นิคอน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ประเภท | หุ้นส่วนจำกัด TYO: 7731 |
---|---|
ISIN | JP3657400002 |
อุตสาหกรรม | การถ่ายภาพ |
ก่อตั้ง | โตเกียว ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1917) |
สำนักงานใหญ่ | โตเกียว ญี่ปุ่น |
บุคลากรหลัก | มะโกะโตะ คิมุระ (ประธานคณะกรรมการ) คะซุโอะ อุชิดะ (ประธานบริษัท) |
ผลิตภัณฑ์ | กล้องถ่ายภาพ กล้องจุลทรรศน์ เลนส์ แว่นสายตา |
รายได้ | 857.8 พันล้านเยน (ค.ศ. 2015)[1] |
พนักงาน | 25,415 คน (31 มีนาคม ค.ศ. 2015)[1] |
เว็บไซต์ | Nikon Global Gateway |
นิคอน คอร์ปอเรชัน (ญี่ปุ่น: 株式会社ニコン; โรมาจิ: Kabushiki-gaisha Nikon) เป็นบริษัทอุปกรณ์ทางด้านภาพในญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทนี้ ได้แก่ กล้องถ่ายภาพ กล้องส่องทางไกล กล้องจุลทรรศน์ อุปกรณ์การวัด รวมถึงแว่นสายตา ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2460 โดยใช้ชื่อ นิปปง โคงะกุ โคเงียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อในปัจจุบัน ปัจจุบันนิคอน คอร์ปอเรชัน เป็นบริษัทหนึ่งในเครือ มิตซูบิชิ กรุ๊ป
ประวัติ
[แก้]เริ่มต้นจาก บริษัท นิปปง โคงะกุ โคเงียว (ญี่ปุ่น: 日本光学工業株式会社; โรมาจิ: Nippon Kōgaku Kōgyō) ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Japan Optical Co. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) โดยเป็นการรวมตัวของบริษัทเล็ก ๆ 3 บริษัทที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับสายตาหรือการมองเห็น บริษัทเริ่มเดินสายพานการผลิตด้วยคนงานเพียง 200 คน และช่างเทคนิคชาวเยอรมันอีก 8 คน และในสายพานการผลิตของบริษัทในขณะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพเลยแม้แต่น้อย แต่สินค้าที่ทางบริษัทผลิต คือ กล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทัศน์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและใช้ในการกะวัดระยะสำหรับใช้ในทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม สินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัท เลนส์เป็นสินค้าอีกชิ้นหนึ่งที่ทำชื่อเสียงให้ทางบริษัทและได้ผลิตออกมาหลายรุ่นมากตั้งแต่เลนส์ 50 mm. ถึง 700 mm.
ปี ค.ศ. 1932 "Nikor" ก็ได้ถูกใช้เป็นตราสินค้าของเลนส์ที่บริษัทผลิตขึ้น และปี ค.ศ. 1937 - 1947 นิคอนสามารถคิดค้นเลนส์ 50 mm. F/4.5,F/3.5 และ F/2.0 ได้สำเร็จแต่เลนส์เหล่านี้ก็ยังเป็นอุปกรณ์ของกล้องแคนอน รุ่น Hansa และนิคอนได้ผลิตเลนส์เรื่อยมาจนกระทั่งได้ถูกรับเลือกให้เป็นผู้ผลิตเลนส์ให้แก่กล้องไลก้า เมื่อถึงช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรัฐบาลได้เลือกบริษัท ให้เป็นผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อใช้ในสงคราม เช่น กล้องส่องทางไกล เลนส์ติดลำกล้องปืน ที่เล็งระเบิด กล้องเรือดำน้ำ เป็นต้น เนื่องจากความต้องการใช้ยุทโธปกรณ์เหล่านี้เป็นจำนวนมากในสงคราม ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทุ่มงบประมาณมาสนับสนุนบริษัท ทำให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด บริษัทได้สร้างโรงงานเพิ่มเป็น 19 โรงงาน และจ้างคนงานเพิ่มเป็น 23,000 คน แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดญี่ปุ่นแพ้สงคราม ความจำเป็นในการใช้ยุทโธปกรณ์จึงหมดไป รัฐบาลจึงหยุดสนับสนุนบริษัททำให้ต้องปิดโรงงาน เหลือเพียงโรงงานเดียวและปลดคนงานให้เหลือเพียง 1,400 คน ทางบริษัทก็ได้หันกลับมาผลิต สินค้าจำพวกกล้องจุลทรรศน์ เหมือนเดิม
ในปี ค.ศ. 1945 บริษัทได้ตัดสินใจผลิตกล้องถ่ายรูปโดยใช้ตราสินค้าของตัวเองเสียที หลังจากที่ได้ผลิตอุปกรณ์ให้กับบริษัทอื่นมานาน ดังนั้นบริษัทได้ทำการวิจัยกล้อง 6x6 TLR และกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ขนาด 35 mm. แต่เมื่อทำการวิจัยได้พบว่ากล้อง 6x6 TLR กำลังเสื่อมความนิยมลงจึงล้มเลิกโครงการ แต่นขณะเดียวกัน กล้อง 35 mm. กำลังมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น บริษัทจึงได้ทำการวิจัยต่อ และเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1946 กล้อง 35 mm. ตัวแรกได้ผลิตขึ้นสำเร็จ บริษัทจึงได้ใช้ตราสัญลักษณ์ว่า “NIKON” กล้องรุ่นแรกที่นิคอนผลิตขายคือรุ่น The Model One แต่กล้องรุ่นนี้ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะนับเวลาจากที่ออกวางขายถึง 2 ปี กว่าที่กล้องจะติดตลาด แต่กล้องก็ไม่ได้รับความสนใจหรือมีชื่อเสียงโด่งดังเท่าที่ควร สาเหตุก็คือทุกอย่างของกล้องเป็นการรวมเอาสิ่งที่นิคอนคิดว่าดีที่สุดของกล้องไลก้าและคอนแทกซ์ มารวมกัน
นิคอนในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทย หลังจากยกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายรายเดิม บริษัท นิคอนเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทแม่ ได้จัดตั้งและเข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่ายรวมทั้งให้บริการหลังการขาย นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตกล้องและเลนส์อยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งนับเป็นโรงงานผลิตกล้อง SLR และ DSLR แห่งแรกของนิคอนที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Annual Report 2015" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). Nikon corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-05. สืบค้นเมื่อ 2015-10-03.