ปัทมสัมภวะ
ปัทมสัมภวะ | |
---|---|
เกิด | ประเทศอินเดีย |
เสียชีวิต | ทิเบต |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ก่อตั้งสายญิงมาในศาสนาพุทธแบบทิเบต |
ปัทมสัมภวะ หรือ ปัทมสมภพ (สันสกฤต: ปทฺมสํภว; "ผู้เกิดจากดอกบัว")[note 1] หรือที่รู้จักในชื่อ คุรุรินโปเช เป็นวัชราจารย์ผู้เผยแผ่ศาสนาพุทธสายวัชรยานในทิเบตราวคริสต์ศตวรรษที่ 8-9[1][2][3][4] แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทิเบตยุคแรก ๆ หลายฉบับกล่าวว่า มหาคุรุท่านเดินทางมายังทิเบตในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 และสถานปนาสร้างอารามซัมเย ซึ่งเป็นพระอารามทางพระพุทธศาสนาแห่งแรกในทิเบต[3] อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับคุรุในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์นอกเหนือไปจากบทบาทในศาสนาพุทธแบบวัชรยานและแบบทิเบต[5][6]
คุรุปัทมสัมภวะเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านทิเบตสู่ศาสนาพุทธ[7][5] ปรากฏหลักฐานบันทึกต่าง ๆ นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เกี่ยวกับคุรุปัทมสัมภวะ ในฐานะผู้ควบคุมวิญญาณและเทพเจ้าทิเบตทั้งปวง รวมถึงเป็นผู้ซ่อนคัมภีร์ลับมากมาย (เตร์มา) เพื่อให้ผู้ที่เหมาะสมมาค้นพบในอนาคตกาล[8] ท่านญังรัล ญีมา เออเซร์ (Nyangral Nyima Özer; 1124–1192) เป็นผู้รจนาคัมภีร์ประคำแก้วมณี หรือ ซังลิง มา (Zangling-ma) ถือเป็นบันทึกชีวประวัติของคุรุปัทมสัมภวะที่เก่าแก่ที่สุด[9][10] นักวิชาการถือกันว่าญังกรัลเป็น "หนึ่งในผู้วางรากฐานตำนานของปัทมสัมภวะ และเป็นคนแรกที่เชื่อมโยงคุรุปัทมสัมภวะเข้ากับซกเชน (ความประเสริฐยิ่ง)"[11][12]
ศาสนาพุทธแบบทิเบตในยุคหลังให้ความนับถือคุรุปัทมสัมภวะเป็นประดุจดั่งพระพุทธเจ้าองคสองรองลงมาจากพระศากยมุนีพุทธเจ้า เหตุเพราะท่านเป็นบุคคลที่ปรากฏตามคำพยากรณ์[2] นอกจากนี้ยังถือว่าพระนางเยเช โซเกียล และพระนางมัณทารวา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งเนปาลก็ล้วนเป็นศิษยานุศิษย์ของคุรุปัทมสัมภวะ[5] นิกายญิงมาปะถือว่าคุรุเป็นผู้สถปนาคำสอนนิกายนี้[13][4] และตามธรรมเนียมญิงมาปะยังเชื่อว่าเชื้อสายซกเชนมีต้นกำเนิดจากท่านการับ โดร์เจ และสืบทอดสายตรงมาสู่ปัทมสัมภวะด้วย[14]
ประวัติ
[แก้]ประวัติศาสตร์ในยุคต้น
[แก้]ตามเอกสารในพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของทิเบต กล่าวถึงคุรุปัทมสัมภวะในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์คือ พงศาวดารแห่งบา (Testament of Ba, ประมาณศตวรรษที่ 9–12) บันทึกถึงการสถาปนาอารามซัมเย ในยุครัชสมัยของของพระเจ้าทรีซง เดเซน (Trisong Detsen) รวมทั้งเอกสารที่ค้นพบในแถบตุนหวง ประเทศจีน ยังกล่าวถึงปรมาจารย์ตันตระที่ชื่อว่า ปัทมสัมภวะผสยบปวงปีศาจ (Padmasambhava who tames demons) ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าทรีซง เดเซนไดนิมนต์พระศานตรักษิตเถระ (Śāntarakṣita; 725–788) และเหล่าบัณฑิตไปยังดินแดนทิเบตเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสร้างวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกที่ อย่างไรก็ตาม ก็เหตุการณ์บางอย่าง เชน น้ำท่วมในวัดและฟ้าผ่าลงที่กลางปราสาทของพระราชา ทำให้ข้าราชบริพานต่างปริวิตกว่า อาจเกิดจากเทพเจ้าในท้องถิ่นโกรธเคือง
เหตุนี้คณะพระธรรมฑูตจึงต้องเดินทางกลับไปยังเนปาลเพื่อความสบายใจของราษฎรชาวทิเบต แต่ท่านก็ได้รับการนิมนต์ให้กลับมาอีกในครั้งที่ 2 ภายหลังจากความการต่อต้านพุทธศาสนาเริ่มสงบลง เมื่อท่านกลับมาพระศานตรักษิตเถระได้อาราธนาคุรุปัทมสมภพ ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตันตระจากแคว้นอุฑฑิยาน เมื่อคุรุปัทมสมภพท่านเสด็จมายังทิเบต ท่านได้เริ่มสยบวิญญาณท้องถิ่นให้ยอมจำนนและสร้างความประทับใจให้ชาวทิเบตด้วยวิธีการใชเวทย์มนตร์คาถาและพิธีกรรมให้เป็นที่สนใจ จนการสร้างพระอารามซัมเยจึงแล้วเสร็จไปได้ด้วยดี ด้วยเหตุที่มหาคุรุท่านมีบทบาทอย่างมากต่อสังคมทิเบตในขณะนั้นและเป็นจุดสนใจของประชาชน จึงทำให้ราชสำนักเริ่มสงสัยว่าคุรุปัทมสัมภวะต้องการยึดอำนาจ จนมีเรื่องการใส่ร้ายและขอให้มีการเนรเทศแต่ไม่เป็นผล
ประวัติศาสตร์ในเชิงเทพนิยาย
[แก้]ในราวศตวรรษที่ 11-12 ตำนานที่เกี่ยวข้องกับคุรุปัทมสมภพเริ่มมีการเล่าขานมากขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับบุคคลสำคัญในยุคนั้น เชน พระวิมาลมิตร พระเจ้าซองซัน กัมโป และมหาโลจาว่าไวโรจนะ เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 12 เรื่องเล่าขอคุรุปัทมสมภพก็เริ่มมีอิทธิอย่างมากต่อมาบริบทความเชื่อของผู้คน และกลายเป็นตำนานที่มีอิทธิพลมากที่สุดของการนำพระพุทธศาสนามาสู่ทิเบต[15]
ชีวประวัติของมหาคุรุที่กล่าวได้ว่าเป็นฉบับสมบูรณ์เล่มแรกปรากฏในลักษณะของธรรมสมบัติ (เตร์มา) กล่าวกันว่าค้นพบโดยท่านญังรัล ญีมา เออเซร์ (Nyangral Nyima Özer; 1124–1192) เจ้าอาวาสวัดมาโวชก (Mawochok) ในชื่อคาทัง ซังลิง มา (bka 'thang zangs gling ma) คัมภีร์เล่มนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดการเชิดชูให้คุรุปัทมสมภพเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเตอร์เติน คุรุ โชวัง (tertön Guru Chöwang; 1212–1270) เป็นผู้มีส่วนสำคัญคนถัดไปและเป็นผบันทึกชีวประวัติของพระนางเยเช โซเกียล ชายาของคุรุปัทมสมภพ[16] การเล่าเรื่องพื้นฐานจากธรรมบัติของท่านผ่านเรื่องราวอภินิหารต่าง ๆ ยังคงได้รับการขยายและเรียบเรียงโดยชาวทิเบต จนในศตวรรษที่ 14 มีการค้นพบธรรมบัติฉบับใหม่โดย ท่านโอร์เกน ลิงปะ (Orgyen Lingpa; 1323–1360) ในชื่อคัมภีร์เปมา กาทัง (Padma bka' thang) คัมภีร์เล่มนี้กล่าวถึงประวัติการปรากฏขึ้นในโลกของท่านเป็นครั้งแรกโดยสมบูรณ์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการบรรพชาในสำนักของพระอานนท์เถระ และมีการอ้างถึงคุรุปัทมสัมภวะว่าเป็น "พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง"[17]
การประสูติและชีวิตในครั้งทรงพระเยาว์
[แก้]โดยทั่วไปประวัติของคุรุปัทมสมภพถูกพรรณนาว่า ท่านเป็นนิรมาณกายจากพระหฤทัยของพระอมิตาภพุทธเจ้ามาในรูปกุมารอาย 8 ขวบปรากฏในดอกบัวที่ลอยอยู่ในทะเลสาบธนโกศะ (Dhanakosha) ล้อมรอบด้วยเหล่าพระฑากินีที่สถิตในแดนอุฑฑิยาน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเรื่องราวการประสูติอื่น ๆ ด้วยเชนกัน อีกเรื่องหนึ่งระบุว่าพระองค์ทรงประสูติจากจากครรภ์ของพระนางชเลนทร พระชายาของพระศักรแห่งแคว้นอุฑฑิยาน และได้รับนามว่า โดร์เจ ดุดดุล (Dorje Duddul)[17]
ดังที่ท่านญีมา เคนเชน ปาลเดน เชรับ รินโปเช (Nyingma Khenchen Palden Sherab Rinpoche) อธิบายว่า:
มีเรื่องราวมากมายที่อธิบายว่าคุรุปัทมสัมภวะทรงประสูติได้อย่างไร บางคนบอกว่าพระองค์ปรากฏตัวบนยอดเขาอุกกาบาตในศรีลังกา บางคนสอนว่าพระองค์ทรงประสูตจากครรภ์มารดา แต่เรื่องราวส่วนใหญ่กล่าวถึงการประสูติที่น่าอัศจรรย์ โดยอธิบายว่าทรงปรากฏขึ้นเองที่ใจกลางดอกบัว เรื่องราวเหล่านี้ล้วนไม่ขัดแย้งกัน เหตุเพราะพระอริยเจ้าที่ตระหนักรู้ในธรรมอันสูงส่งนั้นอาศัยความใจกว้างพร้อมความเข้าใจอันสมบูรณ์ และสามารถทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างมีความยืดหยุ่น ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ตามแต่พระองค์ปรากฏได้ตามต้องการหรือที่จำเป็น[18]
ตำนานเล่าว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงปกครองในแคว้นอุฑฑิยานทางตอนเหนือของชมพูทวีปนามว่า อินทรภูติ พระองค์ทรงปรารถนาบุตรเพื่อสืบราชสมบัติ ในขณะนั้นพระองค์ได้ทรงพบกับกุมารองค์หนึ่งอยู่กลางดอกบัวในทะเลสาปธนโกศะ ซึ่งว่ากันว่าเป็นนิรมาณกายของพระอมิตาภพุทธเจ้า พระองค์จึงรับเลี้ยงมาเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง จนเมื่อกุมารปัทมสัมภวะเจริญวัยจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ได้สมญานามว่า ปัทมราช หรือ เปมา เกียลโป (གུ་རུ་པདྨ་རྒྱལ་པོ་, gu ru pad+ma rgyal po) จนกระทั้งวันหนึ่งพระราชโอรสเล็งข่ายทิยพญาณเห็นอำมาตย์ผู้หนึ่งของพระบิดาทราบว่า ในอนาคตกาลอำมาตย์ผู้นี้จะก่อกบฏต่อบ้านเมือง พระองค์จึงทำการสังหารเขาด้วยการฟาดไม้เท้าขัฏวางคะ จนทำให้พระกุมารถูกเนรเทศออกจากเมือง ท่านจึงหันมาใช้ชีวิตในฐานะมหาสิทธาและปฏิบัติฝึกตันตระตามบริเวณสุสานทั่วไป
จนวันหนึ่งท่านเดินทางมายังแถบรัฐหิมาจัลประเทศ ในบริเวณนั้นมีทะเลสาปชื่อโซ เปมา (Tso Pema) ท่านได้พบกับพระธิดานามว่า มัณฑรวา (མནྡཱ་ར་བ་, man+dA ra ba) ซึ่งเป็นธิดาของกษัตริย์ในท้องถิ่น คุรุปัทสมภพจึงได้สั่งสอนการปฏิบัติตันตระแก่พระนาง จนเมื่อพระบิดาของทรงทราบจึงทรงพยายามประหารชีวิตท่านมหาคุรุด้วยการเผาทั้งพระองค์และพระธิดาของตน แต่ไม่สำเร็จ ว่ากันว่าเมื่อควันจางลงแล้ว พระองค์ทั้งสองก็ทรงพระชนม์อยู่ โดยมีดอกบัวผุดขึ้นมาจากทะเลสาบอยู่ตรงกลางนั้น สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งกับปาฏิหาริย์นี้ กษัตริย์จึงถวายทั้งอาณาจักรของพระองค์และเมืองมัณฑราวาแก่คุรุปัทมสัมภวะ กล่าวกันว่าปัทมสัมภวะได้ขึ้นครองเมืองเมอง และสั่งสอนคำสอนทางพุทธศาสนาจนผู้คนต่างเข้าถึงมรรคผล[18]
กล่าวกันว่าพระองค์ทั้ง 2 ได้เดินทางไปด้วยกันที่ถ้ำมารติกา (Maratika) ในประเทศเนปาลเพื่อปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงอมิตายุสสมาธิ[19] ตามตำนานพุทธศาสนาแบบทิเบตของชนเผ่ามนปะ (Monpa) ในท้องถิ่นเล่าขานว่า มีน้ำตกที่ชื่อ ชูมิ กยาเซ (Chumi Gyatse) หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'น้ำตก 108 แห่ง' ถูกสร้างขึ้นหลังจากการเผชิญหน้าในตำนานระหว่างคุรุปัทมสัมภวะและนักบวชศาสนาบอนที่ปกครองทิเบตและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงบริเวณแถบอรุณาจัลประเทศ ว่ากันว่าน้ำตกนี้เกิดขึ้นเมื่อคุรุปัทมสัมภวะเหวี่ยงลูกประคำกับก้อนหินและมีลำธาร 108 สายไหลทะลักออกมาเป็นน้ำตกชูมิ กยาเซ และกลายเป็นที่เคารพนับถือและสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมนปะในเวลาต่อมา
เสด็จมาทำพุทธกิจในทิเบต
[แก้]เรื่องราวของมหาคุรุในทิเบตเริ่มต้นในครั้งที่ทรงรับอาราธนาของพระเจ้าทรีซง เดเซน (ཁྲི་སྲོང་ལྡེ་བཙན་, khri srong lde brtsan/btsan) ให้มาช่วยก่อตั้งพระอารามซัมเย คุรุปัทมสัมภวะถูกพรรณนาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญคำสอนตันตระผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้เหล่าวิญญาณและปีศาจของทิเบตต้องยอมจำนนต่อท่าน และท่านก็อาศัยสิ่งเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนพวกมันให้เป็นธรรมบาล หรือ ผู้พิทักษ์พระธรรมของพระพุทธเจ้า กล่าวกันว่าเขายังเผยแพร่พุทธศาสนานิกายวัชรยานไปยังชาวทิเบต และแนะนำแนวทางปฏิบัติตันตระโดยเฉพาะ เนื่องจากบทบาทของท่านในการสถาปนาพระอารามซัมเย ซึ่งเป็นอารามทางพระพุทธศาสนาแห่งแรกในทิเบต คุรุปัทมสัมภวะจึงถือเป็นผู้สถาปนานิกายญิงมา (Nyingma) ของพุทธศาสนาแบบทิเบต นอกจากนี้คุรุปัทมาสัมภวะยังมีบทบาทต่อราชสำนักทิเบตอื่น ๆ ได้แก่ ประกอบพิธีกรรมตันตระเพื่อยืดพระชนม์ชีพของกษัตริย์ รวมถึงเป็นผู้สั่งสอนการปฏิบัติตันตระแก่พระเจ้าทรีซง เดเซน
ชีวประวัติต่าง ๆ ยังกล่าวถึงเรื่องราวของพระชายาชาวทิเบตคนสำคัญของคุรุปัทมสมภพด้วย นามว่า เยเช โชเกียล (ཡེ་ཤེས་མཚོ་རྒྱལ་, ye shes mtsho rgyal) นัยยะของชื่อหมายถึง พระนางผู้มีปัญญาประดุจมหาสมุทรอันไพศาล (ชญาณสาคร) ซึ่งมาได้กลายมาเป็นลูกศิษย์ของท่านในขณะอาศัยอยู่ในทิเบต และพระนางยังเป็นหนึ่งใน 3 หทัยบุตรของคุรุปัทมสัมภวะด้วย และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในทิเบตว่าเป็น "ศาสนมารดร" หรือ มารดาแห่งพระพุทธศาสนา (Mother of Buddhism) ผู้มีส่วนให้พุทธศาสนาแบบทิเบตเจริญรุ่งเรือง พระนางเยเช โชเกียลกลายเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีลูกศิษย์มากมาย และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นคุรุปัทมสมภพในปางสตรีด้วย
ในขณะที่คุรุปัทมสัมภวะยังอยู่ทิเบตท่านได้ซ่อนธรรมสมบัติ (เตร์มา) มากมายในทิเบตเพื่อรอการค้นพบในภายหลัง พระนางเยเช โชเกียลจึงมีส่วนในการเป็นผู้ซ่อนคำสอนเหล่านั้นและเปิดเผยหรือชี้แนะแก่ผู้ที่จะมาค้นพบคำสอนเหล่านั้นในยุคหลัง โดนส่วนใหญ่ธรรมสมบัติของคุรุปัทสมภพจะเกิดขึ้นผ่านการตั้งคำถามจากลูกศิษย์ถึงวิธีการปฏิบัติธรรมและข้อแนะนำในการเจริญปัญญาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนมากเกิดจากพระนางเยเช โชเกียล ด้วยบทบาทที่สำคัญทั้งหลมดนี้ ทำให้ภาพวาดหลายภาพเป็นรูปคุรุปัทมสัมภวะโดยมีพระมเหสีอยู่แต่ละด้าน คือ พระนางมัณฑรวาอยู่ทางขวา และพระนางเยเช โชเกียลอยู่ทางซ้าย
ธรรมสมบัติที่ได้รับการเปิดเผยหลายฉบับมีต้นกำเนิดมาจากพุทธกิจของคุรุปัทมสัมภวะและลูกศิษย์ของท่าน เชื่อกันว่าตำราสมบัติที่ซ่อนอยู่เหล่านี้จะถูกค้นพบและถูกเปิดเผยเมื่อเงื่อนไขและเหตุปัจจัยพร้อมสำหรับการรับคำสอนเหล่านี้ นิกายญิงมาปะจึงถือว่าคำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนหลักที่ได้รับการสืบเชื้อสายมาจากคำสอนของซกเชน (Dzogchen) เป็นสายธารอันบริสุทธิ์จากจากท่านการับ โดร์เจ ผ่านทางธรรมสมบัติของคุรุปัทมสัมภวะ [15]
ภายหลังเมื่อคุรุปัทมสัมภวะทรงสร้างพระอารามซัมเยแล้วเสร็จได้ไม่นานพระเจ้าทรีซง เดเซนก็ทรงสวรรคต คุรุปัทมสมภพก็ทรงเห็นแล้วว่า ท่านกระทำพุทธกิจในแผ่นดินทิเบตเสร็จสมบูรณ์แล้ว กล่าวกันว่าว่าระสุดท้ายคุรุปัทมสัมภวะท่านได้เสด็จไปสู่พุทธเกษตรของพระองค์ที่เรียกว่า ซันดก ปาลรี (ཟངས་མདོག་དཔལ་རི་, zangs mdog dpal ri) หมายถึง พุทธเกษตรภูเขาทองแดง อันเป็นทิพยวิมารของคุรุปัทมสมภพพร้อมด้วยเทพยดาที่มารอรับเสด็จ บางตำนานกล่าวว่า ท่านได้เดินทางไปยังเกาะลังกาเพื่อปราบรากษส[17]
ตำนานเมื่อครั้งเสด็จไปยังภูฏาน
[แก้]ในประเทศภูฏานมีสถานที่แสวงบุญที่สำคัญหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับคุรุปัทมสมภพ หนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วัดปาโรตักชัง หรือ ถ้ำเสือ ซึ่งเป็นอารามพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่บนหน้าผาเกือบแนวตั้งที่ระดับความสูง 3,000 เมตรเหนือพื้นหุบเขาปาโร สร้างขึ้นรอบ ๆ ถ้ำตักซัง เซ็งเก ซัมดุบ (Taktsang Senge Samdup) ซึ่งว่ากันว่า เป็นสถานที่ที่คุรุปัทมสัมภวะเคยมาทำสมาธิอยู่ ตำนานเล่าวว่า มหาคุรุท่านเหาะมาจากทิเบตพร้อมกับพระนางเยเช โซเกียล และสำแดงเป็นคุรุในปางโดร์เจ โดรโล ต่อมาได้เดินทางไปยังเขตบุมทัง (Bumthang) เพื่อปราบเทพเจ้าท้องถิ่นด้วย
คุรุปัทมสัมภวะ 8 ปาง
[แก้]ตามความเชื่อปางของคุรุปัทมสมภพมีทั้งสิ้น 8 ปาง โดยคตินี้สืบเนื่องมาจากชีวประวัติของปัทมสัมภวะที่มีอายุยาวนานถึง 1,500 ปี ดังที่ท่านญีมา เคนเชน ปาลเดน เชรับ รินโปเช (Nyingma Khenchen Palden Sherab Rinpoche) กล่าวไว้
เมื่อคุรุปัทมสัมภวะทรงปรากฏบนโลก พระองค์ก็เสด็จมาเป็นมนุษย์ เพื่อที่จะละลายความผูกพันธ์ของเรากับแนวคิดแบบทวินิยม (การแบ่งแยกเป็นคู่) และทำลายพันธนาการที่ซับซ้อน ทำให้ทรงสำแดงคุณลักษณะอันพิเศษบางอย่างด้วย
รูปลักษณะโดยหลัก ๆ ของมหาคุรุปัทมสมภพมีทั้งสิ้น 8 ปาง ที่มาจากช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต การสำแดงหรือปางทั้ง 8 ของปัทมสัมภวะล้วนแสดงถึงแง่มุมต่าง ๆ ของพระองค์ด้วยเชน ความโกรธหรือความสงบ เป็นต้น
- คุรุเปมา เกียลโป (gu ru pad ma rgyal-po) หรือปางคุรุปัทมราช แปลว่า "ราชาดอกบัว" ทรงปรากฏในรูปพระราชาแห่งแคว้นอุฑฑิยาน มาจากช่วงเวลาที่ทรงปรากฏเป็นกุมาร ลักษณะประดับด้วยผิวพรรณสีชมพูแดง พระพักตร์กึ่งพิโรธ ประทับนั่งบนดอกบัว นุ่งจีวรสีเหลืองส้ม มีกลองดามารุ (ฑมรุ) เล็ก ๆ อยู่ในพระหัตถ์ขวา มีกระจกและตะขออยู่ในพระหัตถ์ซ้าย
- คุรุญีมา เออเซร์ (gu ru nyi-ma 'od-zer) หรือปางคุรุสุริยประภา แปลว่า "รัศมีแห่งดวงอาทิตย์" ทรงปรากฏในรูปโยคี พระพักตร์กึ่งพิโรธ นัยยะความหมายสื่อถึงลักษณะที่ทรงเป็นโยคีผู้เร่ร่อน แต่เปี่ยมด้วยสติปัญญาประดุจดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดมนของจิตใจผ่านการตระหนักรู้ในธรรม ลักษณพระองค์ประทับนั่งบนดอกบัว งอขาซ้าย ผิวสีแดงอมทอง ผมยาวประดับกระดูก มีหนวดและเครา นุ่งหนังเสือ พระหัตถ์ขวาถือขัฏวางคะ และพระหัตถ์ซ้ายมีดวงอาทิยต์บนนิ้วชี้
- คุรุโลเดน ชกเซ (gu ru blo ldan mchog sred) หรือปางคุรุมติวัตวรรุจิ แปลว่า "ผู้ทรงความรู้ชั้นยอด" เป็นปางที่ทรงปรากฏในรูปมหาบัณฑิตผู้เปี่ยมด้วยความรู้ ลักษณะทรงประทับนั่งบนดอกบัว ผิวสีขาว สวมผ้าพันคอสีขาว มีผ้าทิพย์พันรอบศีรษะ มีดอกบัวสีเขียวอมฟ้าประดับผม พระหัตถ์ขวาถือกลองดามารุ และพระหัตถ์ซ้ายถือถ้วยปัทมกบาล
- คุรุเปมา จุงเน (pad+ma 'byung gnas) หรือปางคุรุปัทมสัมภวะ แปลว่า "แก่นสารดอกบัว" เป็นปางที่ทรงปรากฏลักษณะมีผิวพรรณขาวผ่อง พระพักตร์มีความสงบนิ่ง สวมหมวกปัทมะสีแดง ประทับนั่งบนดอกบัว พระหัตถ์ขวาทำวิตรรกมุทรา และพระหัตถ์ซ้ายถือถ้วยหัวกะโหลก (กปาละ)
- คุรุซาเกียง เซงเก (shAkya seng-ge,) หรือปางคุรุศากยสิงหะ แปลว่า "พญาราชสีห์แห่งศากยะ" เป็นปางที่คุรุทรงสำแดงในรูปของพระศากยมุนีพุทธเจ้า รูปลักษณ์มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธเจ้า แต่มีผิวสีทอง ทรงไตรจีวร พระหัตถ์ซ้ายถือบาตร และพระหัตถ์ขวามีวัชระ 5 แฉก
- คุรุเซงเก ดราดรก (gu ru seng-ge sgra-sgrogs) หรือปางคุรุสิมหนาถ แปลว่า "พญาราชสีห์คำราม" สำแดงใรรูปที่โกรธเกรี้ยว ตำนานเล่าว่า พระองค์ทรงสำแดงปางนี้ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ในครั้งที่ทรงเสด็จไปโต้วาทีกับเหลาเดียรถีย์ แต่พระองค์ทรงป่าวประกาศพระธรรมทั่วทุกภพภูมิแห่งสรรพสัตว์ประดุจพญาราชสีห์คำรามจนมีชัยเหนือพวกนอกศาสนา มีลักษณะปรากฏเป็นสีน้ำเงินเข้มและล้อมรอบด้วยเปลวไฟเหนือดอกบัว มีเขี้ยวและดวงตา 3 ดวงทเพ่งมอง ประดับประดามงกุฎกะโหลกศีรษะและผมยาว ยืนอยู่บนปีศาจ ในพระหัตถ์ถือวัชระเพลิง
- คุรุซกเย โดร์เจ (gu ru mtsho skyes rdo rje) หรือปางคุรุสโรรุหวัชระ แปลว่า "ผู้ทรงบังเกิดในท้องทะเล" ปรากฏในรูปพระกุมารถือวัชระที่ระดับหน้าอก ประทับบนดอกบัว ห้อมล้อมด้วยเหล่าฑากินี
- คุรุโดร์เจ โดรโล (gu ru rDo-rje gro-lod) หรือปางคุรุวัชระ แปลว่า "วัชระพิโรธ" เป็นรูปที่คุรุปรากฏในรูปพิโรธมาก เป็นปางที่ปรากฏ ณ วัดทักซัง ประเทศภูฏาน รูปลักษณ์มีสีแดงเข้ม ล้อมรอบด้วยเปลวไฟ สวมเสื้อคลุมและรองเท้าแบบทิเบต มีสังข์เป็นต่างหู คล้องมาลัยบนศีรษะ เต้นรำบนแม่เสือ
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kværne, Per (2013). Tuttle, Gray; Schaeffer, Kurtis R. (บ.ก.). The Tibetan history reader. New York: Columbia University Press. p. 168. ISBN 9780231144698.
- ↑ 2.0 2.1 Khenchen Palden Sherab Rinpoche, The Eight Manifestations of Guru Padmasambhava, (May 1992), https://turtlehill.org/cleanup/khen/eman.html
- ↑ 3.0 3.1 Schaik, Sam van. Tibet: A History. Yale University Press 2011, pp. 34-35.
- ↑ 4.0 4.1 Doney, Lewis. "Padmasambhava in Tibetan Buddhism" in Silk, Jonathan A. et al. Brill's Encyclopedia of Buddhism, pp. 1197-1212. BRILL, Leiden, Boston.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Schaik, Sam van. Tibet: A History. Yale University Press 2011, page 34-5, 96-8.
- ↑ Kværne, Per (2013). Tuttle, Gray; Schaeffer, Kurtis R. (eds.). The Tibetan history reader. New York: Columbia University Press. p. 168. ISBN 9780231144698.
- ↑ Buswell, Robert E.; Lopez, Jr., Donald S. (2013). The Princeton dictionary of Buddhism. Princeton: Princeton University Press. p. 608. ISBN 9781400848058. สืบค้นเมื่อ 5 October 2015.
- ↑ Schaik, Sam van. Tibet: A History. Yale University Press 2011, p. 96.
- ↑ Doney, Lewis. The Zangs gling ma. The First Padmasambhava Biography. Two Exemplars of the Earliest Attested Recension. 2014. MONUMENTA TIBETICA HISTORICA Abt. II: Band 3.
- ↑ Dalton, Jacob. The Early Development of the Padmasambhava Legend in Tibet: A Study of IOL Tib J 644 and Pelliot tibétain 307. Journal of the American Oriental Society, Vol. 124, No. 4 (Oct. - Dec., 2004), pp. 759- 772
- ↑ Germano, David (2005), "The Funerary Transformation of the Great Perfection (Rdzogs chen)", Journal of the International Association of Tibetan Studies (1): 1–54
- ↑ Gyatso, Janet (August 2006). "A Partial Genealogy of the Lifestory of Ye shes mtsho rgyal". The Journal of the International Association of Tibetan Studies (2).
- ↑ Harvey, Peter (2008). An Introduction to Buddhism Teachings, History and Practices (2 ed.). Cambridge: Cambridge University Press. p. 204. ISBN 9780521676748. สืบค้นเมื่อ 6 October 2015.
- ↑ Khenchen Palden Sherab Rinpoche, Khenpo Tsewang Dongyal. Lion's Gaze: A Commentary on Tsig Sum Nedek. Sky Dancer Press, 1998.
- ↑ 15.0 15.1 Davidson, Ronald M. (2005). Tibetan Renaissance. Columbia University Press.
- ↑ Gyatso, Janet (August 2006). "A Partial Genealogy of the Lifestory of Ye shes mtsho rgyal". The Journal of the International Association of Tibetan Studies (2). Retrieved 23 December 2022
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Doney, Lewis (2015). "Padmasambhava in Tibetan Buddhism". In Silk, Jonathan A.; et al. (eds.). Brill's Encyclopedia of Buddhism. Leiden, Boston: Brill. pp. 1197–1212. ISBN 978-9004299375.
- ↑ 18.0 18.1 Palden Sherab Rinpoche, Khenchen (May 1992). The Eight Manifestations of Guru Padmasambhava. Translated by Khenpo Tsewang Dongyal Rinpoche. Padma Gochen Ling: Turtle Hill. Archived from the original on 4 December 2022. Retrieved 20 December 2022.
- ↑ Buffetrille, Katia (2012). "Low Tricks and High Stakes Surrounding a Holy Place in Eastern Nepal: The Halesi-Māratika Caves". In Buffetrille, Katia (ed.). Revisiting Rituals in a Changing Tibetan World. Brill's Tibetan Studies Library. Vol. 31. Leiden/Boston: Brill. pp. 163–208. ISBN 978-9004232174. ISSN 1568-6183 – via Academia.edu.
บรรณานุกรม
[แก้]- Padmasambhava. Advice from the Lotus-Born: A Collection of Padmasambhava's Advice to the Dakini Yeshe Tsogyal and Other Close Disciples. With Tulku Urgyen Rinpoche. Rangjung Yeshe Publications, 2013.
- Berzin, Alexander (November 10–11, 2000). "History of Dzogchen". Study Buddhism. สืบค้นเมื่อ 20 June 2016.
- Bischoff, F.A. (1978). Ligeti, Louis (บ.ก.). "Padmasambhava est-il un personnage historique?". Csoma de Körös Memorial Symposium. Budapest: Akadémiai Kiadó: 27–33. ISBN 963-05-1568-7.
- Boord, Martin (1993). Cult of the Deity Vajrakila. Institute of Buddhist Studies. ISBN 0-9515424-3-5.
- Dudjom Rinpoche The Nyingma School of Tibetan Buddhism: Its Fundamentals and History. Translated by Gyurme Dorje and Matthew Kapstein. Boston: Wisdom Publications. 1991, 2002. ISBN 0-86171-199-8.
- Guenther, Herbert V. (1996), The Teachings of Padmasambhava, Leiden: E.J. Brill, ISBN 90-04-10542-5
- Harvey, Peter (1995), An introduction to Buddhism. Teachings, history and practices, Cambridge University Press
- Heine, Steven (2002), Opening a Mountain. Koans of the Zen Masters, Oxford: Oxford University Press
- Jackson, D. (1979) 'The Life and Liberation of Padmasambhava (Padma bKaí thang)' in: The Journal of Asian Studies 39: 123-25.
- Jestis, Phyllis G. (2004) Holy People of the World Santa Barbara: ABC-CLIO. ISBN 1576073556.
- Kinnard, Jacob N. (2010) The Emergence of Buddhism Minneapolis: Fortress Press. ISBN 0800697480.
- Laird, Thomas. (2006). The Story of Tibet: Conversations with the Dalai Lama. Grove Press, New York. ISBN 978-0-8021-1827-1.
- Morgan, D. (2010) Essential Buddhism: A Comprehensive Guide to Belief and Practice Santa Barbara: ABC-CLIO. ISBN 0313384525.
- Norbu, Thubten Jigme; Turnbull, Colin (1987), Tibet: Its History, Religion and People, Penguin Books, ISBN 0140213821
- Snelling, John (1987), The Buddhist handbook. A Complete Guide to Buddhist Teaching and Practice, London: Century Paperbacks
- Sun, Shuyun (2008), A Year in Tibet: A Voyage of Discovery, London: HarperCollins, ISBN 978-0-00-728879-3
- Taranatha The Life of Padmasambhava. Shang Shung Publications, 2005. Translated from Tibetan by Cristiana de Falco.
- Thondup, Tulku. Hidden Teachings of Tibet: An Explanation of the Terma Tradition of the Nyingma School of Tibetan Buddhism. London: Wisdom Publications, 1986.
- Trungpa, Chögyam (2001). Crazy Wisdom. Boston: Shambhala Publications. ISBN 0-87773-910-2.
- Tsogyal, Yeshe. The Life and Liberation of Padmasambhava. Padma bKa'i Thang. Two Volumes. 1978. Translated into English by Kenneth Douglas and Gwendolyn Bays. ISBN 0-913546-18-6 and ISBN 0-913546-20-8.
- Tsogyal, Yeshe. The Lotus-Born: The Lifestory of Padmasambhava Pema Kunsang, E. (trans.); Binder Schmidt, M. & Hein Schmidt, E. (eds.) 1st edition, Boston: Shambhala Books, 1993. Reprint: Boudhanath: Rangjung Yeshe Publications, 2004. ISBN 962-7341-55-X.
- Wallace, B. Alan (1999), "The Buddhist Tradition of Samatha: Methods for Refining and Examining Consciousness", Journal of Consciousness Studies 6 (2-3): 175-187 .
- Zangpo, Ngawang. Guru Rinpoche: His Life and Times. Snow Lion Publications, 2002.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Padmasambhava (หมวดหมู่)