ผู้ใช้:ประภาพรรณ์ วงค์อินตา/กระบะทราย
การบริหารภาครัฐ(สเปน)
สภาพแวดล้อมทั่วไปของสเปน
[แก้]สเปนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย โดยมีพรหมแดนติดกับฝรั่งเศสทางด้านทิศเหนือ ติดกับช่องแคบยิบรอลตาร์และมหาสมุทรแอตแลนติกทางด้านทิศใต้ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านทิศตะวันออก และติดกับโปรตุเกสทางด้านทิศตะวันตก ลักษณะที่ตั้งดังกล่าวนี้ ทำให้ฤดูหนาวในสเปนมีอากาศหนาวมาก ในขณะที่ฤดูร้อนก็จะร้อนมากเช่นกัน
สเปนถือเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของทวีปยุโรปรองจากรัสเซียและฝรั่งเศส โดยมีเนื้อที่ประมาณ 504,782 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 4,964 กิโลเมตร[1]และถือเป็นประเทศที่มีภูเขามากเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้สเปนยังมีแม่น้ำสายหลักที่สำคัญๆ ได้แก่ แม่น้ำคูการ์ แม่น้ำตูรีอา แม่น้ำเซกูรา[2]และแม่น้ำไอโบร[3]
ศาสนาคริสต์คาทอลิกนับว่ามีบทบาทสำคัญกับสังคมสเปนเป็นอย่างมาก โดยมีผู้นับถือศาสนาดังกล่าวมากถึงร้อยละ 94 รองลงมาเป็นศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ ประมาณร้อยละ 6 ทั้งยังมีผู้นับถือคริสต์โปรเตสแตนต์อีกประมาณ 50,000 คน ถือได้ว่าเป็นนิกายที่มีผู้นับถือเป็นส่วนน้อย
สังคมสเปนประกอบด้วยชาติพันธ์ุต่างๆมากมาย ที่สำคัญคือ เชื้อชาติชาวสเปนมีมากสุดประมาณร้อยละ 74 รองลงมาเป็นเชื้อชาติชาวคาตาลัน และเชื้อชาติชาวกาลิเซีย ตามลำดับ ซึ่งเชื้อชาติทั้งสามนี้เป็นชาติผสมระหว่างชาติพันธ์ุนอร์ดิกกับชาติพันธุ์เมดิเตอร์เรเนียน
นอกจากนี้สเปนยังมีภาษาใช้อย่างหลากหลายแตกต่างกันตามลักษณะของแต่ละท้องถิ่น ที่นิยมใช้มากสุด คือ ภาษาสเปนหรือภาษาคาสตีล เนื่องจากเป็นภาษาทางการ และยังมีภาษาอื่นๆที่นิยมใช้สื่อสารกันในแต่ละแคว้น เช่น ภาษาคาตาลัน ภาษาบาสก์ และภาษากาลิเซีย[4]
ประวัติศาสตร์สเปนระยะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
[แก้]การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตยนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1975 ภายหลังการสิ้นชีวิตของนายพลฟรังโก้ จากนั้นได้สถาปนาเจ้าชายฆวน การ์โลส ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงแต่งตั้งนายอารีอาส นาวาร์โร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การดำเนินงานของนายอารีอาสเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งยังได้รับแรงกดดันจากกลุ่มต่างๆ นายอารีอาสจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 ต่อมาพระองค์ทรงแต่งตั้งนายอะดอฟโฟ ซัวเรส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผลงานที่สำคัญของนายซัวเรสคือ การทำลายองค์กรที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการให้หมดไป และการผลักดันออกกฎหมายพื้นฐานฉบับที่ 8 ว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา[5]และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 ปรากฏว่าพรรคสหภาพศูนย์ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะไป จากนั้นได้เกิดการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรกฏว่าพรรคสหภาพศูนย์ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ และได้เข้ามาบริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่สอง[6]
ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981 ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น โดยการนำของพันโทอันโต นีโอ เทเจโล่ และคณะทหาร แต่การทำรัฐประหารครั้งดังกล่าวไม่สำเร็จ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ได้ยับยั้งฝ่ายกบฏให้ยุติการทำรัฐประหาร
เมื่อปี ค.ศ. 1982 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง โดยมีนายฟิลิปเป้ กอนซาเลส มาร์เกซ เป็นหัวหน้าพรรคพร้อมทั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถือเป็นช่วงเวลาที่สเปนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ในปี ค.ศ. 1996 พรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวากลาง ได้เข้ามามีบทบาทในด้านการบริหารประเทศ โดยการนำของนายโคเซ มารีอา อัซนาร์ และได้เข้ามาบริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่สอง หลังจากได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2000
ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 ได้เกิดเหตุรอบวางระเบิดขบวนรถไฟที่กรุงมาดริด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุทำให้พรรคประชาชนต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน จากนั้นได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 2008 ปรากฏว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนได้รับชัยชนะ และได้เข้ามาบริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่สอง
และในปัจจุบัน พรรคประชาชนถือเป็นพรรครัฐบาลชุดล่าสุดของสเปน ที่ได้รับชัยชนะจาการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ที่ผ่านมา[7]
การเมืองการปกครอง
[แก้]สเปนมีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1978 เป็นฉบับล่าสุดที่มีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สถานบันทางการเมือง
[แก้]ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา
ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
- สภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตการเลือกตั้งเป็นระดับจังหวัด ปัจจุบันมีสมาชิก 350 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี[8]
- วุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 208 คน และอีก 58 คน ถูกแต่งตั้งจากสภาสมาชิกในแต่ละแคว้น รวมทั้งสิ้นมีสมาชิก 266 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เท่ากันกับสภาผู้แทนราษฎร[9]
ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจทางนิติบัญญัติทั้งหมด ทั้งในด้านการออกและอนุมัติใช้กฎหมาย ในขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่เพียงริเริ่มกฎหมายเท่านั้น แต่ทั้งนี้สภาทั้งสองยังมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายรัฐบาล แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้พิพากษา และยังมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่มีฐานะในการปกครองประเทศ[10]
ฝ่ายบริหาร
ประกอบด้วย ประมุขแห่งรัฐ(พระมหากษัตริย์) และรัฐบาล
- ประมุขแห่งรัฐพระองค์ปัจจุบันของสเปน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2014 และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสเปน[4]
ตามรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1978 พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการอนุมัติประกาศใช้พระราชบัญญัติต่างๆ เรียกประชุม ยุบสภา ประกาศให้มีการเลือกตั้ง และมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอนถอดนายกรัฐมนตรี[11]
- รัฐบาล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยร่วมปรึกษากับผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆที่เป็นตัวแทนในรัฐสภา จากนั้นได้เสนอรายชื่อผู้เห็นสมควรดำรงตำแหน่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยระบบเสียงส่วนใหญ่ ผู้ที่ผ่านการอนุมัติจะได้เข้ามาบริหารประเทศ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น โดยรัฐบาลมีวาระการดำรงตำแหน่ง วาระละ 4 ปี
รัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ กำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งยังมีอำนาจในการเสนอร่าง พิจารณาและบังคับใช้กฎหมาย และออกกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติพื้นฐาน[12]
ฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายตุลาการมีหลักอำนาจ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
- ความเป็นอิสระ องค์ตุลาการมีอำนาจในการบริหารงานทางตุลาการอย่างมีอิสระ ผู้ใดจะถอดถอนหรือโยกย้ายไม่ได้ เว้นแต่เป็นการกระทำที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ เมื่อเกิดกรณีพิพากษา ศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีตามหลักกฎหมาย โดยไม่ต้องรับฟังคำสั่งผู้ใด
- ความเป็นเอกภาพ คือการบริหารงานที่อยู่ภายใต้อำนาจเดียวกัน อำนาจดังกล่าวคืออำนาจตุลาการหรือการปฏิเสธการมีศาลลักษณะพิเศษนั่นเอง
- การใช้อำนาจทั่วไป โดยศาลตุลาการมีอำนาจครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและมีผลเกี่ยวข้องกับทุกองค์กรในทุกๆระดับ ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งองค์กรบริหารฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารของฝ่ายตุลาการและเป็นศาลฎีกาด้วย[13]
พรรคการเมืองของสเปน
พรรคการเมืองถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการทางการเมือง และในปัจจุบันสเปนมีพรรคการเมืองที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1.พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Partido Socialista Obrero Espanol - PSOE) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายแต่ไม่ซ้ายจัด โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1979 และถือเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสเปน
2.พรรคประชาชน (Partido Popular - PP) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา และถือเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสเปนอีกด้วย
3.พรรคฝ่ายซ้ายร่วม (Izquierda Unida - IU) เดิมคือพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้าย ถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่และเคยอยู่รวมกับพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน
4.พรรคปรับร่วมและสหภาพ (Convergencia i Unio - ciU)
5.พรรคชาตินิยมบาส์ก (Partido Nacionalista Vasco - PNV)
6.พรรคผสมคะเนรี (Coalicion Canaria - CC) เป็นพรรคการเมืองชาตินิยมและเสรีนิยม[11]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]ประเทศสเปนประกอบด้วยแคว้นปกครองตนเอง 17 แคว้น และ 2 นครปกครองตนเอง
แคว้นปกครองตนเอง 17 แคว้น แคว้นการปกครองตนเองทั้ง 17 แคว้น จะมีสิทธิในปกครองตนเองในระดับที่ต่างกัน โดยแต่ละแคว้นจะมีสภาสมาชิกเป็นของตนเอง ที่จัดให้มีการเลือกตั้งในทุกๆ 4 ปี ซึ่งแต่ละแคว้นยังแยกออกเป็นจังหวัดอีกทั้งสิ้น 50 จังหวัด และสเปนประกอบด้วยแคว้นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.แคว้นกันตาเบรีย (Cantabria)
2.แคว้นกาตาลุญญา (Catalunya) หรือแคว้นคาเทโลเนีย (Catalonia)
3.แคว้นกาลิเซีย (Galicia)
4.แคว้นคาสตีล-ลามันชา (Castile-La Mancha)
5.แคว้นคาสตีลและเลออน (Castile and Leon)
6.แคว้นนาวาร์ (Navarre)
7.แคว้นเอกซ์เตรมาดูรา (Extremadura)
8.แคว้นบาเลนเซีย (Valencian)
9.แคว้นบาสก์ (Basque)
10.แคว้นมาดริด (Madrid)
11.แคว้นมูร์เซีย (Murcia)
12.แคว้นลารีโอคา (La Rioja)
13.แคว้นอันดาลูซีอา (Andalucia)
14.แคว้นอัสตูเรียส (Asturias)
15.แคว้นอารากอง (Aragon)
16.หมู่เกาะแบลีแอริก (Balearic Islands)
17.หมู่เกาะคะเนรี (Canary Islands)
นครปกครองตนเอง 2 นคร นครปกครองตนเองถือเป็นดินแดนอิสระ หรือที่เรียกว่าดินแดนแห่งอำนาจอธิปไตย แต่ทั้งนี้ยังคงต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้ง 2 นครจะตั้งอยู่ทางแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือหรือตอนเหนือของประเทศโมร็อกโกนั่นเอง ซึ่ง 2 นครดังกล่าวนี้ ได้แก่
1.เมลียา (Melilla)
ปัญหาและแนวโน้มการเมืองการปกครองของสเปน
[แก้]เดิมสเปนเป็นสังคมเผด็จการ จึงทำให้ชาวสเปนส่วนใหญ่ยึดติดกับค่านิยมในตัวผู้นำหรือผู้มีอำนาจ และยากต่อการดำรงซึ่งระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งสถาบันทางการเมืองของสเปนยังคงพึ่งพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ดั้งนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางองค์กรให้มีความเข้มแข็งและเหมาะสมมากกว่านี้ เพื่อจะได้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม ทั้งนี้การพยายามแบ่งแยกดินแดนระหว่างชาวบาสก์กับชาวเอต้านั้น แม้ว่าจะเกิดจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน จนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1936 แล้วก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวก็ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับรัฐบาลในทุกๆสมัยเช่นกัน และในปี ค.ศ. 1986 หลังจากที่สเปนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศสมาชิกในยุโรปให้การสนับสนุนทางการเมืองกับสเปนเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้สเปนสามารถธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ [14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2550, หน้า 183-184
- ↑ วราภรณ์ จุลปานนท์, 2547, หน้า 29-30
- ↑ สมลักษณ์ วงษ์รัตน์, 2537, หน้า 7
- ↑ 4.0 4.1 4.2 [1],สเปน (อังกฤษ: Spain; สเปน: España เอสปาญ) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรสเปน (อังกฤษ: Kingdom of Spain; สเปน: Reino de España ).
- ↑ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 2544, หน้า 888-889
- ↑ วราภรณ์ จุลปานนท์, 2547, หน้า 37
- ↑ พัชราภา ตันตราจิน (2559). [2] "กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองในชนชั้นนำไปสู่การเมืองมวลชน:กรณีเปรียบเทียบประเทศสเปนกับประเทศไทย", การบริหารรัฐกิจและการเมือง , ปีที่ 5, ฉบับที่ 1, DOI 10.14456/papa.2016.2.
- ↑ วราภรณ์ จุลปานนท์, 2552, หน้า 40
- ↑ The world Factbook — Central Intelligence Agency - CIA
- ↑ วราภรณ์ จุลปานนท์, 2552, หน้า 40-41
- ↑ 11.0 11.1 [3],Melilla * Murcia * Navarra * Pais Vasco * Rioja สถาบันทางการเมือง ประเทศสเปนมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข มาตั้งแต่ปี ค.ศ. .
- ↑ วราภรณ์ จุลปานนท์, 2552, หน้า 39
- ↑ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 2544, หน้า 905-906
- ↑ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 2544, หน้า 916-917
บรรณานุกรม
[แก้]- วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, สเปน:ดินแดนแห่งอารยธรรมสองทวีป, พิมพ์ที่ นำอักษรการพิมพ์, 2550, ISBN : 978-974-9535-66-0
- วราภรณ์ จุลปานนท์, การเมืองในยุโรปตะวันตก, สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2547, ISBN : 974-593-791-6
- สมลักษณ์ วงษ์รัตน์, เดี่ยว (ไม่เดี่ยว)....เที่ยวสเปน....สบ๊าย!, พิมพ์ที่ บริษัทพิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2537, ISBN : 0-2919-1481
- สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, การเมืองการปกครองในยุโรปและอเมริกา, สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2544, ISBN : 974-611-804-8
- วราภรณ์ จุลปานนท์, การเมืองในยุโรปตะวันตก, สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552, ISBN : 978-616-513-137-7