ข้ามไปเนื้อหา

สางห่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จิ้งเหลนน้อยหางยาว)

สางห่า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
อันดับ: กิ้งก่าและงู
วงศ์: วงศ์จิ้งเหลนน้อยหางยาว
สกุล: สางห่า (สกุล)

Daudin, 1802
สปีชีส์: Takydromus sexlineatus
ชื่อทวินาม
Takydromus sexlineatus
Daudin, 1802
ในที่เลี้ยง

สางห่า หรือ จิ้งเหลนน้อยหางยาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Takydromus sexlineatus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่จัดอยู่ในอันดับ Squamata เช่นเดียวกับงูและกิ้งก่า จัดอยู่ในวงศ์จิ้งเหลนน้อยหางยาว (Lacertidae)

ลักษณะ

[แก้]

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับจิ้งเหลนในวงศ์ Scincidae หรือจิ้งเหลนทั่วไป แต่มีขนาดลำตัวเรียวยาวเล็กกว่า มีจุดเด่น คือ หางที่ยาวเรียวประมาณ 5 เท่าของขนาดลำตัว เกล็ดปกคลุมลำตัวด้านหลังและด้านท้องรูปร่างกลมและเรียบเป็นมัน เกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมกันและมีกระดูกในชั้นหนังรองรับโดยมีลักษณะจำเพาะ คือ เกล็ดแต่ละแผ่นมีกระดูกในชั้นหนังหลายชิ้น มีเพดานปากแบบทุติยภูมิเจริญขึ้นมา กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลเป็นรูปโค้งหรือไม่มีกระดูกชิ้นนี้และกระดูกไหปลาร้าเป็นรูปหักมุม หางค่อนข้างยาว หลายชนิดปล่อยหางหลุดจากลำตัวได้เหมือนเช่น จิ้งจก เพื่อเอาตัวรอดจากศัตรู โดยตำแหน่งที่ปล่อยหางอยู่ทางด้านหน้าของก้านกระดูกทางด้านข้างของก้านกระดูกทางด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนหาง พื้นผิวด้านบนของลิ้นเป็นตุ่มยาว ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับร่องที่ขอบด้านในของกระดูกขากรรไกร กระดูกพเทอรีกอยด์มีฟัน [2] ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือสีเทาหรือเทาอมเขียว ขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาว นิ้วตีนยาว นิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บและตัวเล็บโค้งลงทางด้านล่าง ตัวผู้ที่ข้างลำตัวมีจุดกลมสีขาวอมเขียว 10–12 จุด

ส่วนหัวของตัวเมีย
บนต้นไม้

มีขนาดความยาวจากปลายปากถึงรูก้น 65 มิลลิเมตร และหางยาว 300 มิลลิเมตร พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชียในหลายประเทศ เช่น อินเดีย, ตอนใต้ของจีน, เกาะไหหลำ, ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค แม้แต่พื้นที่กรุงเทพมหานคร

พฤติกรรมการหากิน

[แก้]

มีพฤติกรรมหากินในเวลากลางวันตามพื้นดิน โดยกินแมลง และไส้เดือนดิน เป็นอาหาร โดยฉกกินด้วยความรวดเร็ว มักพบบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้า รวมทั้งบนไม้พุ่มที่กระจายอยู่ในป่าโปร่ง หรือป่าเต็งรัง สามารถวิ่งไปบนต้นหญ้าได้เร็วมาก จึงพบเห็นตัวได้ยาก ในเวลากลางคืนจะเกาะพักนอนอยู่ในพุ่มหญ้า ในตอนเช้ามักจะนอนผึ่งแดด และเหวี่ยงหางไปมา

พฤติกรรมการวางไข่

[แก้]

ส่างหาเป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีการปรับสภาพร่างกายที่แตกต่างไปจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายอย่าง ซึ่งทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งได้ ด้วยการมี ผิวหนังที่มีความแห้งหยาบกระด้างกว่าผิวหนังที่ลื่นและเมือกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผิวหนัง รวมทั้งไม่มีต่อมเหงื่อและต่อมน้ำมันอยู่ใต้ชั้นของผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ป้องกันการสูญเสียน้ำและการระเหยของน้ำได้เป็นอย่างดี มีพฤติกรรมการวางไข่บนพื้นดิน ด้วยการวางไข่ครั้งละ 2–4 ฟอง มีวิวัฒนาการให้มีการปฏิสนธิของตัวอ่อนภายในเปลือกไข่ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการดำรงชีวิตให้รอดพ้นจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการวิวัฒนาการของเปลือกไข่ เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนภายในไข่มีชีวิตรอดออกมาเป็นตัว เปลือกไข่ของสัตว์เลื้อยคลานทำให้สามารถวางไข่บนพื้นดินแห้งได้ ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตและลอยตัวอยู่ในของเหลวภายใน ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มไข่ ตัวอ่อนจึงมีของเหลวล้อมรอบเช่นเดียวกับการวางไข่ในแหล่งน้ำ นอกจากนี้ตัวอ่อนยังมีถุงอาหารที่มีเยื่ออัลเลนทอยส์ ซึ่งเป็นเยื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนแก๊สผ่านเปลือกไข่ ที่เยื่ออัลเลนทอยส์ จะมีถุงสำหรับสะสมของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโต จนเป็นตัวเต็มวัยก่อนออกจากเปลือกไข่ ซึ่งการที่สัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดรวมไปถึงสางห่า สามารถวางไข่บนบกได้นั้น จึงเป็นผลของการวิวัฒนาการร่างกายที่ดีกว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

การป้องกันและการหลบหนีผู้ล่า

[แก้]

สางห่าจะมีพฤติกรรมการหลบหนีศัตรูเอาตัวรอดด้วยการสลัดหางทิ้ง เป็นพฤติกรรมหนึ่งของการเอาตัวรอดด้วยการดัดแปลงส่วนบริเวณโคนหาง ให้สามารถหลุดขาดออกจากลำตัวได้อย่างง่ายดาย โดยที่กระดูกปลายหางตอนกลางจะมีร่องตามขวาง เมื่อถูกศัตรูจับหรือตะปบได้ รอยต่อตรงร่องกระดูกจะขาดออกแล้วสลัดหางทิ้งเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจก่อนจะหลบหนีไป หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างกระดูกบริเวณส่วนหางและกล้ามเนื้อขึ้นมาแทนใหม่อีกครั้ง อีกทั้งความสำเร็จในการเอาตัวรอดของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า เกิดจากการวิวัฒนาการขากรรไกร ทำให้เกิดความคล่องตัวและการเคลื่อนไหวไปมาอีกด้วย

ความเชื่อ

[แก้]

สางห่า เป็นสัตว์ที่ชาวไทยที่ภาคอีสานมีความเชื่อว่ามีพิษร้ายแรง อาศัยอยู่ตามแอ่งน้ำหรือแอ่งน้ำในถ้ำ บ้างว่ามีพิษอยู่ที่เขี้ยว บ้างว่ามีพิษอยู่ที่เล็บ หรือมีพิษอยู่ที่หางที่ยาว จนเชื่อกันว่า หากใครถูกหางของสางห่าฟาดเข้าแล้วจะเกิดเป็นรอยแผลไหม้จนถึงแก่ความตายได้ หรือถูกหวาย หวายก็ไหม้ ขณะที่ทางแถบภาคกลางเชื่อว่า สางห่าเป็นงูขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มีขา อาศัยอยู่ตามยอดหญ้า พอหญ้าเหี่ยวเฉา ก็จะย้ายไปหาหญ้าใหม่ ขณะที่บางท้องที่เชื่อว่า สางห่าเป็นคางคกป่าชนิดหนึ่ง และมีเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า[3] แต่ความจริงแล้ว สางห่าไม่มีพิษ และไม่มีภัยอะไรต่อมนุษย์เลย ซึ่งจากความเชื่อนี้ ทำให้สางห่าได้ถูกอ้างอิงถึงในวรรณกรรมเรื่อง "เพชรพระอุมา" ของพนมเทียน เป็นสัตว์ประหลาดหรือธิดาของพญานาค[4]

นอกจากนี้แล้ว สางห่ายังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "งูคา", "กิ้งก่าน้อยหางยาว"[5] [6] หรือ"กระห่าง"[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Auliya, M. (2010). "Takydromus sexlineatus". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T178424A7544274. doi:10.2305/IUCN.UK.2010-4.RLTS.T178424A7544274.en. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (2552). วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN 978-616-556-016-0.
  3. "สางห่า มีอันตรายร้ายกาจจริงหรือ ?". ราชบัณฑิตยสถาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-15. สืบค้นเมื่อ 2012-08-20.
  4. "เพชรพระอุมา". เฟซบุก.
  5. สางห่า ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  6. "กิ้งก่าน้อยหางยาว จิ้งเหลนน้อยหางยาว งูคา สางห่า" (PDF). tistr.or.th.
  7. เจอ"กระห่าง"สัตว์หายากในป่าลึก หน้า 18, เดลินิวส์ฉบับที่ 23,035: วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แรม 7 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]