ข้ามไปเนื้อหา

ค้อนประธาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ค้อนแกเฟิล)
ค้อนแกเฟิลไม้วางอยู่บนรายงานกระบวนพิจารณา จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ตุลาการมินเนโซตา (Minnesota Judicial Center)

ค้อนประธาน (ฝรั่งเศส: marteau de président) หรือ ค้อนแกเฟิล (อังกฤษ: gavel; เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈgævəl/) หรือในภาษาไทยมักเรียกเพียง ค้อน นั้น เป็นอุปกรณ์ทางพิธีการ ลักษณะอย่างค้อน มีขนาดเล็ก มักทำจากไม้แข็งและติดด้าม สำหรับใช้เคาะที่วาง (block) เพื่อกระทำเสียง ค้อนแกเฟิลนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและสิทธิสำหรับกระทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของประธาน (chair) อย่างเป็นทางการ หรือสำหรับเป็นประธานในการหนึ่ง ๆ[1] โดยมักใช้กระทำเสียงเคาะเพื่อเรียกความสนใจ หรือเคาะนำหรือจบการสั่ง ประกาศ วินิจฉัย หรือพิพากษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน จึงเป็นที่มาของสำนวนในภาษาอังกฤษว่า "gavel-to-gavel" อันหมายถึง การประชุมทั้งกระบวนการ

ค้อนแกเฟิลนั้น ตุลาการในศาล และผู้ทอดตลาดในการขายทอดตลาด มักใช้ และในภาษาไทย ลักษณนาม คือ "เต้า" หรือ "อัน"[2]

ประวัติ

[แก้]

ว่ากันว่า การใช้ค้อนแกเฟิลนั้น มีประวัติย้อนหลังไปในอังกฤษมัชฌิมยุค (Medieval England) โดยในศาลที่ดิน (land court) ตุลาการจะเคาะโต๊ะด้วยค้อนแกเฟิล ก่อนกำหนดข้อตกลงชำระค่าเช่าด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิใช่เงินสดเสมอ

การใช้อันเหมาะสม

[แก้]

"ข้อบังคับการประชุมของรอเบิร์ตฉบับตรวจชำระใหม่" (Robert's Rules of Order Newly Revised) วางหลักเกี่ยวกับการใช้ค้อนแกเฟิลอย่างเหมาะสมในการประชุมปรึกษา ตัวอย่างเช่น ประธานจะไม่เคาะค้อนแกเฟิลเพื่อกลบเสียงของสมาชิกผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย[3] หากประธานจะเคาะค้อนแกเฟิลเบา ๆ แต่ขึงขังเป็นครั้งเป็นคราในช่วงต่าง ๆ[1] ประธานไม่พึงเล่นค้อนแกเฟิล หรือใช้ค้อนแกเฟิลสำหรับต่อต้าน คุกคาม หรือเน้นย้ำการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เช่น เคาะค้อนแกเฟิลรัว ๆ เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นใด ๆ อย่างเดียวกับปรบมือ[1] ข้อห้ามประธานตัดสิทธิสมาชิกในอันที่จะอภิปรายหรือเสนอญัตติ ด้วยการที่ประธานนำปัญหาข้อนั้นให้ลงคะแนนเสียงกันเสียทีเดียวก่อนสมาชิกคนใด ๆ จะได้แสดงความคิดเห็นนั้น เรียกว่า "การเคาะค้อนเชิงมาตรการ" (gaveling through a measure)[4]

ส่วน "คู่มือของดีมีเทอร์ ว่าด้วยข้อบังคับและวิธีประชุมสภา" (Demeter's Manual of Parliamentary Law and Procedure) ว่า นอกจากใช้เคาะกระทำเสียงแสดงว่าการลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้นแล้วนั้น ค้อนแกเฟิลยังใช้ในสามกรณีต่อไปนี้อีก[1]

  1. เรียกความสนใจ หรือเรียกให้ที่ประชุมอยู่ในความสงบ ในองค์การส่วนใหญ่ เคาะสองครั้ง หมายถึง ให้ที่ประชุมลุกยืน และเคาะครั้งเดียว หมายถึง ให้ที่ประชุมนั่งลง ส่วนในที่อื่น ๆ เคาะสองครั้ง หมายถึง ให้ลุกยืน และสามครั้ง หมายถึง ให้นั่งลง
  2. รักษาความสงบ เรียกความสงบกลับคืนมา หลังมีความวุ่นวายระหว่างดำเนินกระบวนประชุม โดยเคาะเพียงครั้งเดียว แต่ให้ขึงขัง
  3. ส่งค้อนแกเฟิลให้ผู้เข้ารับตำแหน่งคนใหม่ หรือใช้ในพิธีการต่าง ๆ เป็นต้น

ค้อนแกเฟิลในรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา

[แก้]
ค้อนแกเฟิลในวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (ซ้าย คือ เต้าเดิมที่ทำลายลง และขวา คือ เต้าใหม่ที่เป็นของขวัญจากประเทศอินเดีย)

ตาม ประเพณีทางวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (Traditions of the United States Senate) นั้น ค้อนแกเฟิลเฉพาะสำหรับวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา มีแต่หัวค้อน ซึ่งมีรูปอย่างนาฬิกาทราย และไม่มีด้าม ค้อนแกเฟิลเต้าเดิมนั้นทำจากงาช้าง และใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นอย่างน้อย จนมีสภาพทรุดโทรมลงโดยลำดับ แม้ใน ค.ศ. 1952 จะมีการเพิ่มที่แผ่นเงินเข้าหัวท้ายค้อนแกเฟิลงาช้างนี้เพื่อกันบุบสลายมากขึ้นก็ตาม แต่ในสองปีถัดมา คือ ค.ศ. 1954 ค้อนแกเฟิลงาช้างก็ทำลายลงขณะ รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกซัน ใช้เคาะระหว่างการอภิปรายอันดุเดือดเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากไม่สามารถหางาช้างขนาดใหญ่พอจะทำค้อนแกเฟิลอย่างเต้าเดิมนั้นได้ วุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจึงร้องขอไปยังสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศอินเดียได้ทำค้อนแกเฟิลขึ้นใหม่จากงาช้าง เลียนแบบค้อนเต้าเดิม แล้วส่งเป็นของขวัญให้แก่วุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา วุฒิสภาได้ใช้ค้อนนี้เป็นครั้งแรก ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 จนบัดเดี๋ยวนี้

ส่วนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกานั้น ใช้ค้อนแกเฟิลซึ่งมีรูปลักษณะธรรมดา และทำด้วยไม้ เนื่องจากมีการใช้เคาะแรง ๆ บ่อย ๆ สภาผู้แทนราษฎรจึงเปลี่ยนค้อนใหม่บ่อยมาก[5]

ในสภาทั้งสองของสหรัฐอเมริกา จะเคาะค้อนแกเฟิลหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปิดประชุม เลื่อนประชุม และประกาศคำวินิจฉัย (เช่น เมื่อประธานในที่ประชุมประกาศว่า มติหรือญัตติเป็นอันผ่านแล้ว จะเคาะค้อนแกเฟิลหนึ่งครั้ง ก่อนดำเนินการต่อ) อนึ่ง จะรัวค้อนแกเฟิล เพื่อเรียกความสงบของที่ประชุมกลับคืนมา ในโอกาสที่มีการปะทะคารมกันรุนแรง หรือมีเสียงเอะอะมะเทิ่ง เป็นต้น

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 แม่แบบ:Cite parl
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  3. แม่แบบ:Cite parl
  4. RONR (10th ed.), p. 374
  5. "C-span.org". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-04-11.

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ค้อนประธาน