ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์(ครองราชย์ครั้งที่ 1)
3 มีนาคม ค.ศ. 1461 – 31 ตุลาคม ค.ศ. 1470
(9 ปี 242 วัน)
(ครองราชครั้งที่ 2)
11 เมษายน ค.ศ. 1471 – 9 เมษายน ค.ศ. 1483
(11 ปี 362 วัน)
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (ครั้งที่ 1)
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (ครั้งที่ 2)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แห่งอังกฤษ
พระราชสมภพ28 เมษายน ค.ศ. 1442
รูอ็อง ประเทศฝรั่งเศส
สวรรคต9 เมษายน ค.ศ. 1483 (40 ปี)
เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในอังกฤษ
พระมเหสีเอลิซาเบธ วูดวิลล์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
พระราชบุตรเอลิซาเบธแห่งยอร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

แมรีแห่งยอร์ก
เซซิลีแห่งยอร์ก
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แห่งอังกฤษ
ริชาร์ดแห่งชรูว์สบรี ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก
จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งเบดฟอร์ด
แอนน์แห่งยอร์ก เคาน์เตสแห่งเซอร์รีย์
แคเธอรินแห่งยอร์ก

บริดจิตแห่งยอร์ก
ราชวงศ์ยอร์ก
พระราชบิดาริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์ก
พระราชมารดาเซซิลี เนวิลล์ ดัชเชสแห่งยอร์ก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4[1] แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward IV of England; 28 เมษายน ค.ศ. 1442 – 9 เมษายน ค.ศ. 1483) เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษและลอร์ดแห่งไอร์แลนด์ในราชวงศ์ยอร์ก

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1442 ที่รูออง ในประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรคนที่ 2 ของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์กและเซซิลี เนวิลล์ ดัชเชสแห่งยอร์ก ได้อภิเษกกสมรสกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ และครองราชย์ครั้งแรกระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1461 – 2 ตุลาคม ค.ศ. 1470 และอีกครั้งหนึ่งระหว่างวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1471 จนสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1483 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในประเทศอังกฤษ พระบรมศพอยู่ที่เซนต์จอร์จส์แชเปิล ใน พระราชวังวินด์เซอร์

ขึ้นครองราชย์

[แก้]

เอ็ดเวิร์ดแห่งยอร์กเป็นบุตรคนที่สองของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์ก ผู้อ้างว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษโดยตรง [2]) และเซซิลี เนวิลล์ ดัชเชสแห่งยอร์ก เอ็ดเวิร์ดเป็นบุตรคนโตที่สุดในบรรดาบุตรชายสี่คนที่รอดชีวิตมาจนโต ดยุกแห่งยอร์กอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1460 ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างราชสกุลยอร์กและแลงแคสเตอร์เลวร้ายลงจนกลายเป็นการต่อสู้กันในสงครามดอกกุหลาบ เมื่อริชาร์ด แพลนแทเจเนตเสียชีวิตในยุทธการเวคฟิลด์ เอ็ดเวิร์ดก็อ้างสิทธิต่อ โดยมีริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก (“ผู้สร้างกษัตริย์” (The Kingmaker)) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องเป็นผู้หนุนหลัง เอ็ดเวิร์ดได้รับชัยชนะต่อราชวงศ์แลงแคสเตอร์ในหลายศึก ขณะที่พระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระนางมาร์กาเรตมัวแต่ไปรณรงค์อยู่ทางเหนือของอังกฤษ ดยุกแห่งวอริกได้ทีเข้ายึดเมืองหลวงและให้เอ็ดเวิร์ดประกาศตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1461 เอ็ดเวิร์ดย้ำความมีสิทธิของพระองค์ด้วยการได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ ยุทธการโทว์ทันในปีเดียวกันจนกองกำลังของราชวงศ์แลงแคสเตอร์ถูกกำจัดเกือบหมดสิ้น

ถูกโค่นราชบัลลังก์

[แก้]

หลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วเอิร์ลแห่งวอริกก็ยังพยายามใช้อิทธิพลทางการเมืองต่อไปและเชื่อว่ายังคงสามารถปกครองอังกฤษได้โดยผ่านพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพยายามหว่านล้อมให้พระองค์หาคู่อภิเษกสมรสจากมหาอำนาจในยุโรป แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับทรงแอบไปอภิเษกสมรสอย่างลับ ๆ กับเอลิซาเบธ วูดวิลล์แม่หม้ายของผู้สนับสนุนราชวงศ์แลงแคสเตอร์ แม่ของเอลิซาเบธแจเคตตาแห่งลักเซมเบิร์ก ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่ง แต่ริชาร์ด วูดวิลล์ เอิร์ลริเวิร์สที่ 1 ผู้เป็นพ่อเป็นบารอนใหม่ที่มีความทะเยอทะยาน การแต่งงานของเอลิซาเบธจึงทำให้พี่ๆ น้องๆ สิบสองคนที่ยังมิได้แต่งงานกลายเป็นผู้ที่มีผู้ต้องการแต่งงานด้วย

แม้ว่าการอภิเษกสมรสดูจะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจของเอิร์ลแห่งวอริกแต่อย่างใด แต่วอริกก็ยังไม่พอใจกับอิทธิพลของตระกูลวูดวิลล์ที่มีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด วอริกจึงหันไปร่วมมือกับจอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ พระอนุชาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในการนำกองทัพเข้าต่อต้านพระองค์

กองทัพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (โดยไม่มีพระองค์นำ) ได้รับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่เอ็ดจ์โคทมัวร์ในปี ค.ศ. 1469 และพระองค์ถูกจับได้ต่อมาที่โอลนีย์ เอิร์ลแห่งวอริกจึงพยายามปกครองอังกฤษในนามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต่อ แต่บรรดาขุนนางที่ได้ดีขึ้นมาเพราะพระองค์ไม่มีความพอใจและแสดงความประสงค์ที่จะต่อต้าน วอริกจึงจำต้องปล่อยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ในเวลานี้พระองค์มิได้มีพระประสงค์ที่จะลงโทษวอริกและดยุกแห่งแคลเรนซ์และทรงหาวิธีประนีประนอมกับทั้งสองคน

แต่ในปี ค.ศ. 1470 เอิร์ลแห่งวอริกและดยุกแห่งแคลเรนซ์ก่อการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่พ่ายแพ้จนต้องหนีไปฝรั่งเศส และไปทำพันธมิตรกับพระนางมาร์กาเรต เอิร์ลแห่งวอริกสัญญาว่าจะถวายบัลลังก์คืนให้แก่พระเจ้าเฮนรีที่ 6 พระสวามีของพระนางมาร์กาเรต เป็นการแลกเปลี่ยนกับการหนุนหลังของฝรั่งเศสในการรุกรานอังกฤษในปี ค.ศ. 1470 ครั้งนี้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจนต้องหนีไปพึ่งจอห์น เนวิลล์ มาร์ควิสที่ 1 แห่งมอนทากิว น้องชายของวอริกที่เปลี่ยนข้างไปสนับสนุนฝ่ายแลงแคสเตอร์

คืนสู่ราชบัลลังก์

[แก้]

พระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลับขึ้นครองราชบัลลังก์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1470 ในสมัยที่เรียกว่าการคืนสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 (Readeption of Henry VI) พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปลี้ภัยที่ดัชชีเบอร์กันดีพร้อมกับริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ชาร์ลผู้อาจหาญ ดยุกแห่งเบอร์กันดีผู้เป็นสามีของมาร์กาเรตแห่งยอร์กน้องสาวพระองค์ท่าน แม้ว่าชาร์ลจะไม่เต็มใจช่วยเอ็ดเวิร์ดเมื่อเริ่มแรกแต่เมือฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเบอร์กันดี ชาร์ลจึงตัดสินใจช่วยเอ็ดเวิร์ดและรวบรวมกำลังในการต่อสู้เพื่อจะชิงราชบัลลังก์คืน

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับอังกฤษกับกองทหารจำนวนน้อยเพื่อเลี่ยงการจับกุมโดยฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ในการประกาศอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษเช่นที่เฮนรี โบลลิงโบรกได้ทำเจ็ดสิบปีก่อนหน้านั้นที่ทรงอ้างว่าเพื่อต้องการอ้างสิทธิในดัชชีของตนเองเท่านั้น แต่เมืองยอร์กปิดประตูเมืองแก่พระองค์แต่เมื่อทรงเดินทัพลงทางไต้พระองค์ก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นและดยุกแห่งแคลเรนซ์ผู้เห็นว่าการเข้าข้างพระเชษฐาจะปลอดภัยกว่าก็เปลี่ยนข้างมาสนับสนุนพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระอนุชาจึงได้รับชัยชนะต่อเอิร์ลแห่งวอริกในยุทธการที่บาร์เนต (Battle of Barnet) เมื่อเอิร์ลแห่งวอริคเสียชีวิตพระองค์ก็ทรงดำเนินการกำจัดผู้ต่อต้านฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ยุทธการที่ทูกสบรี (Battle of Tewkesbury) ในปี ค.ศ. 1471 เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์รัชทายาทฝ่ายแลงแคสเตอร์สิ้นพระชนม์ในสนามรบหรือทันทีหลังจากนั้น สองสามวันต่อมาเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จเข้าลอนดอน ในคืนนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ทรงถูกปลงพระชนม์เพื่อเป็นการกำจัดฝ่ายแลงแคสเตอร์ให้เสร็จสิ้น

พระอนุชาสองพระองค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดคือจอร์จ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ และริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ (ต่อมาคือพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ) เสกสมรสกับอิซาเบลลา เนวิลล์ และแอนน์ เนวิลล์ ทั้งสองคนเป็นธิดาของริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก กับแอนน์ โบแชมป์ ผู้เป็นทายาทของมรดกจำนวนมหาศาลของมารดาผู้ยังมีชีวิตอยู่ ดยุกแห่งแคลเรนซ์และดยุกแห่งกลอสเตอร์มีความขัดแย้งกันตลอดรัชสมัยของเอ็ดเวิร์ด ในที่สุดดยุกแห่งแคลเรนซ์ก็ถูกกล่าวหาว่าวางแผนโค่นราชบัลลังก์ของเอ็ดเวิร์ดและถูกนำไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน และถูก “ประหารชีวิตเป็นการภายใน” (privately executed) (ตำนานเชกสเปียร์กล่าวว่าถูกถ่วงในถังไวน์มาล์มซีย์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1478

พระราชวงศ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 247
  2. ราชสกุลยอร์กเป็นเชื้อสายโดยตรงจากเอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ; ราชวงศ์แลงแคสเตอร์สืบเชื้อสายมาจากจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 จึงทำให้มีอาวุโสในการอ้างสิทธิมากกว่าราชวงศ์ยอร์ก แต่มารดาของริชาร์ด แพลนแทาเจเนตคือแอนน์ เดอ มอร์ติเมอร์ซึ่งเป็นเป็นหลานของไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ป ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ที่มีอาวุโสที่สุด ฉะนั้นจึงเป็นสายที่อาวุโสกว่าสายจากจอห์นแห่งกอนต์แต่เป็นสายที่สืบมาทางสตรี ริชาร์ด แพลนแทเจเนตจึงได้อ้างว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าราชสกุลแลงแคสเตอร์

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ

ก่อนหน้า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ ถัดไป
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์ยอร์ก)
สาขาหนึ่งของราชวงศ์แพลนแทเจเนต

(ค.ศ. 1461 – ค.ศ. 1470)
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์ยอร์ก)
สาขาหนึ่งของราชวงศ์แพลนแทเจเนต

(ค.ศ. 1471 – ค.ศ. 1483)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5