ข้ามไปเนื้อหา

บลังกาแห่งกัสติยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บลานซ์แห่งคาสตีล)
บลังกาแห่งกัสติยา
พระราชินีแห่งฝรั่งเศส
ครองราชย์14 กรกฎาคม ค.ศ. 1223 – พฤศจิกายน ค.ศ. 1226
ราชาภิเษก6 กรกฎาคม ค.ศ. 1223
ประสูติ4 มีนาคม ค.ศ. 1188
ปาเลนเซีย ราชอาณาจักรกัสติยา
สิ้นพระชนม์27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1252 (64 พรรษา)
ฝังพระศพวิหารเมยบีส์ซง
พระสวามีพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส
พระบุตรพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส
รอแบต์ที่ 1 เคานต์แห่งอาทัวส์
อัลฟงซ์ เคานต์แห่งปัวติเยส์
นักบุญอิซาเบล
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งเนเปิลส์
ราชวงศ์ราชวงศ์บูร์กอญของกัสติยา
พระบิดาพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยา
พระมารดาเอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระราชินีแห่งกัสติยา

บลังกาแห่งกัสติยา (สเปน: Blanca de Castilla; ฝรั่งเศส: Blanche de Castille) เป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสองครั้งในช่วงรัชสมัยของพระโอรส พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 คือ ในช่วงวัยเยาว์ของกษัตริย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1226 ถึงปี ค.ศ. 1234 กับในช่วงที่กษัตริย์ไม่อยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1248 ถึงปี ค.ศ. 1252 พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่ปาเลนเซีย อาณาจักรกัสติยา ในปี ค.ศ. 1188 เป็นพระธิดาคนที่สามของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยากับเอเลนอร์แห่งอังกฤษ

ชีวิตช่วงแรก

[แก้]

ในวัยแรกรุ่น พระองค์เคยไปเยือนอารามซันตามาเรียลาเรอัลเดลัสอูเอกัสที่บิดามารดาเป็นผู้ก่อตั้ง[1] [2] หลายครั้ง ผลจากการทำสนธิสัญญาเลอกูแลระหว่างพระเจ้าฟิลิปออกุสตุสกับพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ทำให้พระเชษฐภคินีของบลังกา อูร์รากา ถูกจับหมั้นหมายกับหลุยส์ พระโอรสของพระเจ้าฟิลิป อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน พระอัยกีของสองพี่น้อง หลังจากที่ได้เจอสองพี่น้องก็มองว่าอุปนิสัยของบลังกานั้นเหมาะที่จะเป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งฝรั่งเศสมากกว่า ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1200 เอเลนอร์จึงพาบลังกาข้ามเทือกเขาพิรินีมาส่งที่ฝรั่งเศสแทน[2]

การแต่งงาน

[แก้]

วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1200 สนธิสัญญาได้รับการลงนามในท้ายที่สุด พระเจ้าจอห์นยกที่ดินศักดินาอีซูดงกับกราแซและที่ดินในครอบครองของอ็องเดร เดอ โชวีญี ลอร์ดแห่งชาโตรูในแบรีซึ่งเป็นของราชบัลลังก์อังกฤษให้ไปพร้อมกับหลานสาว การแต่งงานได้รับการเฉลิมฉลองในวันถัดมาที่ปอร์-มอร์บนที่ราบลุ่มทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซน ซึ่งอยู่ในดินแดนของพระเจ้าจอห์น เนื่องจากพระเจ้าฟิลิปต้องโทษต้องห้าม[3] บลังกาพระชนมายุ 12 พรรษา ส่วนหลุยส์พระชนมายุมากกว่าพระองค์เพียงพรรษาเดียว จึงต้องรออีกสองสามปีกว่าการแต่งงานจะถูกทำให้สมบูรณ์ บลังกามีพระโอรสธิดาคนแรกในปี ค.ศ. 1205[2]

ในช่วงการก่อกบฏต่อต้านพระเจ้าจอห์นของบารอนอังกฤษในปี ค.ศ. 1215–1216 การเป็นพระนัดดาในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ของบลังกาทำให้หลุยส์ได้รับการเสนอให้ครองบัลลังก์อังกฤษในนามพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แต่เมื่อพระเจ้าจอห์นสิ้นพระชนม์ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1216 กลุ่มบารอนกลับแปรพักตร์หันไปจงรักภักดีต่อพระโอรสของพระเจ้าจอห์น พระเจ้าเฮนรีวัย 9 พรรษา

การสำเร็จราชการแทน

[แก้]

พระเจ้าฟิลิปสิ้นพระชนม์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1223 หลุยส์และบลังกาได้รับการสวมมงกุฎในวันที่ 6 สิงหาคม[4] หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าหลุยส์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1226 จากโรคบิด[5] บลังกาที่ตอนนั้นพระชนมายุ 38 พรรษากลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้พิทักษ์ของพระโอรสธิดา พระโอรสธิดาสิบสองหรือสิบสามคนของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วหกคน หลุยส์ผู้เป็นทายาทซึ่งต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา[3] พระองค์หาทางให้หลุยส์ได้รับการสวมมงกุฎภายในหนึ่งเดือนหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา และบีบบังคับให้บารอนที่ไม่ค่อยเต็มใจนักสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ สถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 สิ้นพระชนม์โดยที่ขุนนางทางใต้ยังไม่ได้จำนนต่อพระองค์เต็มร้อย ความเยาว์วัยของกษัตริย์ทำให้ราชวงศ์กาเปเซียงมีภัยมากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุน บลังกาปล่อยตัวแฟร์ดีน็อง เคานต์แห่งฟลานเดอส์ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ครั้งยุทธการที่บูวีน พระองค์ยกดินแดนและปราสาทให้ฟิลิปที่ 1 เคานต์แห่งบูลอญ พระโอรสของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 กับพระมเหสีผู้เป็นที่โต้แย้ง แอนเญ็สแห่งเมราเนีย[6]

บารอนคนสำคัญหลายคน นำโดยปีแยร์ โมแกลร์ก ไม่ยอมรับการราชาภิเษกของกษัตริย์น้อย หลังการราชาภิเษกไม่นาน บลังกากับหลุยส์เดินทางไปตอนใต้ของปารีสและเกือบถูกจับกุมตัว บลังกาอ้อนวอนประชาชนของปารีสให้ปกป้องกษัตริย์ พลเมืองเรียงตัวบนถนนเพื่อคุ้มกันพระองค์ขณะที่ทรงเดินทางกลับไป

บลังกาตั้งกองทัพขึ้นมาโดยมีตีโบที่ 4 แห่งช็องปาญกับโรมาโน โบนาเวนตูรา ผู้แทนพระสันตะปาปาในฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือ การจัดตั้งกองทัพอย่างกะทันหันทำให้กลุ่มขุนนางชะงักกลางคัน บลังการวบรวมกองทัพขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของราชวงศ์กาเปเซียงจากขุนนางที่เป็นกบฏและพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษเป็นจำนวนสองครั้ง บลังกาทำการโจมตีอย่างเหนือความคาดหมายในฤดูหนาว ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1229 พระองค์นำกองทัพเข้าโจมตีโมแกลร์กและบีบให้กลุ่มขุนนางยอมรับกษัตริย์ พระองค์ร่วมเดินทางไปกับกองทัพและช่วยเก็บฟืนมาสร้างความอบอุ่นให้เหล่าทหาร[7] แต่ใช่ว่าทุกคนจะพอใจการบริหารปกครองของพระองค์ ศัตรูของพระองค์เรียกพระองค์ว่า "ดามแอร์ซ็อง" (หมาป่าในนิทานเรื่อง รอม็องเดอเรอนาร์)[4]

การสำเร็จราชการแผ่นดินครั้งที่สองและการสิ้นพระชนม์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1248 บลังกากลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้งในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ไปทำสงครามครูเสด โครงการที่พระองค์ต่อต้านอย่างหัวชนฝา ทรงล้มป่วยที่เมอเลิงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1252 และถูกพาตัวมาปารีส แต่มีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน[3] ทรงถูกฝังที่วิหารโมบุยซงที่พระองค์เองเป็นผู้ก่อตั้ง พระเจ้าหลุยส์ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ในฤดูใบไม้ผลิที่ตามมาและถูกกล่าวถึงว่าไม่ทรงพูดจากับใครเป็นเวลาสองวันหลังจากนั้น[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Shadis 2010, p. 40-41.
  2. 2.0 2.1 2.2 Wheeler & Parsons 2002, p. 192-193.
  3. 3.0 3.1 3.2 One or more of the preceding sentences incorporates text from a publication now in the public domain: Footnote: Besides the works of Joinville and William of Nangis, see: Élie Berger, "Histoire de Blanche de Castille, reine de France," in Bibliothèque des écoles françaises d'Athènes et de Rome, vol lxx. (Paris, 1895) Le Nain de Tillemont, "Vie de Saint Louis," ed. by J. de Gaulle for the Société de l'histoire de France (6 vols., 1847-1851) Paulin Paris, "Nouvelles recherches sur les mœurs de la reine Blanche et de Thibaud," in Cabinet historique (1858).
  4. 4.0 4.1 "Blanche of Castile, queen of France", Epistolae, Columbia University
  5. Gies & Gies 1978, p. 103.
  6. Weiler et al. 2007, p. 53.
  7. Abulafia 1999, p. 286-287.
  8. Bradbury 2007, p. 213.