ถ้ำฝาโถ
ถ้ำฝาโถ อยู่เลยถัดมาไม่ห่างจากถ้ำฤๅษีมากนัก สามารถเดินเท้าได้ ด้านในพบพระพุทธรูปนอนผินเศียรไปทางทิศใต้ มีประภามณฑลประดับด้วยลวดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสลับด้วยลายก้านขดสองชั้น เหนือพระเศียรขึ้นไปเป็นลายปูนปั้นรูปต้นสาละที่ประดับด้วยผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ ด้านบนปรากฏรูปเทพชุมนุมประมาณ 6-8 องค์ ใบหน้ายิ้ม ริมฝีปากหนา สวมกุณฑลวงใหญ่ จากลักษณะดังกล่าว พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะเป็นรูปพระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน
ผนังด้านตรงข้ามมีภาพสาวก 2-3 องค์ ยืนไขว้แขนทั้งสองข้างไว้ที่หน้าอกแสดงความเคารพ เช่นเดียวกับภาพพระวิษณุที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรีที่แสดงความเคารพด้วยการไขว้พระหัตถ์แนบไว้ที่พระอุระ อันเป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมโปรดเทพเจ้า
สันนิษฐานว่าภาพสาวกนี้น่าจะเป็นภาพที่แสดงเหตุการณ์หลังจากพระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระสาวกองค์อื่น ๆ ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าจากอาชีวก ผู้ถือดอกมณฑารพกันแดดสวนทางมา จึงได้ไต่ถามข้อเท็จจริง จึงทราบว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะจึงปลงสังเวชดังพุธประวัติปฐมโพธิกฐา กล่าวว่า
พระภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อได้ฟังข่าวร้ายนั้นก็ตกใจ ต่างพากันร่ำไห้เสียใจรำพันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนท่านที่เป็นอรหันต์หมดกิเลสแล้วก็มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นความโศกเศร้าได้แล้วก็ปลงสังเวช ดังนั้น ภาพดังกล่าวจึงน่าจะเป็นพระสาวกอันหมายถึงพระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยสาวกที่ปลงธรรมสังเวช คราวเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว
อ้างอิง
[แก้]บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |