ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต
ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต หรือ ฟอสซิลที่มีชีวิต (อังกฤษ: Living fossil) หมายถึงสิ่งมีชีวิตใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ ฟังไจ หรือสาหร่าย ที่ยังคงโครงสร้างร่างกายหรือสรีระแบบบรรพบุรุษดั้งเดิมที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งตรวจสอบได้จากการนำไปเปรียบเทียบกับซากดึกดำบรรพ์ (fossil) หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก จะถูกจัดว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต
โดยบุคคลแรกที่ใช้ศัพท์คำนี้ คือ ชาลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวไว้ในหนังสือ The Origin of Species ที่ว่าถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของตนเอง ตอนหนึ่งได้พูดถึงตุ่นปากเป็ด และปลาปอดเอาไว้ว่า
ชนิดของสิ่งมีชีวิตใด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นชนิดอื่นที่เป็นที่รู้จักกันจากซากฟอสซิลและมีญาติที่อาศัยอยู่ใกล้กัน สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีชีวิตรอดจากเหตุการณ์สำคัญและโดยทั่วไปยังคงความหลากหลายทางอนุกรมวิธานขั้นต่ำอยู่ ชนิดที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ได้กลายเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็น "ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต"
— ชาร์ล ดาร์วิน The Origin of Species, หน้า 49
โดยชนิดของซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด และมีความฮือฮามากเมื่อถูกค้นพบ คือ ปลาซีลาแคนท์ ที่ถูกค้นพบเมื่อปลายปี ค.ศ. 1938 ที่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จากเดิมที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ตั้งแต่ยุคครีเทเชียส[1]
สิ่งมีชีวิตจำพวกปลานับได้ว่า มีจำนวนของซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลาถือเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกแรกในโลกที่มีกระดูกสันหลัง และเป็นต้นทางของการวิวัฒนาการจากน้ำมาสู่บก จนกระทั่งกลายเป็นสัตว์บกจำพวกต่าง ๆ เช่นในปัจจุบัน นอกเหนือจากปลาซีลาแคนท์แล้ว ก็ยังมี ปลาปอด ปลาไบเคอร์[2] ปลาอะโรวาน่า[3] รวมถึงปลาฉลามบางชนิด[4] เป็นต้น
สำหรับสัตว์จำพวกอื่น เช่น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ได้แก่ ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ ที่ยังคงโครงสร้างของสรีระแบบซาลาแมนเดอร์ที่พบในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่[5] สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นอกเหนือจากตุ่นปากเป็ดแล้ว ยังมีหนูหิน ที่มีการค้นพบในประเทศลาว ซึ่งเป็นสัตว์ฟันแทะ ที่ญาติ ๆ ได้สูญพันธุ์ไปจนหมดแล้วเมื่อ 11 ล้านปีก่อน โดยมีหลักฐานเป็นฟอสซิลพบในมณฑลซานตง ทางตอนใต้ของประเทศจีน[6] และแพนด้าแดง ที่พบในแถบประเทศจีน, ธิเบต และตอนเหนือของพม่า[7] เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Coelacanth ปลาดึกดำบรรพ์ที่ยังไม่สูญพันธุ์ เก็บถาวร 2012-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ Polypterus senegalus
- ↑ ["Arowana - True Fossil Fish (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-12. สืบค้นเมื่อ 2012-10-27. Arowana - True Fossil Fish (อังกฤษ)]
- ↑ Rare "Prehistoric" Shark Photographed Alive (อังกฤษ)
- ↑ หน้า 160, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ [ลิงก์เสีย] สุดยอด รอดมา 11 ล้านปี "หนูหิน" พันธุ์ใหม่ในลาว จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ Roberts, MS & Gittleman, JL (1984). "Ailurus fulgens". Mammalian Species (American Society of Mammalogists) 222 (222): 1–8.