ข้ามไปเนื้อหา

อันดับลิ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตัวนิ่ม)
อันดับลิ่น
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 12.9–0Ma สมัยไมโอซีนตอนกลาง-ปัจจุบัน
ลิ่นจีน (Manis pentadactyla)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นฐาน: Eutheria
อันดับใหญ่: Laurasiatheria
อันดับ: Pholidota
Weber, 1904
วงศ์: Manidae
Gray, 1821
สกุล: Manis
Linnaeus, 1758
ชนิด
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

ลิ่น หรือ นิ่ม หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตัวลิ่น หรือ ตัวนิ่ม จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อยู่ในอันดับ Pholidota จัดเป็นสัตว์ที่มีเพียงวงศ์เดียวในปัจจุบัน คือ Manidae และสกุลเดียว คือ Manis

ลิ่นเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาร์มาดิลโล หรือ สัตว์ที่อยู่ในอันดับ Cingulata ที่พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ขณะที่ลิ่นจะพบได้ที่ทวีปเอเชียและแอฟริกา

ลิ่นทุกชนิดจะมีส่วนหน้าที่ยาว มีปากขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ไม่มีฟัน กินอาหารโดยการใช้ลิ้นที่ยื่นยาวและน้ำลายที่เหนียวตวัดกินแมลงตามพื้นดิน จำพวก มดและปลวกหรือหนอนขนาดเล็ก และมีลำตัวที่ปกคลุมด้วยเกล็ดเป็นชิ้น ๆ เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เหมือนชุดเกราะเพื่อใช้ในการป้องกันตัว เมื่อถูกรุกรานลิ่นจะลดลำตัวเป็นวงกลม ขณะที่ส่วนท้องจะไม่มีเกล็ด ซึ่งจะถูกโจมตีได้ง่าย

ลิ่นมีเล็บที่แหลมคมและยื่นยาว ใช้สำหรับขุดพื้นดินหาอาหารและขุดโพรงเป็นที่อยู่อาศัยและพักผ่อน และปีนต้นไม้ เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน

ลิ่นออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนานราว 130 วัน เมื่อแรกเกิด ลูกลิ่นจะมีเกล็ดติดตัวมาตั้งแต่เกิด และจะเกาะกับแม่ตรงบริเวณโคนหาง ซึ่งลูกลิ่นวัยอ่อนจะยังไม่มีเกล็ดแข็งเหมือนกับลิ่นวัยโต แต่จะค่อย ๆ แข็งขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโต[2]

ลิ่นมีทั้งหมด 8 ชนิด (ดูในตาราง) กระจายพันธุ์ไปในทวีปแอฟริกาและเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบ 2 ชนิด คือ ลิ่นซุนดา หรือ ลิ่นชวา (M. javanica) ที่พบได้ทั่วไปทุกภาค กับลิ่นจีน (M. pentadactyla) ที่มีรายงานการพบเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ซึ่งมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่า หางสั้นกว่า และมีสีที่คล้ำกว่า[3]

ลิ่นซุนดา ในปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าที่นิยมอย่างมากในการรับประทานในหมู่ของผู้ที่นิยมรับประทานสัตว์ป่าหรือของแปลก ๆ โดยมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท หากตัวไหนที่มีน้ำหนักมากอาจมีราคาสูงถึง 3,500 บาท ทำให้มีการลักลอบค้าตัวลิ่นอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นต้น และในความเชื่อของชาวจีน เชื่อว่า เกล็ดของลิ่นช่วยในการรักษาโรคกระเพาะ[4]

โดยผู้ที่เข้าป่าหาตัวลิ่นจะใช้สุนัขดมกลิ่นตามล่า หากลิ่นปีนขึ้นต้นไม้ ก็จะใช้การตัดต้นไม้ต้นนั้นทิ้งเสีย โดยการค้าตัวลิ่นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะลิ่นไม่ว่าชนิดไหน ในประเทศไทย ถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และมีกฎหมายคุ้มครองระหว่างประเทศอีกด้วย ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุก 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ [5]

ซึ่งคำว่า "Pangolin" ซึ่งเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เรียกลิ่นนั้น มาจากภาษามลายูคำว่า Peng-goling แปลว่า "ไอ้ตัวขด"[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
  2. "ตัวนิ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-07. สืบค้นเมื่อ 2012-01-05.
  3. กองทุนสัตว์ป่าโลก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2543) ISBN 974-87081-5-2
  4. Untamed China with Nigel Marven, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
  5. บุญเลิศ ชายเกตุ, ตัวนิ่ม สัตว์ป่าราคาแพง...วันนี้เสี่ยงสูญพันธุ์ นักเปิบยังนิยม'ขบวนการซื้อขาย'ไม่เข็ดขยาดกฎหมาย เดลินิวส์ หน้า 12: วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 2 ปีเถาะ
  6. ลิ่นหรือนิ่ม จากข่าวสด

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]