ข้ามไปเนื้อหา

ชินเซ็งงูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชินเซ็งงุมิ)
ธงของกลุ่มชินเซ็งงุมิ

ชินเซ็งงุมิ (ญี่ปุ่น: 新選組 หรือ 新撰組โรมาจิShinsengumi; ฮิรางานะ: しんせんぐみ; แปลว่า: "กลุ่มผู้ถูกคัดเลือกใหม่") เป็นชื่อของกลุ่มตำรวจพิเศษของประเทศญี่ปุ่นในยุคบะกุมะสึ หรือช่วงปลายแห่งการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

[แก้]

หลังจากญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศเพื่อค้าขายกับชาวตะวันตกภายหลังการมาเยือนพลเรือจัตวาแมทธิว เพร์รี แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1853 สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่นก็ยิ่งทวีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น ประเทศถูกแบ่งแยกด้วยความคิดทางการเมืองสายต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ปรากฏในยุคนั้นคือ แนวคิด "ซนโนโจอิ" (尊皇攘夷) หรือ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับชาติป่าเถื่อน" [1] กลุ่มผู้เทิดทูนพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเหล่านี้ได้เริ่มใช้ปฏิบัติการทั้งการลอบสังหารบรรดาผู้เห็นต่างและการก่อความรุนแรงในกรุงเกียวโตซึ่งเป็นนครหลวงของพระจักรพรรดิ ด้วยความหวังที่จะแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ในปี ค.ศ. 1863 รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะจึงได้จัดตั้งกลุ่มโรชิงุมิ (浪士組) ประกอบด้วยโรนินหรือซามูไรไร้นายจำนวน 234 คน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของมัตซึไดระ ทะดะโทะชิ หัวหน้ากลุ่มแต่เพียงในนาม และคิโยะคะวะ ฮะจิโร หัวหน้ากลุ่มตัวจริง [2] ภารกิจอย่างเป็นทางการของกลุ่มโรชิงุมิคือการคุ้มครองโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ โชกุนคนที่ 14 ของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ซึ่งกำลังเตรียมการจะเดินทางจากเอโดะไปยังราชสำนักเกียวโต[3]

ประวัติ

[แก้]
มัตซึไดระ คะตะโมะริ ไดเมียวแห่งแคว้นไอสึ ผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มชินเซ็งงุมิ

กลุ่มโรชิงุมิได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลโทะกุงะวะ แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของคิโยะคะวะ ฮะจิโร ซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อนำกลุ่มมาถึงนครเกียวโตก็คือ การรวบรวมโรนินเพื่อทำงานสนับสนุนองค์พระจักรพรรดิ เพื่อเป็นการตอบโต้ สมาชิกของกลุ่มโรชิงุมิจำนวน 13 คน จึงได้แยกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่มชินเซ็งงุมิ และสมาชิกที่ภักดีต่อรัฐบาลโทะกุงะวะอีกส่วนหนึ่งก็ได้แยกตัวกลับไปที่เอะโดะและก่อตั้งกลุ่มชินโชงุมิขึ้น (新徴組) โดยอยู่ภายใต้การสนับสนุนของแคว้นโชไน[4]

ในชั้นแรก กลุ่มชินเซ็งงุมิเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "มิบุโร" (壬生浪) ซึ่งหมายถึง "โรนินแห่งมิบุ" (ย่อจากคำเต็ม "มิบุโรชิงุมิ" หรือ "กลุ่มโรชิงุมิแห่งมิบุ") เนื่องจากว่าพวกเขาได้ตั้งกลุ่มอยู่ที่หมู่บ้านมิบุซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมืองของนครเกียวโต อย่างไรก็ตาม กิตติศัพท์ของกลุ่มเปลี่ยนไปในทางไม่ดีจากการปฏิบัติการที่เฉียบขาดและรุนแรง ในไม่ช้าฉายาของกลุ่มจึงเปลี่ยนไปเป็น "ฝูงหมาป่าแห่งมิบุ" แทน ชื่อดังกล่าวนี้ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า "มิบุโร" เหมือนกัน แต่ใช้อักษรคนละตัว (壬生狼) ส่วนชื่อชินเซ็งงุมิซึ่งได้มาภายหลังนั้น มีความหมายว่า "กลุ่มผู้ถูกคัดเลือกใหม่" ("ชิน" หมายถึง "ใหม่", เซ็น" หมายถึง "คัดเลือก", "งุมิ" หมายถึง "กลุ่ม", "กอง" หรือ "หมวด")

ผู้บัญชาการกลุ่มในชั้นดั้งเดิมที่สุดนั้น ได้แก่ เซะริซะวะ คะโมะ, คนโด อิซะมิ, และ นิอิมิ นิชิกิ ในชั้นต้นนั้น กลุ่มมิบุโรประกอบด้วยกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเซะริซะวะ กลุ่มคนโด และกลุ่มโทะโนะอุจิ ดังรายชื่อที่ปรากฏเบื้องล่าง อย่างไรก็ตาม โทะโนะอุจิและอิเอะซะโตได้ถูกสังหารหลังจากการตั้งกลุ่มไม่นานนัก

กลุ่มเซะริซะวะ : กลุ่มคอนโด: กลุ่มโทะโนะอุจิ:
หลักศิลาระบุตำแหน่งที่ตั้งของโรงแรมอิเคะดะ จุดเกิดเหตุของคดีอิเคะดะยะในปี ค.ศ. 1864 อันนำมาสู่ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของกลุ่มชินเซ็งงุมิ

หลังการกวาดล้างกลุ่มของโทะโนะอุจิ โยะชิโอะแล้ว กลุ่มมิบุโรก็เหลือกำลังหลักเพียง 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มซามูไรชาวแคว้นมิโตะของเซะริซะวะ และกลุ่มศิษย์สำนักดาบชิเอคังของคนโด ทั้งสองกลุ่มนี้ยังคงมีที่มั่นอยู่ที่หมู่บ้านมิบุ ชานกรุงเกียวโต ต่อมาทางกลุ่มได้ส่งจดหมายไปยังทางแคว้นไอสึเพื่อขออนุญาตทำหน้าที่ตรวจการในนครเกียวโต และปฏิบัติการต่อต้านบรรดานักปฏิวัติซึ่งเทิดทูนจักรพรรดิและต้องการล้มล้างรัฐบาลโทกุงะวะ ซึ่งคำร้องขอดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติ

ในวันที่ 30 กันยายน (ตรงกับวันที่ 18 เดือน 8 ทางจันทรคติญี่ปุ่น) รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ แคว้นไอซึ และแคว้นซัตสึมะ ได้ร่วมกันขับไล่แคว้นโจชูให้ออกไปจากราชสำนักพระจักรพรรดิ สมาชิกทุกคนของกลุ่มมิบุโรชิงุมิได้ถูกส่งให้มาช่วยเหลือทางแคว้นไอสึและคอยรักษาประตูพระราชวังมิให้ฝ่ายโจชูเข้ามาในราชสำนักได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อำนาจในเวทีการเมืองของเกียวโตยกระดับขึ้นจากทั้งจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลโชกุนจากแคว้นโจชู และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลโชกุนจากแคว้นไอสึ ชื่อของกลุ่มชินเซ็งงุมิได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้จากผลงานการรักษาประตูพระราชวังของกลุ่มมิบุโรชิงุมิ ซึ่งเกี่ยวกับผู้ที่มอบชื่อนี้ให้ ในทางหนึ่งกล่าวว่ามาจากทางฝ่ายราชสำนัก อีกทางหนึ่งกล่าวว่ามาจากมัตซึไดระ คะตะโมะริ ไดเมียวแห่งแคว้นไอสึ[6]

ศัตรูที่สำคัญที่สุดของกลุ่มชินเซ็งงุมิ ได้แก่พวกโรนินแห่งตระกูลโมริจากแคว้นโจชู และต่อมาภายหลังก็ได้แก่อดีตพันธมิตรซามูไรของตระกูลชิมะสึจากแคว้นซัตซึมะ ซึ่งมีจุดยืนในการสนับสนุนพระจักรพรรดิ

การกระทำอย่างสะเพร่าของเซะริซะวะและนิอิมิ ซึ่งทำในนามของกลุ่มชินเซ็งงุมิ ได้ทำให้ทั้งกลุ่มกลายเป็นที่หวาดกลัวทั่วทั้งเกียวโตเมื่อออกปฏิบัติการรักษาความสงบภายในพระนคร ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1863 นิอิมิ นิชิกิ ซึ่งถูกลดขั้นเป็นเพียงรองหัวหน้ากลุ่มจากเหตุที่ไปต่อสู้กับกลุ่มซูโม่ ได้ถูกฮิจิคะตะและยะมะนะมิสั่งให้คว้านท้องตนเอง และอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ให้หลัง เซะริซะวะ คะโมะก็ถูกลอบสังหารโดยสมาชิกกลุ่มของคนโด ภายใต้คำสั่งการของมัตซึไดระ คะตะโมะริ

ปฏิบัติการในคดีอิเคะดะยะ (池田屋事件 - อิเคะดะยะจิเค็น) ในปี ค.ศ. 1864 ซึ่งทำให้นครเกียวโตรอดพ้นจากการวางเพลิงโดยซามูไรหัวรุนแรงชาวแคว้นโจชู ได้ทำให้กลุ่มชินเซ็งงุมิโด่งดังในชั่วข้ามคืน มีคนเข้าสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีการจัดระบบภายในเสียใหม่

กลุ่มชินเซ็งงุมิซึ่งมีจุดยืนที่ภักดีต่อรัฐบาลโชกุน ได้ถอนตัวออกจากกรุงเกียวโตอย่างสงบภายใต้การควบคุมของนะงะอิ นะโอะยุกิ ขุนนางตำแหน่งวะกะโดะชิโยะริของรัฐบาลโชกุน ก่อนหน้าการยอมจำนนต่อราชสำนักของโชกุนโทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ ไม่นานนัก [7] ถึงอย่างไรก็ดี ในฐานะที่กลุ่มดังกล่าวได้ถูกจัดเป็นกองรักษาการณ์ประจำเมืองฟุชิมิ ในไม่ช้ากลุ่มชินเซ็งงุมิจึงได้เข้าร่วมในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิด้วย [8] ในเวลาต่อมาขณะที่ยังคงมีการต่อสู้เกิดขึ้นที่นอกนครเอะโดะ คนโด อิซะมิ ผู้นำของกลุ่มได้ถูกฝ่ายรัฐบาลในพระนามของจักรพรรดิเมจิจับเป็นเชลยและประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ กลุ่มชินเซ็งงุมิที่เหลืออยู่บางส่วนได้อยู่ภายใต้การนำของไซโต ฮะจิเมะ เพื่อต่อสู้ป้องกันแคว้นไอสึ สมาชิกที่เหลืออีกจำนวนมากภายใต้การนำของฮิจิคะตะ โทะชิโซ ได้แตกหนีขึ้นไปทางเหนือเพื่อสมทบเข้ากับกองกำลังของสาธารณรัฐเอะโสะ[9] ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ กลุ่มชินเซ็งงุมิสามารถฟื้นฟูกำลังของตนขึ้นมาได้บางส่วนอีกครั้ง โดยมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 100 คน โดยทั่วไปแล้วถือกันว่ามรณกรรมของฮิจิคะตะ โทะชิโซ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน (ตรงกับวันที่ 11 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติญี่ปุ่น) ค.ศ. 1869 คือจุดสิ้นสุดของกลุ่มชินเซ็งงุมิ แม้ว่าจะมีกำลังบางส่วนภายใต้การนำของนะงะอิ นะโอะยุกิ ที่เบ็นเท็น-ไดบะ ได้ทำการยอมจำนนเป็นการต่างหากในภายหลังก็ตาม[10]

มีสมาชิกระดับแกนนำสำคัญของกลุ่มจำนวนไม่มากที่รอดชีวิตหลังจากการสลายกลุ่ม เช่น นะงะคุระ ชิมปะจิ, ไซโต ฮะจิเมะ และชิมะดะ ไค สมาชิกบางคน เช่น ทะคะงิ เทซะคุ ได้กลายบุคคลสำคัญในวงสังคมญี่ปุ่นในเวลาต่อมา[11]

สมาชิกกลุ่ม

[แก้]
คนโด อิซะมิ หัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงุมิ
ฮิจิคะตะ โทะชิโซ รองหัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงุมิ ผู้มีสมญานาม "รองหัวหน้าปีศาจ" (ญี่ปุ่น: 鬼の副長โรมาจิoni no fukuchōทับศัพท์: โอะนิ โนะ ฟุคุโจ)

ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดนั้น ชินเซ็งงุมิมีสมาชิกจำนวนราว 300 คน กลุ่มดังกล่าวนี้นับเป็นซามูไรกลุ่มแรกในสมัยการปกครองของตระกูลโทะกุงะวะ ที่อนุญาตให้บุคคลจากชนชั้นที่ไม่ใช่ซามูไร เช่น ชนชั้นพ่อค้า ชนชั้นชาวนา สามารถเข้าร่วมกลุ่มได้ ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นมีระบบชนชั้นวรรณะที่เคร่งครัดมากและไม่สามารถเลื่อนจากฐานะที่ตำกว่าไปสู่ฐานะที่สูงกว่าได้ง่ายนัก ผู้คนที่เข้าร่วมกลุ่มด้วยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะหาทางเลื่อนชนชั้นของตนเป็นซามูไรหรือต้องการมีส่วนรวมทางการเมืองเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ตาม การกล่าวว่าสมาชิกของกลุ่มชินเซ็งงุมิส่วนมากไม่ใช่ชนชั้นซามูไรนับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด จากจำนวนสมาชิกของชินเซ็งงุมิ 106 คน (จำนวนรวมทั้งหมดคือประมาณ 302 คนในเวลานั้น) ประกอบด้วยซามูไร 87 คน, ชาวนา 8 คน, พ่อค้า 3 คน, แพทย์ 3 คน, นักบวช 3 คน, และช่างฝีมือ 2 คน มีผู้นำกลุ่มเพียงไม่กี่คนที่เป็นชนชั้นซามูไรโดยกำเนิด เช่น ยะมะนะมิ เคย์สุเกะ, โอะคิตะ โซจิ, นะงะคุระ ชินปะจิ, และฮะระดะ ซะโนะสุเกะ

สายการบังคับบัญชาหลังคดีอิเกะดะยะ

[แก้]
หัวหน้ากลุ่ม (局長 เคียวคุโจ)
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ (総長 โซโจ)
รองหัวหน้ากลุ่ม (副長 ฟุกุโจ)
ที่ปรึกษาด้านการทหาร (参謀 ซัมโบ)
หัวหน้าหน่วยย่อย (組長 คุมิโจ)
  1. โอะกิตะ โซจิ (ครูดาบ)
  2. นะงะคุระ ชิมปะจิ (ครูดาบ)
  3. ไซโต ฮะจิเมะ (ครูดาบ)
  4. มัตซึบะระ จูจิ (ครูฝึกยิวยิตซึ)
  5. ทะเกะดะ คังริวไซ (ครูฝึกยุทธวิธีทางการทหาร)
  6. อิโนะอุเอะ เก็มซะบุโร
  7. ทะนิ ซันจูโร (ครูหอก)
  8. โทโด เฮสุเกะ
  9. ซูซูกิ มิกิซะบุโร
  10. ฮะระดะ ซะโนะสุเกะ
สายลับ

ข้อบังคับของกลุ่ม

[แก้]

กลุ่มชินเซ็งงุมิมีข้อบังคับซึ่งถือเป็นกฎเหล็กอยู่ 5 ข้อ อันมีชื่อว่า "เคียวคุจูฮัตโตะ" (ญี่ปุ่น: 局中法度ทับศัพท์: Kyokuchū Hatto) กำหนดขึ้นโดย ฮิจิคะตะ โทะชิโซ ดังนี้

  1. ต้องปฏิบัติตนตามวิถีนักรบอย่างเคร่งครัด
  2. ห้ามหลบหนีออกจากกลุ่ม
  3. ห้ามรับเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาต
  4. ห้ามลงมือสะสางเรื่องใดๆ ตามอำเภอใจ
  5. ห้ามต่อสู้ด้วยเรื่องส่วนตัว

ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎทั้งห้าข้อนี้จะต้องคว้านท้องตนเองโดยไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนข้อความต่อไปนี้เป็นสิ่งที่สมาชิกของชินเซ็งงุมิจะต้องยึดถือเป็นบรรทัดฐาน

  • กรณีที่หัวหน้าหน่วยได้รับอันตรายถึงชีวิต สมาชิกในหน่วยจะต้องต่อสู้จนกว่าตัวจะตาย
  • ในการต่อสู้ที่มีผู้เสียชีวิต ไม่อนุญาตให้นำศพกลับ เว้นแต่ศพของหัวหน้าหน่วยเท่านั้น
  • ในกรณีที่สมาชิกของกลุ่มต้องปะทะกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่หรือไม่ หากปล่อยให้ศัตรูหนีไปได้แม้จะเป็นในสภาพที่บาดเจ็บ หรือกระทั่งถูกแทงที่กลางหลัง ผู้นั้นจะต้องคว้านท้องตนเอง

เครื่องแต่งกาย

[แก้]
ลักษณะการแต่งกายของชินเซ็งงุมิ

สมาชิกของกลุ่มชินเซ็งงุมิสามารถแยกแยะได้ง่ายในสนามรบจากเครื่องแบบที่โดดเด่นของพวกเขาเอง ตามคำสั่งของเซริซะวะ คะโมะ หนึ่งในหัวหน้ากลุ่ม เครื่องแบบของกลุ่มประกอบด้วยเสื้อฮะโอะริและกางเกงฮะกะมะ สวนทับเสื้อกิโมะโนะตัวใน มีสายคาดสีขาวที่เรียกว่า "ทะสุกิ" พาดทับอกเสื้อและโยงไปยังด้านหลังเสื้อ สายดังกล่าวนี้ใช้สำหรับมัดชายเสื้อฮะโอริเวลาถูกพับขึ้นเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก เอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องแบบชินเซ็งงุมินี้อยู่ที่เสื้อฮะโอะริซึ่งใช้สีที่เรียกว่า "อะซะงิอิโร" (浅葱色, โดยทั่วไปจะเป็นสีฟ้าอ่อน แต่บางครั้งอาจเป็นสีเหลืองอ่อนก็มี) ที่ชายแขนเสื้อฮะโอะรินั้นตกแต่งเป็นลวดลาย "แถบภูเขาสีขาว" ทำให้ดูเด่นกว่าเสื้อของนักรบโดยทั่วไปที่ทำเป็นสีพื้นสีน้ำตาล สีดำ หรือสีเทา การที่ชุดโดดเด่นในสนามรบเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ฝ่ายมิตรสังเกตได้ง่ายเท่านั้น ในทางกลับกัน ฝ่ายศัตรูก็ย่อมสามารถระบุเป้าหมายที่เป็นชินเซ็งงุมิได้ง่ายด้วยเช่นกัน

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. สำหรับแนวคิดซนโนโจอิก่อนการมาเยือนของเพอร์รี ดูที่ Bob Tadashi Wakabayashi, Anti-foreignism and Western learning in early-modern Japan : The new theses of 1825. (Cambridge: Harvard University Press, 1986)
  2. Ōishi Manabu, Shinsengumi: Saigo no Bushi no Jitsuzō. (Tokyo: Shin Jinbutsu Oraisha, 2004), p. 65
  3. Ōishi, p. 65
  4. "新徴組−もう一つの浪士組−(我が愛すべき幕末)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-07.
  5. ชื่อตามที่อ่านไว้ใน Ōishi, p. 76.
  6. ข้อโต้แย้งเรื่องที่มัตซึไดระ คะตะโมะริ เป็นผู้ตั้งนาม "ชินเซ็งงุมิ" เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบจากความคล้ายคลึงของชื่อหน่วยรบกลุ่มหนึ่งของแคว้นไอสึที่ตั้งขั้นในภายหลัง อันมีชื่อว่า กลุ่ม "เบ็ซเซ็งงุมิ" (別選組) หรือ "กลุ่มที่ถูกเลือกเป็นการเฉพาะ" สำหรับข้อมูลของกลุ่มดังกล่าว ดูที่ http://jpco.sakura.ne.jp/shishitati1/kakuhan-page1/5/5-7.htm
  7. Ōishi, pp. 172–174; http://www.bakusin.com/nagai.html
  8. Ōishi, p. 177
  9. Ōishi, pp. 217–230.
  10. Ōishi, p. 246.
  11. ทะคะงิ เทซะคุ เป็นศาตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบาชิ ในสมัยเมจิ ดูเพิ่มเติมที่ http://www.city.kuwana.lg.jp/culture_sports_and_education_article_262.html เก็บถาวร 2007-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

อ้างอิง

[แก้]
  • Shinsengumi: The Shogun's Last Samurai Corps, by Romulus Hillsborough (2005) ISBN 0804836272
  • Samurai Sketches: From the Bloody Final Years of the Shogun, by Romulus Hillsborough (2001) ISBN 0966740181
  • Kikuchi Akira 菊地明 and Aikawa Tsukasa 相川司. Shinsengumi Jitsuroku 新選組実錄. Tokyo: Chikuma-shobō 筑摩書房, 1996.
  • Ōishi Manabu 大石学. Shinsengumi: Saigo no Bushi no Jitsuzō 新選組: 「最後の武士」の実像. Tokyo: Chūōkōron-shinsha 中央公論新社, 2004.
  • Sasaki Suguru 佐々木克. Boshin sensō: Haisha no Meiji ishin 戊辰戦争 : 敗者の明治維新. Tokyo: Chūōkōron-shinsha 中央公論社, 1977.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Shinsengumi Headquarters Website created to address the needs of those who are interested in the history, related film/TV/anime, fanfiction, fanart and various incarnations of the Shinsengumi.
  • Hajimenokizu A site dedicated to Saitou Hajime and the Shinsengumi in various fictional and historical incarnations.
  • Samurai Archives - Shinsengumi