ข้ามไปเนื้อหา

ทิก เญิ้ต หั่ญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระภิกษุติช นัท ฮันห์)
ทิก เญิ้ต หั่ญ
Thích Nhất Hạnh
พระภิกษุทิก เญิ้ต หั่ญ ในปารีส (ค.ศ. 2006)
คำนำหน้าชื่อเถี่ยนซือ (Thiền Sư)
ชื่ออื่นเถ็ย (Thầy) (ครู)
ส่วนบุคคล
เกิด
เหงวียน ซวน บ๋าว (Nguyễn Xuân Bảo)

11 ตุลาคม ค.ศ. 1926(1926-10-11)
มรณภาพ22 มกราคม ค.ศ. 2022(2022-01-22) (95 ปี)
ศาสนาพุทธนิกายฌาน (เถี่ยน)
สำนักสำนักเลิมเต๊ (Lâm Tế; จีน: 臨濟, หลินจี่)[1]
Order of Interbeing
Plum Village Tradition
สายรุ่นที่ 42 (เลิมเต๊)[1]
รุ่นที่ 8 (เหลียวกว๊าน, Liễu Quán)[1]
ชื่ออื่นเถ็ย (Thầy) (ครู)
ตำแหน่งชั้นสูง
ครูทิก เจิน เถิต (Thích Chân Thật)
ที่อยู่อารามหมู่บ้านพลัม

ทิก เญิ้ต หั่ญ (11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 – 22 มกราคม พ.ศ. 2565) หรือนิยมทับศัพท์ว่า ติช นัท ฮันห์[2] (เวียดนาม: Thích Nhất Hạnh ฮันตึ: 釋一行 ; ฝรั่งเศส: Thich Nhat Hanh) เป็นพระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ชื่อทิก เญิ้ต หั่ญ เป็นฉายาทรงธรรม โดยคำว่า "ทิก" เป็นแปลว่า "ศากยะ" ส่วน "เญิ้ต หั่ญ" มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง (One Action)" ท่านเป็นพระมหาเถระนิกายเซน กวี และผู้สนับสนุนในเรื่องสันติภาพ มีงานเขียนเผยแผ่ตีพิมพ์ภาษาต่าง ๆ มากมาย และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมชาวตะวันตก ท่านมรณภาพในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 ด้วยอายุ 95 ปี[3]

ประวัติ

[แก้]

ทิก เญิ้ต หั่ญ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469[4] ที่จังหวัดกว๋างจิ ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงวียน ซวน บ๋าว (Nguyễn Xuân Bảo)[5] ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2485 ขณะมีอายุได้ 16 ปี และได้อุปสมบทเป็นพระในเวลาต่อมา ช่วงแรกที่อยู่ในเวียดนาม ท่านได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเขียนบทความ แต่กลับได้รับการต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเป็นอย่างมาก

ต่อมาใน พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐ ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง ภารกิจที่สำคัญของท่านคือ ก่อตั้ง "คณะเทียบหิน" ใน พ.ศ. 2509

ใน พ.ศ. 2510 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือไปจากพระผู้มีเมตตาจากเวียดนามผู้นี้"

หมู่บ้านพลัม

[แก้]

แต่การรณรงค์เพื่อหยุดการสนับสนุนสงครามของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนาม ที่ถึงแม้จะรวมประเทศได้แล้วก็ตาม ไม่ยอมรับท่าน และปฏิเสธการเข้าประเทศของท่าน ทำให้ท่านต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้ง "หมู่บ้านพลัม" เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนสงฆ์ของท่าน ที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2525 ในระยะแรกเป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัย ก่อนจะเริ่มมีนักบวชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531

หมู่บ้านพลัมปัจจุบันได้จัดการอบรมภาวนาเกี่ยวกับการเจริญสติทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือให้แก่บุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีนักบวชกว่าห้าร้อยคน จากกว่ายี่สิบประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านพลัม และที่อื่นๆได้แก่ Green Mountain Dharma Center รัฐเวอร์มอนต์ และ Deer Park Monastery รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา และที่วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และ วัดตื่อฮิ้ว เมืองเฮว้ ประเทศเวียดนาม

ท่านทิก เญิ้ต หั่ญ ได้จัดตั้ง "หมู่บ้านพลัม" (Plum Village) ขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นชุมชนแบบอย่าง การปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออก และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ในชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัม มีทั้งสิ้น 12 แห่ง อยู่ในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเวียดนาม นอกจากนี้มีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านทิก เญิ้ต หั่ญ (คณะสงฆ์) กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกเกือบหนึ่งพันกลุ่ม

ภายในคณะสงฆ์หมู่บ้านพลัมประกอบด้วยวัด 8 วัด ได้แก่

  • Upper Hamlet, Lower Hamlet, New Hamlet, Lower Mountain Hamlet กระจายตัวอยู่ในหมู่บ้านชนบทใกล้เมืองบอร์โด ทางใต้ของประเทศฝรั่งเศส
  • Clarity Hamlet, Solidity Hamlet ที่ Deer Park Monastery รัฐแคลิฟอร์เนีย
  • Green Mountain Dharma Center, Maple Forest Monastery ที่รัฐเวอร์มอนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังมีสังฆะอื่น ๆ อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

ผลงานเขียน

[แก้]

ท่านทิก เญิ้ต หั่ญ เป็นผู้ประพันธ์หนังสือธรรมะชื่อดังระดับโลกหลายเล่ม ดังนี้

  1. ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
  2. สันติภาพทุกย่างก้าว
  3. ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด
  4. ศานติในเรือนใจ
  5. เดิน วิถีแห่งสติ [Walking Meditation]
  6. ดวงตะวัน ดวงใจฉัน
  7. ทางกลับคือการเดินทางต่อ
  8. กุญแจเซน
  9. สายน้ำแห่งความกรุณา
  10. วิถีแห่งบัวบาน
  11. คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ เล่ม 1-2 / Old Path White Clouds : Walking in the Footsteps of the Buddha
  12. ด้วยปัญญาและความรัก
  13. เธอคือศานติ : ลำนำแห่งลมหายใจและรอยยิ้ม [Being Peace]
  14. ศาสตร์แห่งความเข้าใจ
  15. พุทธศาสนาในอนาคต
  16. อานาปนอานาสติศาสตร์
  17. พระสูตรธรรมแปดประการสำหรับมหาบุรุษ
  18. เพชรตัดทำลายมายา [The Diamond That Cuts Through Illusion]
  19. กุหลาบประดับดวงใจ
  20. ไผ่พระจันทร์
  21. ดอกบัวในทะเลเพลิง
  22. เสียงร้องของชาวเวียดนาม
  23. จุดยืนพระพุทธศาสนาท่ามกลางสงครามและการปฏิวัติ
  24. เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก [Teaching on Love]
  25. เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง
  26. ปลูกรัก
  27. เริ่มต้นใหม่

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Carolan, Trevor (1 มกราคม 1996). "Mindfulness Bell: A Profile of Thich Nhat Hanh". Lion's Roar. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2018.
  2. ปรากฏในวรรณกรรมแปลภาษาไทย เช่น: หนังสือของฝากจากหลวงปู่ สำนักพิมพ์มูลนิธิหมู่บ้านพลัม หน้าปก พิมพ์ มีนาคม พ.ศ. 2554
  3. Joan Duncan Oliver (January 21, 2022). "Thich Nhat Hanh, Vietnamese Zen Master, Dies at 95". Tricycle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 21, 2022. สืบค้นเมื่อ January 21, 2022.
  4. Taylor, Philip (2007). "The 2005 Pilgrimage and Return to Vietnam of Exiled Zen Master Thích Nhất Hạnh". Modernity and Re-enchantment: Religion in Post-revolutionary Vietnam. Institute of Southeast Asian Studies. pp. 279–341. ISBN 9789812304407. สืบค้นเมื่อ October 9, 2018.
  5. Ford, James Ishmael (2006). Zen Master Who?: A Guide to the People and Stories of Zen. Wisdom Publications. p. 90. ISBN 0-86171-509-8.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]