วงศ์ปลานกกระจอก
วงศ์ปลานกกระจอก ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Eocene–Present[1] | |
---|---|
Sailfin flying-fish, Parexocoetus brachypterus | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | ปลาเข็ม |
อันดับย่อย: | Exocoetoidei |
วงศ์ใหญ่: | Exocoetoidea |
วงศ์: | ปลานกกระจอก Risso, 1827[2] |
Genera | |
See text |
ปลานกกระจอก หรือ ปลาบิน[3] (อังกฤษ: Flying fish) เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Exocoetidae
มีลักษณะโดยรวม คือ มีลำตัวยาวมาก ค่อนข้างกลม จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็ก ไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบบางไม่มีขอบหยักหรือสาก หลุดร่วงง่าย[4]
จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน
เป็นปลาที่มีลักษณะเด่น คือ นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีความคล่องแคล่วว่องไว มีจุดเด่น คือ เมื่อตกใจหรือหนีภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ซึ่งอาจไกลได้ถึง 30 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาและจังหวะ[5] อันเป็นที่มาของชื่อ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิดมีครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย[6] ปลานกกระจอกเมื่อกระโดดอาจกระโดดได้สูงถึง 7-10 เมตร ด้วยความเร็วประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถอยู่บนกลางอากาศได้นานอย่างน้อย 10 วินาที[7] วางไข่ไว้ใต้กอวัชพืชหรือขยะที่ลอยตามกระแสน้ำ เพื่อให้เป็นที่พำนักของลูกปลาเมื่อฟักแล้ว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้[8]
พบมากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออกเป็น 8 สกุล (ดูในตาราง) [9] เป็นปลาที่ขี้ตื่นตกใจ และตายง่ายมากเมื่อพ้นน้ำ
การนำมาเป็นอาหาร
[แก้]ไข่ปลานกกระจอกมีลักษณะเม็ดเล็กจำนวนมากสีส้ม ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาเป็นอาหาร เช่น ซูชิหน้าไข่ปลา ด้วยไข่มีลักษณะเล็กและสีส้ม จึงมักมีความเข้าใจผิดกันว่าเป็นไข่กุ้ง [10]
ที่เกาะหลันหยู หรือ เกาะกล้วยไม้ ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ชาวเตาซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่นั่นมีวิถีชีวิตผูกพันกับปลานกกระจอกอย่างมาก จนเกิดเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับปลานกกระจอกมากมาย และตามถนนหนทางจะพบประติมากรรมรูปปลานกกระจอกเสมอ ๆ ชาวเตาจะจับปลานกกระจอกด้วยวิธีการพายเรือออกจับในเวลากลางคืน โดยใช้แสงไฟเป็นตัวล่อ และจับด้วยสวิง ซึ่งต้องใช้ความชำนาญพอสมควร เมื่อได้มาแล้วจะนิยมนำมาทำเป็นปลาแห้ง โดยตากแดดนาน 3 วัน และเก็บไว้ในที่แห้งอีก 3 คืน เพื่อให้เนื้อปลาแห้งสนิท เมื่อปรุงนิยมนำไปต้ม [11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Fossilworks. "Exocoetidae". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-12. สืบค้นเมื่อ 2024-07-31.
- ↑ Richard van der Laan; William N. Eschmeyer & Ronald Fricke (2014). "Family-group names of Recent fishes". Zootaxa. 3882 (2): 001–230. doi:10.11646/zootaxa.3882.1.1. PMID 25543675.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120831122605/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-23-search.asp เก็บถาวร 2012-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นกกระจอก ๒ น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
- ↑ "Family Exocoetidae". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-16. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
- ↑ Cyphelurus sp. Flyingfish[ลิงก์เสีย]
- ↑ ปลานกกระจอก ทำอย่างไรถึง "บิน" ได้
- ↑ ยอดนักกระโดดสูง, หน้า 104. "โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต" แปลโดย ขวัญนุช คำเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ มกราคม 2543) ISBN 974-472-262-2
- ↑ "อัศจรรย์โลกใต้น้ำตอนที่ 5". ช่อง 7. 9 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-19. สืบค้นเมื่อ 9 January 2015.
- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ "Tobiko (Tobiuo)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-28. สืบค้นเมื่อ 2012-10-18.
- ↑ "สารคดีโลกหลากมิติ: เกาะกล้วยไม้". ไทยพีบีเอส. 21 October 2014. สืบค้นเมื่อ 22 October 2014.[ลิงก์เสีย]