ข้ามไปเนื้อหา

เซบาสเตียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นักบุญเซบาสเตียน)
เซบาสเตียน
มรณสักขี
เกิดไม่ทราบแน่นอน
เสียชีวิต20 มกราคม ค.ศ. 287
นิกายโรมันคาทอลิก

อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์
วันฉลอง20 มกราคม (โรมันคาทอลิก)
18 ธันวาคม (อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์)
สัญลักษณ์ลูกศร
องค์อุปถัมภ์ทหาร, โรคติดต่อ, ลูกศร, นักกีฬา, วัยรุ่น

นักบุญเซบาสเตียน (อังกฤษ: St. Sebastian) เสียชืวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 287 เป็นนักบุญมรณสักขีในศาสนาคริสต์สมัยจักรพรรดิไดโอคลีเชียนแห่งจักรวรรดิโรมัน รูปปั้นหรือรูปเขียนของนักบุญเซบาสเตียนจะเป็นรูปคนถูกมัดกับต้นไม้มีลูกศรปัก

ชีวิต

[แก้]

รายละเอียดชีวิตของนักบุญเซบาสเตียนเขียนไว้เป็นครั้งแรกโดยนักบุญแอมโบรสแห่งมิลาน ในบทเทศนาหมายเลข 20 ของเพลงสดุดีที่ 118 แอมโบรสกล่าวว่าเซบาสเตียนมาจากมิลาน และเป็นที่นับถือกันแล้วเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4

จากเอกสาร “กิจการของนักบุญ” (Acta Sanctorum) ที่เขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 [1]ซึ่งยังอ้างข้อเขียนของนักบุญแอมโบรสโดยจีน บอลแลนด์ (Jean Bolland) นักเขียนชีวประวัตินักบุญและจากตำนานทองกล่าวว่านักบุญเซบาสเตียนเป็นชาวแกลเลีย นาร์โบเนนซิส (Gallia Narbonensis) และมาศึกษาที่เมืองมิลานจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชองครักษ์ของจักรพรรดิไดโอคลีเชียนและจักรพรรดิแม็กซิมิลเลียนผู้ซึ่งไม่ทราบว่าเซบาสเตียนนับถือศาสนาคริสต์

เล่ากันว่าเซบาสเตียนย้ำความเชื่อมั่นในศาสนากับมาร์คและมาร์เซลเลียนสองนักโทษที่กำลังจะถูกฆ่าพลีชีพ ขณะที่ญาติพี่น้องที่มีความเศร้าโศกพยายามอ้อนวอนให้นักโทษทั้งสองคนเลิกยอมรับพระเยซู นอกจากนั้นเซบาสเตียนก็ยังรักษาหญิงไบ้และเหตุอัศจรรย์นี้ทำให้มีคน 78 คนหันมานับถือคริสต์ศาสนา

มาร์คและมาร์เซลเป็นฝาแฝดเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง ทั้งสองคนมีภรรยาและมีครอบครัวที่เป็นหลักเป็นฐานอยู่ที่โรมกับบุตรและภรรยา สองพึ่น้องปฏิเสธไม่ยอมทำพิธีบูชาเทพเจ้าโรมันจึงถูกโดนจับ ทรานควิลลินุสและมาชาผู้เป็นพ่อและแม่มาเยื่ยมในคุกและพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกเลิกนับถือคริสต์ศาสนา เซบาสเตียนกลับเปลี่ยนใจให้ทั้งทรานควิลลินุสและมาชามานับถือคริสต์ศาสนา พร้อมกับนักบุญไทเบอร์เทียสผู้เป็นลูกของโครมาเทียสผู้เป็นนายทหารที่นั่น นิโคสตราตัสเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งและโซอีผู้ภรรยาก็ทำตาม ตามตำนานโซอีเป็นไบ้มา 6 ปึแต่นางก็บอกความประสงค์แก่เซบาสเตียนว่าต้องการจะนับถือคริสต์ศาสนา และทันที่ที่มานับถือโซอีก็พูดได้ นิโคสตราตัสจึงนำนักโทษที่เหลืออีก 16 คนมาให้เซบาสเตียนเปลี่ยนให้นับถือคริสต์ศาสนา[2]

โครมาเทียสและไทเบอร์เทียสเมื่อเปลี่ยนศาสนาแล้วก็ปล่อยนักโทษหมดและตนเองก็ลาออกจากราชการไปอยู่ที่บริเวณแคมพานยา มาร์ค และ มาร์เซลเลียนเมื่อแรกก็ซ่อนตัวกับนักบุญกัสตูลุส (Castulus) ผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ต่อมาก็ถูกฆ่าพลีชีพพร้อมด้วยนิโคสตราตัส, โซอี และไทเบอร์เทียส

การพลีชีพ

[แก้]

จักรพรรดิไดโอคลีเชียนมึความรู้สึกว่าเซบาสเตียนทรยศต่อพระองค์จึงทรงสั่งให้เอาตัวไปผูกไว้กับตอไม้และยิงให้ตาย นักยิงธนูก็ยิงเซบาสเตียนจนปรุราวกับเม่นที่เต็มไปด้วยขนแข็ง[3]และปล่อยให้ตาย แต่ด้วยความมหัศจรรย์เซบาสเตียนก็ไม่ตาย นักบุญไอรีนแห่งโรมผู้เป็นแม่หม้ายของนักบุญแคสตูลุสจะนำร่างของเซบาสเตียนไปฝังแต่กลับพบว่าเซบาสเตียนยังมีลมหายใจอยู่ นักบุญไอรีนจึงนำเซบาสเตียนกลับมาที่บ้านและรักษาจนหาย ผู้อาศัยอยู่ในบ้านก็มีความเคลือบแคลงในความเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนาของเซบาสเตียน ในบรรดาผู้มีความสงสัยก็มีเด็กหญิงที่หูหนวกและตาบอด เซบาสเตียนก็ถามว่าเด็กว่าอยากจะไปอยู่กับพระเป็นเจ้าหรือไม่และทำเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผากของเด็กหญิง ๆ ก็ตอบตกลง ในทันทีที่ตอบเด็กหญิงคนนั้นก็สามารถมองเห็น แล้วเซบาสเตียนก็ยืนขึ้นกล่าวเยาะเย้ยจักรพรรดิไดโอคลีเชียนขณะที่ทรงผ่าน พระองค์จึงสั่งให้เอาเซบาสเตียนไปทุบตีจนตายแล้วเอาร่างโยนลงไปในส้วม แต่เซบาสเตียนมาปรากฏตัวต่อนักบุญไอรีนบอกที่ที่จะพบร่างของท่านที่ไม่มีรอยเปื้อนสิ่งโสโครกและสั่งให้เอาร่างไปฝังไว้ที่สุสานรังผึ้งใกล้กับที่ฝังอัครทูต

ร่างของนักบุญเซบาสเตียน

[แก้]

กล่าวกันว่าร่างของนักบุญเซบาสเตียนอยู่ที่โรมที่มหาวิหารอโพสโตโลรุมที่สร้างโดยสมเด็จพระสันตะปาปาดามาซุสที่ 1 เมื่อ ค.ศ. 367 บนที่ที่เป็นที่ฝังศพของนักบุญซีโมนเปโตรและนักบุญเปาโลอัครทูต ปัจจุบันมหาวิหารนี้ชื่อว่า “San Sebastiano fuori le mura” สร้างใหม่เมื่อราว ค.ศ. 1610 โดยทุนจากชีปีโอเน บอร์เกเซ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Acta S. Sebastiani Martyris, in J.P. Migne, Patrologiae Cursus Completus Accurante (Paris 1845), XVII, 1021-1058; the details given here follow the abbreviated account in Jacob de Voragine, Legenda Aurea.
  2. Ebenezer Cobham Brewer, A Dictionary of Miracles: Imitative, Realistic, and Dogmatic (Chatto and Windus, 1901), 11.
  3. Legenda Aurea

ดูเพิ่ม

[แก้]