ทอกอนโทโมร์ ข่าน
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ทอกอนโทโมร์ ข่าน จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง | |||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ข่านพระองค์ที่ 15 แห่งจักรวรรดิมองโกล จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน | |||||||||||||||||
จักรพรรดิจีน | |||||||||||||||||
ครองราชย์ | 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1333 – 10 กันยายน ค.ศ. 1368 | ||||||||||||||||
ราชาภิเษก | 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1333 | ||||||||||||||||
ก่อนหน้า | หยวนหนิงจง | ||||||||||||||||
ถัดไป | หมิงไท่จู่ แห่งราชวงศ์หมิง | ||||||||||||||||
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน | |||||||||||||||||
ครองราชย์ | 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1333 – 10 กันยายน ค.ศ. 1368 | ||||||||||||||||
ก่อนหน้า | หยวนหนิงจง | ||||||||||||||||
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวนเหนือ | |||||||||||||||||
ครองราชย์ | 10 กันยายน ค.ศ. 1368 – 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1370 | ||||||||||||||||
ถัดไป | หยวนเจาจง | ||||||||||||||||
ประสูติ | 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1320 | ||||||||||||||||
สวรรคต | 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1370 (50 พรรษา) อิงชาง จักรวรรดิหยวนเหนือ | ||||||||||||||||
มเหสี | ต๋าน่าชือหลี่, คี | ||||||||||||||||
| |||||||||||||||||
ราชวงศ์ | เป่ย์เอ๋อร์จื่อจิน | ||||||||||||||||
ราชวงศ์ | หยวน (หยวน) | ||||||||||||||||
พระราชบิดา | หยวนหมิงจง | ||||||||||||||||
พระราชมารดา | นางไม่ไหลตี๋แห่งเผ่าคาร์ลุก |
หยวนฮุ่ยจง (จีน: 元惠宗; พินอิน: Yuán Huìzōng; 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1320 – 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1370) หรือ ถั่วฮฺวัน เทียมู่เอ่อร์ (จีน: 妥懽貼睦爾; พินอิน: Tuǒhuān Tiēmùěr; อักษรโรมัน: Toghon Temür) หรือ ทอกอนโทโมร์ ข่าน (มองโกเลีย: Тогоонтөмөр хаан) เสด็จสวรรคตแล้วจึงได้พระนามว่า หยวนซุ่นตี้ (จีน: 元順帝; พินอิน: Yuán Shùndì) เป็นจักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หยวน (ยฺเหวียน)
ใน ค.ศ. 1370 จู หยวนจาง (จีน: 朱元璋) ผู้นำกบฏโพกผ้าแดง (Red Turban Rebellion) นำทัพเข้าบุกยึดนครต้าตูหรือปักกิ่งอันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวน เป็นเหตุให้หยวนฮุ่ยจงต้องทรงหลบหนีออกจากเมือง เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์หยวนที่ปกครองประเทศจีนมาเป็นเวลากว่า 90 ปี
วัยเยาว์
[แก้]ใน ค.ศ. 1316 เจ้าชายคูซาลา (Kuśala) เจ้าชายแห่งราชวงศ์หยวน หลบหนีภัยทางการเมืองมายังจักรวรรดิข่านจักกาไท (Chagatai Khanate) อันเป็นอาณาจักรของชนชาติมองโกลในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเจ้าชายคูซาลาได้พบกับนางไมไลที (Mailaiti) บุตรสาวของหัวหน้าเผ่าคาร์ลุก (Karluks) และได้ให้กำเนิดพระโอรสพระนามว่า เจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ (Toghon Temür) ใน ค.ศ. 1320 หลังจากให้กำเนิดเจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ เพียงไม่นานนางไมไลทีก็เสียชีวิต
เหตุการณ์ทางฝ่ายเมืองต้าตู ใน ค.ศ. 1328 เจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ (Tugh Temür) ผู้เป็นพระอนุชาของเจ้าชายคูซาลา สามารถเข้ายึดบัลลังก์ราชวงศ์หยวนได้ด้วยการสนับสนุนของขุนพลเอลเตมูร์ (El Temür) และบายันแห่งเมอร์กิต (Bayan of the Merkit) เจ้าชายทูคเตมือร์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิหยวนเหวินจง และอัญเชิญพระเชษฐาเจ้าชายกูซาลาเสด็จนิวัตินครต้าตู เจ้าชายคูซาลาจึงเสด็จกลับต้าตูพร้อมกับเจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ พระโอรส แต่ได้นำกองทัพจากอาณาจักรจักกาไทมาด้วย เจ้าชายคูซาลานำทัพเข้ายึดนครต้าตูจากพระอนุชาใน ค.ศ. 1329 และขึ้นครองราชสมบัติแทนเป็นจักรพรรดิหยวนหมิงจง จักรพรรดิหยวนหมิงจงอยู่ในราชสมบัติได้เพียงแปดเดือนก็ถูกเอลเตมือร์วางยาพิษปลงพระชนม์สวรรคต จักรพรรดิเหวินจงทูคเตมูร์พระอนุชาได้ราชบัลลังก์กลับคืนมาอีกครั้ง ส่งผลให้เจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ พระชนมายุเพียงเก้าพระชันษาต้องถูกเนรเทศไปยังอาณาจักรโครยอ (Goryeo) และต่อมาก็ถูกโยกย้ายไปยังมณฑลกวางสี
พระจักรพรรดิเหวินจงทูคเตมูร์สวรรคตใน ค.ศ. 1332 ก่อนจะสวรรคตจักรพรรดิเหวินจงทรงรู้สึกผิดต่อพระเชษฐาจักรพรรดิหมิงจงคูซาลา จึงมีพระราชโองการให้พระโอรสของจักรพรรดิหมิงจงสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ (แม้ว่าจักรพรรดิเหวินจงจะทรงมีพระโอรสอยู่แล้วคือ เจ้าชายเอลเตกูส (El Tegus) ) ซึ่งเป็นที่คัดค้านของเอลเตมือร์เนื่องจากตนเป็นผู้ปลงพระชนม์ชีพพระจักรพรรดิหมิงจง เกรงว่าถ้าพระโอรสของจักรพรรดิหมิงจงได้ขึ้นครองราชย์แล้วตนเองจะถูกลงโทษ อย่างไรก็ตามด้วยการสนับสนุนของไทเฮาพุดาชีรี (Budashiri) พระจักรพรรดินีในจักรพรรดิเหวินจง และเนื่องจากเจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงถูกเนรเทศอยู๋ในดินแดนห่างไกล ราชสำนักจึงยกเจ้าชายรินชินบาล (Rinchinbal) พระอนุชาต่างมารดาของเจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ พระชนมายุเพียงหกพระชันษาขึ้นครองราชสมบัติเป็น จักรพรรดิหยวนหนิงจง (แต่ทว่าพระจักรพรรดิหนิงจงรินชินบาลอยู๋ในราชสมบัติได้เพียงสองเดือนก็ประชวรสวรรคต ไทเฮาพุดาชีรีจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าชายถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงกลับมาครองราชย์เป็น พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ในที่สุดใน ค.ศ. 1332
รัชสมัย
[แก้]พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ขึ้นครองราชสมบัติด้วยพระชนมายุเพียงสิบสามพระชันษา จึงจำต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนคือไทเฮาพูดาชีรีและเอลเตมือร์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนเอลเตมือร์มีอำนาจมากมายล้นฟ้า จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงอภิเษกกับพระจักรพรรดินีทานาชีรี (Danashiri) ซึ่งเป็นธิดาของเอลเตมือร์ และเนื่องจากจักรพรรดิยังทรงไม่มีพระโอรส เอลเตมือร์จึงพลักดันให้พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงแต่งตั้งเจ้าชายเอลเตกูส พระโอรสของพระจักรพรรดิเหวินจงทูคเตมูร์ เป็นไท่จื่อหรือเจ้าชายรัชทายาท ในปีต่อมา ค.ศ. 1333 เอลเตมูร์ถึงแก่อสัญกรรม อำนาจจึงถูกถ่ายทอดให้แก่ทังกีช (Tangkish) ผู้เป็นบุตรชาย ใน ค.ศ. 1335 ทังกีชก่อการกบฏหมายจะยึดราชบัลลังก์มาให้แก่เจ้าชายรัชทายาทเอลเตกูส แต่ขุนพลบายันแห่งเมอร์กิตได้ให้การสนับสนุนจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ และยกทัพเจ้าปราบกบฏของทังกีชได้สำเร็จ ทังกีชถูกประหารชีวิตและจักรพรรดินีทานาชีรีถูกปลดจากตำแหน่งและเนรเทศ ต่อมาภายหลังบายันแห่งเมอร์กิตได้ส่งคนไปลอบวางยาพิษปลงพระชนม์อดีตพระจักรพรรดินีทานาชีรีสิ้นพระชนม์
ผลงานการปราบกบฏของทังกีชในค.ศ. 1335 โดยขุนพลบายันแห่งเมอร์กิต ทำให้บายันขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในราชสำนักหยวน ช่วงเวลาแห่งการปกครองของบายันนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการกดขี่สำหรับชาวจีน ด้วยเหตุที่บายันมีความเห็นว่าราชสำนักหยวนในขณะนั้นถูกอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนเข้าครอบงำและกำลังจะสูญเสียวิถีชีวิตอย่างชาวมองโกลไป บายันแห่งเมอร์กิตจึงมีนโยบายลดบทบาทของวัฒนธรรมจีนลง โดยการยกเลิกการสอบจอหงวน (ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในสมัยของจักรพรรดิหยวนเหรินจง) นโยบายแบ่งแยกชนชาติระหว่างชาวมองโกลและชาวจีน โดยการห้ามชาวจีนเรียนรู้ภาษามองโกล และห้ามชาวมองโกลเรียนรู้ภาษาจีน จนถึงขั้นมีการเสนอให้สังหารชาวจีนห้าแซ่ ได้แก่ แซ่จาง แซ่หวัง แซ่หลิว แซ่หลี่ และแซ่เจ้า ไปทั้งหมดเพื่อป้องกันการกบฏ แม้ว่านโยบายนี้จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ จะทรงไม่เห็นด้วยก็ตาม ค.ศ. 1339 บายันได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดี มีอำนาจล้นฟ้าอีกเช่นกัน พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ เกรงว่าบายันจะเป็นภัยต่อพระองค์เอง จึงทรงสมคบคิดกับทอคตอ (Toghto) ผู้เป็นหลานชายของบายัน ทำการยึดอำนาจมาจากบายันและสังหารบายันไปในค.ศ. 1340
การปกครองของทอคตอ
[แก้]เนื่องจากจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงไม่ใส่พระทัยในกิจการบ้านเมืองเท่าใดนัก อำนาจการปกครองทั้งหลายจึงตกอยู่แก่ทอคตอ ทอคตอมีนโยบายที่ตรงข้างกับบายันแห่งเมอร์กิต คือมีนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมจีนโดยการรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวรรณกรรมจีน รวมทั้งหลักปรัชญาขงจื้อ
ใน ค.ศ. 1340 พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ มีพระชนมายุมากเพียงพอที่จะว่าราชการได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทน จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ จึงทรงเริ่มทำการแก้แค้นให้แก่พระบิดาคือจักรพรรดิหมิงจงกูซาลา โดยการปลดป้ายพระวิญญาณของจักรพรรดิเหวินจงทูคเตมูร์พระปิตุลาออกจากศาลบรรพกษัตริย์ ปลดไทเฮาพูดาชีรีออกจากตำแหน่งและเนรเทศออกจากพระราชวัง ซึ่งต่อมาไม่นานอดีตไทเฮาก็สิ้นพระชนม์ รวมทั้งปลดเจ้าชายเอลเตกูสออกจากตำแหน่งรัชทายาทและเนรเทศออกจากพระราชวังเช่นกัน ระหว่างที่เสด็จเนรเทศออกไปนั้นพระจักรพรรดิก็ทรงส่งคนไปทำการปลงพระชนม์อดีตเจ้าชายรัชทายาทเอลเทกูสสิ้นพระชนม์
ใน ค.ศ. 1340 เช่นกัน พระสนมชาวเกาหลีตระกูลคี ซึ่งเป็นพระสนมองค์โปรด ได้ประสูติพระโอรสพระองค์แรก พระนามว่าเจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่า (Ayurshiridar) ทำให้พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงโปรดปรานพระสนมแซ่คีมากขึ้นไปอีก จนมีการแต่งตั้งให้พระสนมคีเป็น พระจักรพรรดินีโอลเจย์คูตูค (Öljei Khutugh) หรือ จักรพรรดินีคี (ภาษาจีน: 奇皇后; ภาษาเกาหลี:기황후) แม้ว่าจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ จะทรงมีจักรพรรดินีอยู่แล้วก็ตาม ทำให้ในขณะนั้นราชวงศ์หยวนจึงมีพระจักรพรรดินีพร้อมกันสองพระองค์
กลุ่มของชาวจีนผู้เลื่อมใสในลัทธิบัวขาวและมีแนวคิดต่อต้านการปกครองของชาวมองโกล รวมตัวกันขึ้นเป็นกบฏโพกผ้าแดง ซึ่งปะทุขึ้นครั้งแรกที่เมืองอิงโจว มีผู้นำได้แก่ หัน หลินเอ๋อร์ (韓林兒) และหลิว ฝูทง (劉福通) ใน ค.ศ. 1351 จากนั้นกบฏโพกผ้าแดงจึงขยายตัวขึ้นมีชาวจีนเข้าร่วมมากมายตลอดจนทั้งภูมิภาคจีนตอนเหนือ ทอคตอจึงนำกองทัพเข้าปราบกบฏในช่วง ค.ศ. 1352–1354 ใช้เวลาถึงสามปีในการปราบกบฏโพกผ้าแดงจนหมดสิ้นไป แต่ยังคงหลงเหลือกลุ่มกบฏโพกผ้าแดงในทางตอนใต้ของจีนซึ่งคอยหาทางโจมตีนครต้าตูจากทางทะเลอยู่เสมอ
การชิงบัลลังก์ของเจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่า
[แก้]ค.ศ. 1353 พระจักรพรรดินีตระกูลคีได้ร่วมมือกับขุนนางมองโกลชื่อว่า ฮามา (Hama) ทำการโน้มน้าวให้พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงแต่งตั้งเจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าให้เป็นไท่จื่อหรือเจ้าชายรัชทายาท แต่ถูกคัดค้านโดยอัครเสนาบดีทอคตอ ทำให้จักรพรรดินีคีทรงพิโรธและสมคบคิดกันกับฮามาสร้างข้อกล่าวหาการทุจริตฉ้อราชย์บังหลวงให้แก่ทอคตอ เป็นเหตุให้ทอคตอถูกปลดจากตำแหน่งอัครเสนาบดีและถูกเนรเทศไปมณฑลยูนนานในค.ศ. 1354 และเจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายรัชทายาทในที่สุด โดยมีฮามาเป็นผู้กุมอำนาจในราชสำนักยฺเหวียนคนใหม่ ฮามาวางแผนการก่อกบฏปลดพระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ และยกเจ้าชายรัชทายาทอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าเป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ใน ค.ศ. 1356 แต่ไม่สำเร็จ ฮามาถึงถูกเนรเทศออกจากราชสำนักไปในที่สุด
ใน ค.ศ. 1364 เจ้าชายรัชทายาทอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าทรงวางแผนก่อการกบฏล้มราชบัลลังก์ของพระบิดา แต่ทว่าบอลัดเตมูร์ (Bolad Temür) ขุนนางผู้จงรักภัคดีต่อพระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ได้ยกทัพเข้าต่อต้านเจ้าชายรัชทายาทอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าและยึดนครต้าตูไว้ เจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าทรงหลบหนีไปยังมณฑลเหอหนานเพื่อขอความช่วยเหลือจากขุนพลโฮฮ์โทโมร์ (Хөхтөмөр) เคอเกเตมือร์ยกทัพเข้ายึดนครต้าตูคืนให้แก่เจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่า จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ส่งคนไปทำการลอบสังหารบอลัดเตมูร์เป็นเหตุให้โคเกเตมือร์มีชัยชนะเข้ายึดเมืองต้าตูได้ เจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าทรงบังคับให้จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ พระบิดาสละราชบัลลังก์ ซึ่งจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ทรงไม่ยอมแต่มอบตำแหน่งทางทหารให้แก่พระโอรสจนเป็นที่พอพระทัยทั้งสองฝ่าย
การสิ้นสุดของราชวงศ์หยวน
[แก้]ใน ค.ศ. 1368 ขุนพลชาวจีนชื่อว่า จู หยวนจาง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่มกบฏโพกผ้าแดงและรวบรวมดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเข้ามาในอาณัตของตนแล้วนั้น ได้ทำการปราบดาภิเษกก่อตั้งราชวงศ์หมิง ขึ้นที่เมืองนานกิงอันเป็นฐานที่มั่นของจู หยวนจาง โดยมีพระนามว่า พระจักรพรรดิหงอู่ จากนั้นในปีเดียวกันได้ยกทัพเข้ายึดนครต้าตูอันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ พร้อมด้วยพระโอรสเจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าเสด็จหลบหนีไปยังเมืองช่างตู (上都) ราชธานีฝ่ายเหนือของราชวงศ์หยวน ใน ค.ศ. 1370 กองทัพราชวงศ์หมิงเข้ายึดเมืองช่างตู ทำให้จักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ต้องเสด็จหนีอีกครั้งพร้อมกับพระโอรสไปยังเมืองอิงชาง (應昌 Yingchang; อยู่ในเขตมองโกเลียในในปัจจุบัน) ซึ่งในปีนั้นเองพระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ประชวรสวรรคตที่เมืองอิงชาง พระชนมายุห้าสิบชันษา
ตลอด 37 ปีแห่งการครองราชย์ทรงได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวจีน เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนในยุคนั้นตกต่ำอย่างหนัก และชาวจีนเห็นว่าชาวมองโกลเป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับราชสำนักเริ่มอ่อนแอลง ชาวจีนจึงก่อการกบฏไปทั่วโดยเฉพาะมณฑลทางใต้
หลังจากที่พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ สวรรคตได้ไม่นานในปีเดียวกันเมืองอิงชางก็ตกเป็นของราชวงศ์หมิง เจ้าชายอ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่าพระโอรสเสด็จหนีไปยังเมืองคาราโครุม (Karakorum) ก่อตั้งราชวงศ์หยวนเหนือ พระจักรพรรดิหงหวู่ถวายพระนามแด่พระจักรพรรดิถั่วฮวัน เทียมู่เอ่อร์ ว่า ชุ่นตี้ ในขณะที่ราชสำนักหยวนเหนือถวายพระนามว่า ฮุ่ยจง
พระบรมวงศานุวงศ์
[แก้]- พระบรมราชชนก: สมเด็จพระจักรพรรดิหยวนหมิงจง (ภาษาจีน: 明宗 Mingzong) คูซาลา (ภาษามองโกล: Kuśala)
- พระบรมราชชนนี: นางไม่ไหลตี๋ (邁來迪; Mailaiti) แห่งเผ่าคาร์ลุก (Karluk) เสียชีวิต ค.ศ. 1320
- พระราชอนุชา: สมเด็จพระจักรพรรดิหยวนหนิงจง (ภาษาจีน: 寧宗 Ningzong) รินชินบาล (ภาษามองโกล: Rinchinbal)
- สมเด็จพระจักรพรรดินี:
- สมเด็จพระจักรพรรดินีทานาชีรี (ภาษาจีน: 答納失里; ภาษามองโกล: Danashiri) แห่งเผ่าคิปชัก (Kipchak) ธิดาของเอลเตมูร์ (El Temür) อภิเษกเมื่อ ค.ศ. 1333 ถูกปลดจากตำแหน่งและปลงพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1335
- สมเด็จพระจักรพรรดินีบายันคูตูค (ภาษาจีน: 伯顏忽都; ภาษามองโกล: Bayan Khutugh; ค.ศ. 1324 - 1365) แห่งเผ่าคุงกีรัต (Khunggirad) ธิดาของบอลัดเตมูร์ (Bolad Temür)
- สมเด็จพระจักรพรรดินีคี (ภาษาจีน: 奇皇后; ภาษาเกาหลี:기황후) หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีโอลเจย์คูตูค (ภาษาจีน: 完者忽都; ภาษามองโกล: Öljei Khutugh; ค.ศ. 1315 - 1369) ชาวเกาหลี
- พระราชโอรส:
- สมเด็จพระจักรพรรดิหยวนเจ้าจง (ภาษาจีน: 昭宗 Zhaozong) อ้ายโหยวฉือหลี่ต๋าล่า (ภาษามองโกล: Ayurshiridar; ค.ศ. 1340 - 1379) แห่งราชวงศ์หยวนเหนือ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดินีคี
- สมเด็จพระจักรพรรดิหยวนเทียนหยวนตี้ (ภาษาจีน: 天元帝 Tianyuandi) โทกูสเตมูร์ (ภาษามองโกล: Tögüs Temür; ค.ศ. 1342 - 1388) แห่งราชวงศ์หยวนเหนือ ไม่ทราบพระนามพระบรมราชชนนี
อ้างอิง
[แก้]- Denis C. Twitchett, Herbert Franke, John King Fairbank. The Cambridge History of China: Volume 6, Alien Regimes and Border States, 710-1368. Cambridge University Press, 1994.
ก่อนหน้า | ทอกอนโทโมร์ ข่าน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
จักรพรรดิหยวนหนิงจง (รินชิมบัล ข่าน) |
จักรพรรดิจีน (ค.ศ. 1333–1368) |
จักรพรรดิหงอู่ (ราชวงศ์หมิง) |