ข้ามไปเนื้อหา

จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จูราสสิกปาร์ก)
จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก
บทภาพยนตร์
สร้างจากจูราสสิค พาร์ค
โดย ไมเคิล ไครช์ตัน
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
กำกับภาพดีน คันดี
ตัดต่อไมเคิล คาห์น
ดนตรีประกอบจอห์น วิลเลียมส์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์แซลพิกเจอส์
วันฉาย
  • 9 มิถุนายน ค.ศ. 1993 (1993-06-09) (โรงภาพยนตร์อัพทาวน์)

  • 11 มิถุนายน ค.ศ. 1993 (1993-06-11) (สหรัฐ)

  • 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 (1993-07-31) (ไทย)
ความยาว126 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน1.033 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ (อังกฤษ: Jurassic Park) เป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1993 กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก อำนวยการสร้างโดย แคทลีน เคนเนดีและเจอรัลด์ อาร์. โมเลน เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในแฟรนไชส์ จูราสสิค พาร์ค ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันโดยไมเคิล ไครช์ตัน เขียนบทโดยไครช์ตันและเดวิด โคปป์ ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องบนเกาะสมมติชื่อว่า อิสลานูบลาร์ ชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกากลาง ใกล้กับประเทศคอสตาริกา ที่นั่น จอห์น แฮมมอนด์ นักธุรกิจเศรษฐีและทีมนักวิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรมได้สร้างสวนสัตว์ป่าที่มีไดโนเสาร์ซึ่งสูญพันธ์ไปแล้ว เมื่อเกิดการก่อวินาศกรรมขึ้น นำไปสู่ความหายนะของการปิดโรงงานไฟฟ้าและมาตรการป้องกันความปลอดภัยของสวนสัตว์ ทำให้ผู้เยี่ยมชมกลุ่มเล็ก ๆ และหลานของแฮมมอนด์ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดและหลบหนีจากเกาะที่เต็มไปด้วยอันตราย

ก่อนที่นวนิยายของไครช์ตันจะตีพิมพ์ มีสตูดิโอสร้างภาพยนตร์จำนวนสี่แห่งมาเสนอราคาเพื่อซื้อสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ สปีลเบิร์กซื้อสิทธิ์ดังกล่าวในราคา 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเงินสนับสนุนจากยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ ก่อนที่นวนิยายจะตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1990 ไครช์ตันยังถูกจ้างให้ดัดแปลงนวนิยายเป็นบทภาพยนตร์ โดยมีค่าจ้างเพิ่มเติม 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โคปป์เป็นคนเขียนร่างสุดท้าย โดยตัดการอธิบายเรื่องราวในนวนิยายและความรุนแรงออก และมีการเปลี่ยนแปลงตัวละครหลายอย่าง

ภาพยนตร์ถ่ายทำในแคลิฟอร์เนียและฮาวายระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 1992 และเริ่มช่วงหลังการถ่ายทำในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1993 ควบคุมโดยสปีลเบิร์กในขณะที่เขากำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (Schindler's List) ในโปแลนด์ ไดโนเสาร์ถูกสร้างโดยการใช้ภาพที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่ก้าวล้ำโดยอินดัสเทรียลไลต์แอนด์แมจิก และอนิเมทรอนิกส์ขนาดเท่าของจริงสร้างโดยทีมของสแตน วินสตัน เพื่อแสดงการออกแบบเสียงของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการผสมผสานของเสียงสัตว์ต่าง ๆ สำหรับเสียงคำรามของไดโนเสาร์ สปีลเบิร์กลงทุนสร้างดีทีเอส บริษัทผู้เชี่ยวชาญในระบบเสียงรอบทิศทางดิจิทัล ภาพยนตร์ยังได้ลงทุนจำนวน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแคมเปญการตลาด ซึ่งรวมไปถึงสัญญาลิขสิทธิ์มากกว่า 100 บริษัท

จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1993 ที่โรงภาพยนตร์อัปทาวน์ในวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนจะฉายในสหรัฐวันที่ 11 มิถุนายน ภาพยนตร์ทำเงินมากกว่า 914 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกในช่วงการฉายครั้งแรก กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในปี ค.ศ. 1993 และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค ทำเงินแซงไปในปี ค.ศ. 1997 ภาพยนตร์ได้คำชมดีมากจากนักจารณ์ โดยชมในเรื่องเทคนิคพิเศษ, การแสดง, ดนตรีประกอบโดยจอห์น วิลเลียมส์และการกำกับของสปีลเบิร์ก ภาพยนตร์มีการฉายใหม่ในรูปแบบสามมิติในปี ค.ศ. 2013 เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปี ของภาพยนตร์ จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สิบเจ็ดที่ทำเงินเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ชนะเลิศรางวัลมากกว่ายี่สิบรางวัล รวมไปถึง สามรางวัลออสการ์ สำหรับความสำเร็จในเทคนิคด้านภาพและการออกแบบเสียงและยังได้การยอมรับว่าเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาการสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์และอนิเมทรอนิกส์ ภาพยนตร์ตามมาด้วยภาคต่ออีกห้าภาค ได้แก่ เดอะ ลอสต์ เวิลด์ จูราสสิค พาร์ค (1997), จูราสสิค พาร์ค 3 (2001), จูราสสิค เวิลด์ (2015), จูราสสิค เวิลด์ อาณาจักรล่มสลาย (2018) และ จูราสสิค เวิลด์ ทวงคืนอาณาจักร (2022)

ในปี ค.ศ. 2018 ภาพยนตร์ถูกเลือกโดยหอสมุดรัฐสภาของสหรัฐให้เก็บรักษาไว้ในหอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ ในฐานะที่ภาพยนตร์ "มีวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, หรือ มีความสุนทรีย์อย่างมีนัยสำคัญ"[3]

โครงเรื่อง

[แก้]

จอห์น แฮมมอนด์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทชีววิศวกรรมชื่ออินเจน (InGen) ได้สร้างธีมพาร์คชื่อจูราสสิค พาร์คไว้บนเกาะอิสลา นูบลาร์ เป็นธีมพาร์คที่เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ที่ถูกโคลนขึ้น แต่หลังจากเกิดเหตุคนงานพาร์คคนหนึ่งถูกเวโลซีแรปเตอร์ฆ่า ผู้ลงทุนเรียกร้องผ่านทนาย โดนัลด์ เกนนาโร ให้มีการนำผู้เชี่ยวชาญมาดูพาร์คเพื่อรับรองว่ามันปลอดภัย เกนนาโรเชิญเอียน มัลคอล์ม นักคณิตศาสตร์มาในขณะที่แฮมมอนด์เชิญนักบรรพชีวินวิทยา ดร. อลัน แกรนต์ และนักบรรพพฤกษศาสตร์ ดร.เอลลี แซตต์เลอร์ มาเยี่ยมชมพาร์ค เมื่อทั้งคณะมาถึงพวกเขาทึ่งที่ได้เห็นแบรคิโอซอรัสและฝูงพาราซอโรโลฟัสตัวเป็นๆ

ที่ศูนย์รับรอง พวกเขาทัวร์ห้องแล็บและได้เรียนรู้ว่านักวิทยาศาสตร์สามารถโคลนไดโนเสาร์ได้ด้วยการสกัดดีเอ็นเอจากเลือดไดโนเสาร์ซึ่งพบในยุงในก้อนอำพัน แต่เนื่องจากดีเอ็นเอที่สกัดได้มีสภาพไม่สมบูรณ์นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ดีเอ็นเอของกบเติมเต็มช่องว่างที่หายไปดังกล่าว ไดโนเสาร์ทั้งหมดถูกโคลนให้เป็นตัวเมียเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

หลานๆ ของแฮมมอนด์ เล็กซ์และทิม เมอร์ฟีเดินทางมาถึงและร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อไปทัวร์พาร์คในขณะที่แฮมมอนด์คอยดูพวกเขาจากห้องควบคุม ทัวร์ไม่เป็นไปตามที่คาดหลังจากไดโนเสาร์ไม่ปรากฏตัวตามที่คาดไว้และไทรเซอราทอปส์ตัวหนึ่งป่วย เนื่องจากพายุกำลังจะเข้า การทัวร์จึงถูกยกเลิก พนักงานของพาร์คเกือบทั้งหมดขึ้นเรือกลับไปยังแผ่นดินใหญ่และแขกนั่งรถกลับศูนย์รับรอง ยกเว้นแซตต์เลอร์ซึ่งอยู่กับสัตวแพทย์ของพาร์คเพื่อดูไทรเซราทอปส์ที่ป่วย

ตอนค่ำขณะที่พายุเข้า เดนนิส เนดรี โปรแกรมเมอร์ของพาร์ค ผู้ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทคู่แข่งของอินเจนให้มาขโมยเอ็มบริโอไดโนเสาร์จัดการปิดระบบความปลอดภัยของของพาร์คเพื่อตัวเขาจะสามารถเข้าไปในห้องเก็บเอ็มบริโอได้ ไฟดับและรถจี๊ปพาทัวร์ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าดับตอนที่กำลังขับผ่านกรงของไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ รั้วไฟฟ้าเกือบทั้งพาร์คไม่ทำงาน ส่งผลให้ไทแรนโนซอรัสสามารถพังรั้วออกมาโจมตีพวกเขา แกรนต์ เล็กซ์และทิมหนีรอดมาได้ในขณะที่เกนนาโรถูกกินและมัลคอล์มได้รับบาดเจ็บ ในขณะเดียวกันเนดรีขับรถออกมาเพื่อนำเอ็มบริโอไปส่งที่ท่าเรือของเกาะ เขาหลงทาง รถมีปัญหาอยู่ในป่าและถูกไดโลโฟซอรัสฆ่าในที่สุด

แซตต์เลอร์กับนายพรานประจำพาร์ค โรเบิร์ต มัลดูนออกมาตามหาผู้รอดชีวิตแต่เจอเพียงมัลคอล์ม ไทรันโนซอรัสกลับมาอีกครั้ง ทำให้พวกเขาต้องขึ้นรถหนีกลับไป หัวหน้าวิศวกรประจำพาร์ค เรย์ อาร์โนลด์ไม่สามารถแก้โค้ดที่เนดรีตั้งไว้เพื่อดึงให้ระบบควบคุมความปลอดภัยกลับมาทำงานได้อีกครั้ง เขาจึงเสนอให้รีบูตระบบทั้งหมดของพาร์ค พวกเขาดับไฟและหลบเข้าบังเกอร์ในขณะที่อาโนล์ดออกไปที่ห้องเครื่องเพื่อทำการรีบูตให้เสร็จ พวกเขาค้นพบว่าการดับไฟที่เหลือทำให้รั้วที่ยังทำงานอยู่ในตอนแรกดับ รวมถึงรั้วของเวโลซีแรปเตอร์ เนื่องจากรอไม่ไหวมัลดูนกับแซตต์เลอร์จึงตามอาร์โนลด์ไปที่ห้องเครื่อง มัลดูนล่อพวกแรปเตอร์ไว้ในขณะที่แซตต์เลอร์เข้าไปรีบูตระบบ หลังจากสำเร็จ เธอถูกแรปเตอร์โจมตี พบแขนของอาร์โนลด์ซึ่งถูกฆ่าก่อนหน้าและหนีออกมา ฝั่งมัลดูน เขาถูกแรปเตอร์ที่แอบซุ่มอยู่ฆ่า

แกรนต์ ทิมและเล็กซ์พบเศษเปลือกไข่ แกรนต์สันนิษฐานว่าไดโนเสาร์กำลังขยายพันธุ์ เนื่องจาก กบบางชนิดเช่นเวสต์แอฟริกันบูลฟร็อกสามารถเปลื่ยนเพศในภาวะที่เพศตรงข้ามขาดแคลน ทำให้ไดโนเสาร์ที่มียีนส์ของพวกมันมีความสามารถนั้นเช่นกัน เมื่อพวกเขาถึงศูนย์รับรอง แกรนต์ทิ้งเด็กทั้งสองไว้ที่นั่นในขณะที่เขาออกตามหาคนอื่น เขาเจอกับแซตต์เลอร์ หลังจากกลับไปเจอคนอื่นๆที่บังเกอร์แล้วแกรนตต์และแซตต์เลอร์กลับไปที่ศูนย์รับรอง ที่ซึ่งเด็กทั้งสองกำลังหนีจากแรปเตอร์สองตัว ทั้งสี่กลับไปที่ห้องควบคุม ซึ่งเล็กซ์สามารถกู้ระบบกลับมาได้ พวกเขาโทรศัพท์เรียกเฮลิคอปเตอร์ พวกแรปเตอร์ตามมาอีกครั้งและล้อมพวกเขาไว้ ทันใดนั้นไทแรนโนซอรัสปรากฏตัวและฆ่าแรปเตอร์ทั้งสอง แฮมมอนด์กับมัลคอล์มนั่งรถจี๊ปมารับพวกเขาหน้าศูนย์และมุ่งหน้าไปยังลานจอดคอปเตอร์ แกรนต์บอกแฮมมอนด์ว่าเขาไม่รับรองพาร์คซึ่งแฮมมอนด์ก็เห็นด้วย ทั้งหมดขึ้นคอปเตอร์และทิ้งจูราสสิค พาร์คไว้เบื้องหลัง

นักแสดง

[แก้]

ความนิยม

[แก้]

จูราสสิค พาร์ค เมื่อออกฉายกลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปีภายในระยะเวลารวดเร็ว ทำรายได้ถล่มทลายทุกประเทศที่เข้าฉาย ไม่แม้แต่เว้นประเทศไทย สามารถทำรายได้ถึง 395 ล้านเหรียญในสหรัฐอเมริกา และทำสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกนานถึง 3 ปี ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติลงโดยสตาร์ วอร์ส ฉบับฉายใหม่ ในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) แต่ก็ยังทำรายได้มากที่สุดจนถึงปัจจุบันเป็นอันดับ 17 ของ Box Office ทั่วโลก

นอกจากนี้ จูราสสิค พาร์ค ได้ชนะเลิศรางวัลออสการ์ 3 รางวัล คือ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม, สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม และ สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556 จูราสสิค พาร์ค ได้รับการนำกลับมาฉายอีกครั้งในรูปแบบ 3 มิติ

ความผิดพลาด

[แก้]

ในปัจจุบัน นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า จูราสสิค พาร์ค ให้ได้ภาพของไดโนเสาร์หลายอย่างคลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริงหรือตามองค์ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่รับรู้กัน เช่น ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่จะมีขนปกลุมตามร่างกายเหมือนนกมากกว่าเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน, ไทรันโนซอรัส ก็ไม่ได้มีขนาดลำตัวใหญ่ขนาดนั้น รวมถึงมีความเร็วเพียง 30กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงไม่สามารถที่จะวิ่งไล่รถยนต์ได้, เวโลซีแรปเตอร์ ก็มีขนปกคลุมตามลำตัวเหมือนไก่รวมถึงมีขนาดลำตัวเท่าไก่ และเป็นไดโนเสาร์ที่ไม่ได้มีอันตรายเหมือนที่ปรากฏในภาพยนตร์[4], ไดโลโฟซอรัส ก็ไม่ปรากฏว่าสามารถที่จะแผ่แผงคอได้เหมือนกิ้งก่าแผงคอ รวมถึงพ่นพิษได้[5]

ภาคต่อ

[แก้]

จูราสสิค พาร์ค มีการสร้างเป็นภาคต่อในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ด้วย ในชื่อ The Lost World: Jurassic Park และภาค 3 ในปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ชื่อ Jurassic Park III โดยภาค 3 นี้ไม่ได้กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก ทั้งสองภาคนี้แม้จะทำรายได้มากเช่นเดียวภาคแรก แต่ไม่ได้รับคำชมเท่ากับภาคแรก

และภาค 4 ในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ชื่อ Jurassic World เป็นภาคล่าสุด[6] ทีเล่าด้วยสวนสนุกไดโนเสาร์เปิดทำการเต็มรูปแบบบนเกาะอิสลานูบลาร์ (ที่เดียวกับในภาคแรก) แต่ก็เกิดเรื่องโกลาหลเมื่อไดโนเสาร์ตัดต่อพันธุกรรม Indominus rex หลุดออกมาและออกอาละวาดไปทั่วสวน ในภาคเรื่องนี้ทำรายได้ทั่วโลกไปแล้วกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[7] ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ทำร้ายได้สูงสุดในชุด จูราสสิค พาร์ค[8] ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 3 ของภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดของปี ค.ศ. 2015[9] และอยู่ในอันดับที่ 5 ของภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Jurassic Park". British Board of Film Classification. สืบค้นเมื่อ July 25, 2015.
  2. 2.0 2.1 "Jurassic Park (1993)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ May 6, 2013.
  3. Barnes, Mike (December 12, 2018). "'Jurassic Park,' 'The Shining,' 'Brokeback Mountain' Enter National Film Registry". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ December 12, 2018.
  4. "นักวิทยาศาสตร์ผิดหวังไดโนเสาร์ใน Jurassic World". ไทยพีบีเอส. 28 November 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-03. สืบค้นเมื่อ 30 November 2014.
  5. Bennington, J Bret (1996). "Errors in the Movie "Jurassic Park"". American Paleontologist 4 (2): 4–7.
  6. http://pantip.com/topic/32911973
  7. Jurassic World (2015) - Box Office Mojo
  8. Jurassic Park Moviesat the Box Office - Box Office Mojo
  9. ‘Jurassic World’ is 3rd Billion Dollar Movie of 2015 But May Become the Year’s Fastest-Grossing Film in North America
  10. รายชื่อภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]