ฌ็อง-ตอมา อารีกี เดอ กาซานอวา
ฌ็อง-ตอมา อารีกี เดอ กาซานอวา | |
---|---|
ฌ็อง-ตอมา อารีกี เดอ กาซานอวา | |
เกิด | 08 มีนาคม ค.ศ. 1778 กอร์เต, ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 22 มีนาคม ค.ศ. 1853 ปารีส, ฝรั่งเศส | (75 ปี)
รับใช้ | ฝรั่งเศส |
ประจำการ | ค.ศ. 1796–1814 |
ชั้นยศ | ผู้บัญชาการกองพล |
บังคับบัญชา | ทหารม้า, ทหารราบ |
การยุทธ์ | |
บำเหน็จ | ดุกเดอปาดู |
ความสัมพันธ์ | ญาติเขยของนโปเลียน โบนาปาร์ต |
งานอื่น | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา ผู้บัญชาการออแตลเดแซ็งวาลีด (ค.ศ. 1852–1853) |
ฌ็อง-ตอมา อารีกี เดอ กาซานอวา (ฝรั่งเศส: Jean-Thomas Arrighi de Casanova) หรือที่บางแหล่งระบุชื่อว่า ฌ็อง-ตูแซ็ง อารีกี เดอ กาซานอวา (Jean-Toussaint Arrighi de Casanova; เกิดวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1778 ในกอร์เต; เสียชีวิตวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1853 ในปารีส) เป็นนักการทูตและทหารฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1840 อารีกีเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภาฝรั่งเศส เขาเป็นญาติเขยของนโปเลียน โบนาปาร์ต[1]
ชีวิตทหาร
[แก้]อารีกีเกิดที่เมืองกอร์เตบนเกาะคอร์ซิกา เข้าเรียนในโรงเรียนทหารที่เมืองเรอแบใน ค.ศ. 1787 และเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เมืองปีซาก่อนจะกลับสู่คอร์ซิกาใน ค.ศ. 1796 อารีกีเป็นสามีของลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของนโปเลียน โบนาปาร์ต เขาได้รับตำแหน่งร้อยโทในกองทัพอิตาลีของฝรั่งเศสและได้ติดตามนโปเลียนโดยตรง ต่อมาเขาได้เป็นเลขานุการสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสในโรมในขณะที่โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ตดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่นั่น จากนั้นเขาได้กลับสู่ชีวิตทหารโดยร่วมรบกับนโปเลียนในการรบที่อิยิปต์ ได้รับบาดเจ็บในยุทธการที่อัศศอลฮียะฮ์ มีส่วนร่วมในการโอบล้อมเมืองจัฟฟาและเอเคอร์ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นร้อยเอก[1] ระหว่างการล้อมเมืองเอเคอร์ กระสุนปืนลูกหนึ่งเฉี่ยวหมวกนโปเลียนไปถูกอารีกีเข้าที่ลำคอและตัดหลอดเลือดแดง ศัลยแพทย์ดอมีนิก ฌ็อง ลาแร เชื่อว่าบาดแผลนั้นร้ายแรงถึงตาย ถึงกระนั้นก็ดูแลรักษาอารีกีและช่วยชีวิตเขาไว้ได้[2] อารีกีกลับสู่ฝรั่งเศสและร่วมรบในยุทธการที่มาเรงโก[1]
เมื่อนโปเลียนได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส อารีกีได้รับตำแหน่งเป็นนายพลทหารม้า อารีกีได้เข้ารบในหลายสมรภูมิ เช่น ยุทธการที่อัสเพิร์น-เอ็สลิง, ยุทธการที่วากรัม เป็นต้น
ในช่วงสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก นโปเลียนพ่ายแพ้และถูกกองทัพพันธมิตรโจมตีสวนกลับ ในยุทธการที่แฟร์-ช็องเปอนวซ เขาได้ร่วมทัพกับจอมพล โอกุสต์ เดอ มาร์มง แต่เนื่องจากกองทัพสหสัมพันธมิตรมีมาก ทำให้ต้องถอยร่นและร่วมมือกับจอมพลฝรั่งเศสคนอื่น ๆ เพื่อทำการปกป้องกรุงปารีส[1]
หลังสงครามนโปเลียน
[แก้]ใน ค.ศ. 1849 อารีกีได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎรจากเกาะคอร์ซิกาในสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสและต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือผู้บัญชาการออแตลเดแซ็งวาลีด[1]
การยกย่อง
[แก้]ชื่อของเขาปรากฏในประตูชัยกรุงปารีส[3] เขาได้รับเหรียญกล้าหาญเลฌียงดอเนอร์และเหรียญอิสริยาภรณ์แห่งรูเนียน ทางด้านบาวาเรียได้ให้เหรียญกล้าหาญแห่งมัคส์ โยเซ็ฟ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติยศของเขา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Fierro, Alfredo; Palluel-Guillard, André; Tulard, Jean - "Histoire et Dictionnaire du Consulat et de l'Empire”, Éditions Robert Laffont, ISBN 2-221-05858-5, p. 494–495
- ↑ Phipps 2011, p. 405.
- ↑ Mullié 1851, pp. 23–24.
บรรณานุกรม
[แก้]- Mullié, Charles (1851). Biographie des célébrités militaires des armées de terre et de mer de 1789 à 1850 (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 2010-02-07.
- Phipps, Ramsay Weston (2011) [1939]. The Armies of the First French Republic and the Rise of the Marshals of Napoleon I: The Armies of the Rhine in Switzerland, Holland, Italy, Egypt, and the Coup d'Etat of Brumaire (1797-1799). Vol. 5. Pickle Partners Publishing. ISBN 978-1-908692-28-3.