ปลาสิงโตปีก
ปลาสิงโตปีก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Scorpaeniformes |
วงศ์: | Scorpaenidae |
วงศ์ย่อย: | Pteroinae |
สกุล: | Pterois |
สปีชีส์: | P. volitans |
ชื่อทวินาม | |
Pterois volitans (Linnaeus, 1758) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลาสิงโตปีก หรือ ปลาสิงโตปีกจุด (อังกฤษ: Red lionfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterois volitans /เท-โร-อิส-โว-ลิ-แทนส์/) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง จำพวกปลาสิงโต ในวงศ์ปลาแมงป่อง (Scorpaenidae)
มีครีบอกแผ่กว้างมีก้านครีบแข็งยื่นยาวออกไป และมีเยื่อยึดระหว่างก้านครีบ ครีบหางโค้งมน พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีดำแต้มบนเยื่อยึดระหว่างก้านครีบอก ครีบหลังมีก้านครีบแข็งทั้งหมด 13 ก้าน ซึ่งแต่ละก้านสามารถเคลื่อนไหวเป็นอิสระ โดยมีครีบเป็นตัวยึดติดไว้ ในก้านครีบหลังมีบางก้านซึ่งมีเข็มพิษและภายในบรรจุถุงพิษ รวมถึงครีบอื่น ๆ เช่น ครีบก้น, ครีบอก ด้วย หากถูกแทงจะได้รับความเจ็บปวดมาก เมื่อแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของผู้ที่โดนแทงจะก่อให้เกิดความปวดแสบปวดร้อน เพราะมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เป็นอัมพาต หรืออัมพาตชั่วคราว รวมถึงเป็นแผลพุพองได้ด้วย
ขนาดโตเต็มที่สามารถยาวได้ถึง 47 เซนติเมตร (18.5 นิ้ว) ในขณะที่ยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีความยาวสั้นกว่า 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร) มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี[2][3] [4]
เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนของอินโด-แปซิฟิก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของน่านน้ำแถบอเมริกาเหนือและแคริบเบียน เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก, ฟลอริดา และบาฮามาส แต่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีการแพร่ระบาดข้ามคลองปานามาด้วยหรือไม่ เชื่อว่า มาจากการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยพบครั้งแรกเมื่อฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2002 โดยนักดำน้ำผู้หนึ่งที่ฟลอริดา
จากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาสิงโตปีกแพร่ระบาดแทบทุกแนวปะการัง โดยสามารถพบได้ในที่ ๆ มีความลึกได้ถึง 600-800 ฟุต[5] แต่โดยเฉลี่ยจะพบชุกชุมที่ความลึกไม่เกิน 200-400 ฟุต เป็นต้นเหตุทำให้ปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นหลายชนิดหายไป เนื่องจากเป็นปลาที่กินอาหารได้จุมาก และแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว แม่ปลาหนึ่งตัวสามารถผลิตไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง และมีความสามารถสูงในการสืบพันธุ์ทุก ๆ 3-4 วัน ครั้งละนับแสนฟอง จนต้องมีการกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาแพร่พันธ์มากจนเกินไป และไปทำลายระบบนิเวศ วิธีการกำจัดนั้นมีหลายวิธี รวมถึงการล่ามาเพื่อรับประทานเป็นอาหารของรัฐบาลบาฮามาสด้วย โดยในเริ่มแรกยังไม่มีผู้กล้ารับประทานเนื้อเพราะเกรงว่าจะมีพิษ แต่ความจริงแล้ว สามารถรับประทานได้ เนื้อปลามีความนุ่มอ่อนและมีรสชาติดี แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้แล้ว ปลาสิงโตปีกยังเป็นอาหารที่ชื่นชอบของปลากินเนื้อขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลากะรัง ในขณะที่ปลาขนาดใหญ่บางจำพวก เช่น ปลาฉลาม กลับไม่กินเป็นอาหาร เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในท้องถิ่น[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก itis.gov สืบค้น. 23 ธันวาคม 2013
- ↑ Largest Lionfish Caught สืบค้น. 23 ธันวาคม 2013
- ↑ National Oceanic and Atmospheric Administration, National Centers for Coastal Ocean Science "Have You Seen Me?"
- ↑ Encyclopedia of Life (EOL). (2011, January 19). Retrieved 4 May 2011 from (http://eol.org)
- ↑ Cote, I.M., A. Maljkovie. 2010. Predation rates of Indo-Pacific lionfish on Bahamian coral reefs. Marine Ecology Progress Series 404:219-225.
- ↑ The Lion Fish, " The Conquerors". สารคดีทางแอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pterois volitans ที่วิกิสปีชีส์