ข้ามไปเนื้อหา

พระยานครราชสีมา (ขำ ณ ราชสีมา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยานครราชสีมา
(ขำ ณ ราชสีมา)
เจ้าเมืองนครราชสีมา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2394 – ?
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)
ถัดไปพระยานครราชสีมา (แก้ว สิงหเสนี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
บุพการี

พระยานครราชสีมา นามเดิมว่า ขำ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงตำแหน่งเป็น พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่าอยุธยาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพในสงครามอานัมสยามยุทธ

พระยานครราชสีมา หรือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (ขำ) เป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)[1] มารดาไม่ปรากฏชัดเจน อาจจะคือท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และเป็นน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) พระยานครราชสีมา (ขำ) มีพี่น้องร่วมมารดาและต่างมารดารวมกันทั้งสิ้น 50 คน[1] ยกตัวอย่างเช่น นายศัลวิชัยหุ้มแพร (ทองคำ) พระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา) พระยามหาณรงค์ (พลาย มหาณรงค์ ณ ราชสีมา) พระยาสุริยเดช (คง ณ ราชสีมา) พระยาสุริยเดช (โสฬส อินทโสฬส ณ ราชสีมา) ฯลฯ[1]

พระยานครราชสีมา (ขำ) ปรากฏครั้งแรกรับราชการในตำแหน่งพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ในสงครามอานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระมหาเทพ (ป้อม อมาตยกุล) และพระราชวรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปทางภาคอีสานเพื่อไปโจมตีอาณาจักรเมืองพวนและเมืองล่าน้ำหรือจังหวัดเหงะอานของเวียดนาม[2] พระราชวรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปถึงเมืองหนองคาย พระราชวรินทร์และพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายยกทัพจากหนองคายไปยังเมืองพวน ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมเจ้าสานเมืองพวนให้หันมาเข้ากับฝ่ายสยาม เจ้าสานเมืองพวนยินยอมมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม และให้การต้อนรับพระราชวรินทร์ซึ่งยกทัพเข้าครองเมืองพวนได้โดยสวัสดิภาพ[2]

ต่อมาพระราชวรินทร์ (ขำ) ได้เลื่อนเป็นพระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา จากนั้นในปีพ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ไปสำรวจสำมะโนประชากรทำบัญชีเลกไพร่พลที่หัวเมืองลาวภาคอีสานและเขมรป่าดง พระพิเรนทรเทพ (ขำ) รับผิดชอบเดินทางไปทำบัญชีไพร่พลเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง และเมืองปากเหือง[2]

พระยานครราชสีมา (ขำ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระพิเรนทรเทพ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่โพธิ์สามต้น ต่อมาได้รับชื่อว่าวัดใหม่พิเรนทร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่

ในพ.ศ. 2383 บรรดาเจ้าเมืองกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนามราชวงศ์เหงียนนั้น ก่อกบฏลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของญวน เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ติดตามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ไปในการยกทัพเข้าโจมตีเมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มอบหมายให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ) และพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ยกทัพจากเมืองพระตะบองเข้าตีเมืองโพธิสัตว์[2] ในเวลานั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ผู้เป็นบิดาของพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ล้มป่วยลง เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2388 พระพิเรนทรเทพ (ขำ) และญาติพี่น้องได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่โพธิ์สามต้นในพ.ศ. 2384 ซึ่งต่อมาวัดนี้ได้รับชื่อว่าวัดใหม่พิเรนทร์

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พระพิเรนทรเทพ (ขำ) ได้เลื่อนเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชสุรชาติเสนาบดี[3] ผู้รักษากรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 ทรงแต่งตั้งพระยาไชยวิชิตฯ (ขำ) ขึ้นเป็นพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 จดหมายเหตุนครราชราชสีมา. กรมศิลปากร, พ.ศ. 2497
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  3. ทำเนียบผู้ว่าราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. Link
  4. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) ณวัดประยูรวงศาวาส. พระนคร ท่าพระจันทร์:โรงพิมพ์พระจันทร์. วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗.