ข้ามไปเนื้อหา

ดาบปลายปืน เอ็ม 9

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ดาบปลายปืน M9)
ดาบปลายปืนเอ็ม 9 และฝักดาบ

ดาบปลายปืนรุ่น เอ็ม 9 (M9) เป็นมีดอเนกประสงค์และดาบปลายปืน นำมาใช้โดยสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 (1984) มันมีฝักดาบที่มีลักษณะพิเศษโดยสามารถนำไปใช้เป็นตัวตัดลวดได้ ผู้ที่ประดิษฐ์และพัฒนาดาบปลายปืนนี้คือชารล์ส เอ. "มิคกี้" ฟินน์ (Charles A. "Mickey" Finn) ภายใต้สังกัดของบริษัทวิจัยและพัฒนาของเขาเองบริษัทควาล-เอ-เท็ค (Qual-A-Tec) ซึ่งต่อมาเขาได้ทำการผลิตดาบปลายปืนรุ่นนี้ภายใต้สังกัดของโฟรบิสทรี (Phrobis III) เมื่อกองทัพได้ทำสัมปทานให้ทำการผลิตดาบปลายปืนรุ่นนี้ออกมา 325,000 เล่ม ส่วนบริษัทผู้ผลิตดาบปลายปืนรุ่นนี้ในเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเองคือบริษัทบัคไนฟ์ (Buck Knife Company) นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบดาบปลายปืน เอ็ม 9 หรือมีดรุ่นบัคมาสเตอร์ (Buckmaster) ซึ่งเป็นรุ่นต่อมาของเอ็ม 9 เลย โดยที่มีดและดาบปลายปืนทุกรุ่นนั้นถูกออกแบบโดยตัวผู้ประดิษฐ์ดั้งเดิมหรือมิคกี้ ฟินน์นั่นเอง ดาบปลายปืนเอ็ม 9 ภายใต้การออกแบบของฟินน์นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก และทำให้ถูกนำไปการลอกเลียนแบบอย่างแพร่หลายในประเทศอื่นๆ ซึ่งในเวลาต่อมาการลอกเลียนแบบเหล่านี้ผิดกฎหมาย หลังจากที่ฟินน์ได้ทำการจดสิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข #4622707 ซึ่งช่วยหยุดวงจรการผลิตมีดลอกเลียนแบบได้บางส่วน แต่ยังคงมีการลอกเลียนแบบอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งในบางประเทศก็มีการขายมีดลอกเลียนแบบนี้อย่างถูกกฎหมาย

หลังจากที่สัมปทานในการผลิตดาบปลายปืนระหว่างโฟรบิสทรีกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลง สิทธิทางปัญญาของแบบดาบปลายปืนรุ่นนี้ก็ตกเป็นของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งได้มอบสิทธิ์ให้กับหลายบริษัทในการผลิตมีดรุ่นแปลงมาจากเอ็ม 9 หลายต่อหลายรุ่นด้วยกัน ดาบปลายปืนเอ็ม 9 ถือว่าเป็นอาวุธประจำการของกองทัพบกสหรัฐฯ (รวมถึงสังกัดทางหหารส่วนอื่นด้วย แต่ไม่รวมไปถึงนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ) และกองทัพในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีดรุ่นนี้ยังถูกนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์อีกด้วย

ในบรรดารุ่นที่มีแบบมาจากเอ็ม 9 ที่ถูกผลิตขึ้น บางรุ่นจะมีร่องดาบ (หรือฟุลเลอร์ - Fuller พิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติทำให้เลือดที่มาจากการทิ่มแทงไหลออกไปได้โดยง่าย) แต่ในบางรุ่นจะไม่มี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานในการผลิตดาบปลายปืนในล็อตหนึ่งๆ และสเป็คที่ทางกองทัพได้กำหนดมาให้ในขณะนั้น ดาบปลายปืนเอ็ม 9 นั้นแต่เดิมถูกผลิตมาเพื่อแทนที่ดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 6 (M6) และเอ็ม 7 (M7) ซึ่งได้เข้าเป็นอาวุธประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 (1957) และ 2507 (1964) ตามลำดับ แต่ต่อมาพบว่ามันได้เข้าแทนที่อาวุธประจำการในบางสังกัดเท่านั้น ทั้งนี้ทหารส่วนมากเลือกที่จะยังคงใช้ดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 7 เนื่องจากดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 9 นั้นหักและชำรุดได้ง่ายกว่าดาบปลายปืนรุ่นก่อนมาก เพราะใบมีดที่มีลักษณะค่อนข้างบาง และมีคุณภาพแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานในการผลิต

ตัวอย่างของดาบปลายปืนรุ่นต่อมาที่ถูกดัดแปลงมาจากดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 9 ได้แก่ดาบปลายปืนรุ่น เอ็ม 11 อีโอดี (M11 EOD - Explosive ordnance disposal) ซึ่งถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อใช้ในการกำจัดวัตถุระเบิด ซึ่งมีส่วนประกอบพิเศษเพิ่มเข้ามาเช่นหัวกลมที่ด้ามดาบที่ใช้แทนค้อนได้ แต่ดาบปลายปืนรุ่นนี้ยังคงใช้ใบมีดและฝักดาบเหมือนกับเอ็ม 9

บริษัทผู้ผลิตดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 9 หลักๆ นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 บริษัทได้แก่บริษัทผู้รับสัมปทานของผู้ผลิตดั้งเดิมคือบริษัทโฟรบิส, บริษัทที่ได้รับสัมปทานมาจากโฟรบิสอีกทีในระหว่างช่วงรับสัมปทานแรกคือบริษัทบัค, บริษัทแลนเคย์ (LanCay) และบริษัทออนตาริโอ (Ontario) โดยที่บริษัทผู้ออกแบบคือบริษัทควาล-เอ-เท็ค โดยบริษัทนี้ได้ทำการก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อทำสัมปทานกับรัฐบาลสหรัฐฯ อีกที คือบริษัทโฟรบิสนั่นเอง สัมปทานเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2530 (1987) ในขณะนั้นโฟรบิสได้ส่งมอบสัมปทานให้กับบริษัทบัคอีกทีหนึ่งก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2532 (1989) โดยในขณะเดียวกันนั้น บริษัทบัคก็ได้นำมีดเอ็ม 9 มาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งก็จำหน่ายมาโดยตลอดจนถึง พ.ศ. 2540 (1997)

บริษัทแลนเคย์เป็นผู้รับช่วงต่อสัมปทานเป็นบริษัทแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 โดยรับช่วงต่อจากบริษัทบัคในการผลิตมีด 30,000 เล่ม (กลายเป็น 50,000 เล่มในเวลาต่อมา โดยมีบริษัทเจเนอรัลคัทเลอรี - General Cutlery เป็นบริษัทรับสัมปทานต่อมาอีกที) ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 (1994) ได้มีการทำสัมปทานขึ้นมาอีกฉบับ โดยให้ทำการผลิตดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 9 ขึ้นมาอีก 100,000 เล่ม ในปี พ.ศ. 2542 (1999) สัมปทานอีกฉบับได้ออกมา โดยในฉบับนี้ได้แบ่งการผลิตดาบปลายปืน 25,000 เล่มให้กับสองบริษัทได้แก่บริษัทแลนเคย์และบริษัทออนตาริโอ (แบ่งการผลิตบริษัทละ 12,500 เล่ม) ต่อมาบริษัทออนตาริโอไนฟ์ (Ontario Knife Company) ก็ได้เป็นบริษัทรับผู้สัมปทานในสัมปทานหลายๆ สัมปทานมาจนถึงปัจจุบัน (รวมถึงสัมปทานปัจจุบันใน พ.ศ. 2548 ด้วย)

ส่วนในประเทศไทย การจำหน่ายมีดรุ่นนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่การพกพาในที่สาธารณะนั้นผิดกฎหมาย ฉะนั้น จึงพบมีดรุ่นนี้จำหน่ายอยู่ในตลาดมืด และตามอินเทอร์เน็ตเสียเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยพบเห็นตามร้านค้าที่ขายอาวุธไว้สะสม ส่วนในกองทัพบกไทย ยังคงใช้ดาบปลายปืนรุ่นเอ็ม 7 เป็นดาบปลายปืนให้กับปืนเล็กยาวเอ็ม 16 เอ 1 (M16A1) อยู่

ลักษณะ, คุณสมบัติและประวัติโดยสังเขป

[แก้]
  • ดาบปลายปืนและมีดอเนกประสงค์เอ็ม 9 สามารถนำเข้าไปเชื่อมต่อกับปืนไรเฟิลรุ่นเอ็ม 16และคาร์ไบน์รุ่นเอ็ม 4 คาร์บินเพื่อเป็นดาบปลายปืน
  • เอ็ม 9 ยังสามารถนำไปใช้เป็นอาวุธพกประจำกาย และยังสามารถนำไปเป็นมีดสารพัดประโยชน์ทั่วไปอีกด้วย
  • ฝักดาบปลายปืนเอ็ม 9 สามารถนำไปใช้เป็นที่ตัดลวดและใช้แทนเลื่อยเล็กๆ ได้
  • เอ็ม 9 ยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับปืนลูกซองมอสเบิร์ก (Mossberg) รุ่น 500/590 เป็นดาบปลายปืนได้อีกด้วย
  • ดาบปลายปืนและมีดอเนกประสงค์เอ็ม 9 ได้อยู่ในรายการอาวุธประจำการของกองทัพบกสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 (1987)
  • เอ็ม 9 มีใบมีดยาว 7 นิ้ว 14 ซม.) และมีความยาวทั้งหมด 12 นิ้ว (0.3 เมตร)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]