาสา ควรจะเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายแดน หรือการคมนาคมไม่สะดวก มีที่ทุรกันดาร หรือจำเป็นต้องอาศัยกิจการแพทย์อาสา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมด้วยคณะแพทย์ของจังหวัดนั้นๆ ขอพระราชทานตั้งจังหวัดของตนเป็นจังหวัดแพทย์อาสาเสียก่อน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นจังหวัดแพทย์อาสา

จังหวัดแรกที่มีกิจการแพทย์อาสา คือ จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน มีจังหวัดแพทย์อาสา ทั้งสิ้น 45 จังหวัด กำหนดวางแผนการทำงานโดย คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ พอ.สว. ประจำจังหวัดโดยตำแหน่ง

การติดต่อ ประสานงานในการปฏิบัติการทุกครั้ง ควบคุมโดย สำนักงานกลาง พอ.สว. ตั้งอยู่ที่วังสระปทุม ภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการกลาง ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ประธาน มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อสืบต่อพระราชภารกิจของพระชนนี โดยมี นายแพทย์ประมุข จันทวิมล เป็นเลขาธิการมูลนิธิ พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เป็นประธานมูลนิธิ

ในปัจจุบัน หลังจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการบำบัดทุกบำรุงสุขแก่ราษฎรด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบต่อไป โดยเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดแรก ระหว่างวันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2552

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct21-ToothDay.html มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พอ.สว.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]