ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนเริ่มแรก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คริสเตียนยุคแรก)

ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนเริ่มแรก คือศิลปะที่สร้างโดยผู้นับถือคริสต์ศาสนาหรือโดยผู้ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้นับถือคริสต์ศาสนาที่เริ่มตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 100 จนถึงราวปี ค.ศ. 500 ก่อนหน้าปี ค.ศ. 100 ไม่มีหลักฐานทางศิลปะที่หลงเหลือให้เห็นที่จะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะหรือสถาปัตยกรรมของผู้นับถือคริสต์ศาสนาได้อย่างแท้จริง หลังจากปี ค.ศ. 500 ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะของศิลปกรรมแบบไบแซนไทน์

ประวัติทั่วไป

[แก้]
ศิลปะคริสเตียนเริ่มแรก

ในดินแดนปาเลสไตน์ก่อน ค.ศ. 4 ปี จีซัส ไครสต์ ได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านเบทลิเฮมของชาวยิว ใช้ชีวิตวัยหนุ่มส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ในหมู่บ้านนาซาเรท พระองค์เกิดมาในท่ามกลางของความกดขี่ขูดรีดอย่างหนักของจักรพรรดิโรมันต่อชาวยิว ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทำให้ชาวยิวต่างใฝ่ฝันที่จะได้หรือผู้มาโปรดโลก (Messiah) เพื่อขับไล่ชาวโรมันให้ออกจากดินแดน และสถาปนารัฐยิวที่เป็นของชาวยิวขึ้นมา

พระเยซูได้เริ่มต้นสั่งสอนให้มนุษย์มีความรัก ความกรุณาซึ่งกันและกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 28 หลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้แพร่หลายออกไป ก่อให้เกิดความสนใจต่อชาวยิวอย่างยิ่ง จนถึงกับทึกทักเอาว่าพระองค์ คือ เมซไซ-อะ ที่ทุกคนเฝ้ารอคอย แต่แล้วพระเยซูกลับสนใจแต่เรื่องของวิญญาณ มิใช่เรื่องทางวัตถุ จึงก่อให้เกิดความผิดหวังและกลายเป็นการต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์การกระทำของพระองค์อย่างกว้างขวาง มีทั้งพวกคลั่งชาติ พวกเจ้าหนี้ที่คอยเอารัดเอาเปรียบ และพวกพระซึ่งเกรงว่าพระเยซู จะทำให้ฐานะและสิทธิของตนหมดสิ้นไป ทุกฝ่ายต่างพากันกล่าวหาว่าพระเยซูคือผู้ทำลายความสงบสุขและลบหลู่พระยะโฮวาอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน จนกระทั่งพระเยซูถูกกล่าวหักหลังโดยบอกกับเจ้าหน้าที่มาจับตัวไปให้ศาลศาสนาซาเฮดรินของพวกยิวตัดสิน และถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนราวกับผู้ร้าย

การเสียสละชีวิตของพระเยซูมีผลสะท้อนออกไปอย่างกว้างขวางและล้ำลึก สาวกผู้มีศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้าได้นำคำสั่งสอนของพระองค์ออกเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะแหล่งชุมชนของชาวยิว ซึ่งอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในเมืองต่าง ๆ แถบชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และที่อยู่ในกรุงโรม ต่อมาจึงค่อยเผยแพร่ออกไปสู่ชนชาติต่าง ๆ อย่างไม่จำกัดจนกลายเป็นศาสนาใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง

อนึ่ง ในระหว่างที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ ชาวโรมันมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แต่คนอื่นมิได้เป็นชาวโรมันกลับเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ทุกคนใฝ่ฝันที่จะมีเสรีภาพและความเสมอภาค พวกเขาพบว่าคริสต์ศาสนาได้สนองความต้องการของพวกตน ให้ความหวังในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาพในหมู่มนุษย์ ดังตัวอย่าง เช่น มีคำสอนในศาสนากล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าหรือพระบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักความกรุณาได้สั่งพระบุตรหรือพระเยซูลงมาเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ อนึ่ง ในเรื่องสิทธิการนับถือศาสนา แม้ว่าโรมันจะไม่มีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อความศรัทธาในศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ตราบใดที่ผู้นั้นยังร่วมถวายสักการบูชาองค์จักรพรรดิ์ให้เป็นประดุจหนึ่งเทพเจ้าชาวโรมัน จะไม่ขัดขวางการนับถือศาสนานั้น ๆ เลย คตินิยมนี้ชาวคริสเตียนยินยอมไม่ได้ เพราะขัดกับความเชื่อเรื่องของพระเจ้าของพวกตน นอกจากนี้ชาวโรมันเชื่อว่าหน้าที่สำคัญของมนุษย์ควรพึงปฏิบัติต่อรัฐ ส่วนชาวคริสเตียนมีความคิดเห็นว่า หน้าที่สำคัญของมนุษย์ คือ การปฏิบัติต่อพระเจ้า ดังนั้น ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขั้นพื้นฐานของความศรัทธาระหว่างชาวโรมันและชาวคริสเตียน จึงเป็นไปอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ชาวคริสเตียนจะไม่ยอมร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่ที่ทางรัฐจัดขึ้น ไม่ยอมรับราชการทำหารหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ทางการโรมันจึงต้องปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหดเป็นระยะเวลาร่วม 300 ปี แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปราบปรามมากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น จนมีผู้กล่าวว่า “โลหิตของผู้เสียสละกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศาสนา” ตราบจนกระทั่งถึงรัชสมัยของจักรพรรดิคอราแตนติน พระองค์ได้ทรงพระราชกรณียกิจที่สำคัญไว้สองประการ คือ ประการแรก ได้ออกพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองมิลาน (Decoree of Milan) ในปี ค.ศ. 313 ประกาศยกฐานะของชาวคริสเตียนให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวโรมัน ยกเลิกคำสั่งห้ามชาวคริสเตียนรับราชการ ยอมให้ถือกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามใจชอบ ประการที่สอง ได้สร้างกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่แคว้นบิแซนติอุมให้เป็นราชธานีของจักรวรรดิโรมันตะวันออก นับตั้งแต่นั้นมา คริสต์ศาสนาอันถูกต้องตามกฎหมาย ยั่งกว่วนั้นรัฐบาลในยุคหลังเริ่มเกื้อกูลให้การอุปถัมภ์พร้อมกับร่วมมือในการทำลายเปลี่ยนแปลงเทวสถาน และกวาดล้างลัทธิอื่น ๆ ซึ่งมิได้เป็นศาสนาคริสต์อีกด้วย

ศิลปกรรม

[แก้]

ศิลปกรรมของชาวคริสเตียนในระยะแรกเริ่ม นับตั้งแต่ศาสนาได้วางรากฐานลงในจักรวรรดิเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับอิสรภาพและกรุงโรมแตก แบ่งออกเป็น 2 สมัยด้วยกัน คือ

  1. สมัยแห่งการถูกประหัตประหาร ( Period of Persecution ) นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 313 เป็นยุคที่ชาวคริสเตียนถูกปราบปรามและถือว่าเป็นพวกนอกกฎหมาย
  2. สมัยที่ได้รับการรับรอง (Period of Recognition ) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 325 เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินยกฐานะศาสนาคริสต์ขึ้นจนคล้ายกับเป็นศาสนาของจักรวรรดิโรมันและสิ้นสุดลงเมื่อกรุงโรมตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาวป่าเถื่อนในราวปี ค.ศ. 500 ซึ่งทำให้อำนาจของจักรวรรดิแตกสลาย

ศิลปกรรมสมัยถูกประหัตประหาร

[แก้]
  • สถาปัตยกรรม ในสมัยแห่งการถูกประหัตประหาร ชาวคริสเตียนถูกตามล่าจองล้างจองผลาญจนต้องหาที่ปลอดภัยสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พวกเขาขุดอุโมงค์ลงไปใต้พื้นดินซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า คาตาโคมบ์ (Catacombs) เพื่อใช้เป็นที่ลี้ภัยประกอบพิธีกรรมและเป็นที่ฝังศพ โดยเลือกขุดจากบริเวณที่มีดินทูฟาอันแข็งแกร่ง การขุดอุโมงค์เริ่มกระทำกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งได้รับพระราชทางโองการอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามใจชอบจึงเลิกกระทำ ในกรุงโรมมีอุโมงค์อยู่หลายแห่ง บางแห่งยาวนับเป็นไมล์ ๆ สร้างสลับคดเคี้ยวและซับซ้อนกันหลายชั้น ตามข้างกำแพงอุโมงค์จะเจาะเป็นช่องสำหรับบรรจุศพเรียงรายกันไป ช่องเหล่านี้เรียกว่า (Loculi) นอกจากนี้แต่ละอุโมงค์ยังมีห้องเล็ก ๆ โดยเฉพาะเรียกว่า คูบิคูลา (Cibicula) เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ จากการสำรวจภายในคาตาโคมบ์ค้นพบศพจำนวนทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้มีมากกว่า 2 ล้านศพฝังไว้ในนั้น
  • ห้องคูบิคูลา หรือห้องประกอบศาสนกิจส่วนมากจะมีภาพจิตรกรรมวาดด้วยวิธีเฟรสโก้ประดับตกแต่งตามฝาผนังและบนเพดาน ฝีมือและรูปแบบยังคงเป็นแบบโรมันอยู่ ช่างชาวคริสเตียนได้นำมาดัดแปลงเสียใหม่ให้ตรงกับความเชื่อของตน มีการเน้นถึงความรู้สึกในเรื่องของวิญญาณและความศรัทธาในศาสนา มากกว่าจะมามัวเอาใจใส่แต่เรื่องของความงามเพียงอย่างเดียว เหมือนดังเช่นกรีก-โรมันชอบคำนึงถึง จากมูลเหตุดังกล่าว ทำให้ชาวคริสเตียนพุ่งความสนใจในการแสดงแบบสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นความงามที่มองเห็นด้วยตาได้ จากการที่ไม่พิถีพิถันในเรื่องฝีมือกับกรรมวิธีจึงทำให้ผลงานดูไม่มีสุนทรียภาพสูงและปราศจากฝีมือ

ศิลปกรรมสมัยได้รับการรับรอง

[แก้]

เมื่อจักรวรรดิคอนสแตนตินรับรองศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเจาะขุดอุโมงค์คาตาโคมบ์จึงเลิกไป คริสต์ศาสนิกชนได้หันมาแสวงหาสถานที่ใหม่บนพื้นดิน ระยะแรกคงกะทันหันเกินไป ไม่มีเวลาและเงินทองจะสร้างของใหม่ได้จึงนำเอาอาคารของชาวโรมันมาใช้ อาทิ เช่น นำเอาบาสิลิกามาดัดแปลงเป็นโบสถ์ ครั้นเวลาล่วงเลยมาจึงมีการสร้างเพิ่มเติมขึ้น แต่ก็ยังไม่มีรูปแบบเด่นเป็นพิเศษ ยังคงนิยมลอกเลียนสิ่งก่อสร้างของโรมันอยู่ ทั้งนี้จะเห็นได้จากโบสถ์หลังเก่าของเซนต์ปีเตอร์ ยืมเอารูปแบบของบาสิลิกามาใช้ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ให้มีแผนผังเป็นรูปตัว T นำเอา เอทริอุม (Atrium = ลานบ้านชาวโรมัน อยู่หน้าบ้าน เปิดโล่งไม่มีหลังคา) มาผสมกันกับบาสิลิกา กล่าวคือ มีบันไดขึ้นด้านหน้าสู่เฉลียงกว้างก่อนผ่านเข้าประตูใหญ่ เมื่อผ่านเข้าไปภายในจะเป็นลานขนาดใหญ่เปิดโล่งตามแบบเอทริอุมของโรมัน รอบลานนี้จะทำเป็นระเบียงทางเดินมุงหลังคาเรียบร้อย ตรงใจกลางลานมีน้ำพุสำหรับผู้มาประกอบพิธีกรรมล้างมือ ถัดจากบริเวณนี้จะเป็นตัวโบสถ์ซึ่งภายในทางด้านซ้ายและขวามือจัดเป็นที่นั่งฟังธรรม บริเวณดังกล่าวเรียกว่า ไอล (Aisle) จากประตูโบสถ์ถึงแท่นบูชามีช่องทางเดินกว้าง เรียกว่า เนฟ (Nave) ส่วนสุดห้องใช้เป็นที่ตั้งของแท่นบูชา ด้านข้างทั้งสองของแท่นบูชาขยายกว้างออกไปเป็นห้องยาวขวาง เรียกว่า ทรานเซพท์ (Trancept) คล้ายกับหางของตัว T

โครงสร้างหลังเก่าเซนต์ปีเตอร์ไม่ได้ใช้โวลท์ แต่หันไปใช้หลังคาจั่วแทน เพราะว่าการสร้างหลังคาด้วยระบบโวลท์และใช้คอนกรีตค่อยข้างแพง แต่เมื่อพิจารณาดูรูปทรงทั้งหมดยังคงมีเค้ารูปแบบคล้ายกับบาสิลิกาของโรมันอยู่ วิธีการวางแผนผังเช่นนี้เป็นที่นิยมในการสร้างโบสถ์ทั่ว ๆ ไปในระยะแรก

ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการรับรอง จักรวรรดิโรมันเริ่มอ่อนแอลงตามลำดับ ประจวบกับพวกป่าเถื่อนได้ถือโอกาสยกเข้าโจมตีปล้นสะดมกรุงโรมอยู่เป็นเนืองนิจ จักรพรรดิโฮโนริอุสจึงได้ย้ายเมืองหลวงจากโรมไปอยู่ที่เมืองราเวนนา (Ravenna) ในปี ค.ศ. 402 ที่ตั้งของราเวนนามีภูมิประเทศคับขัน สามารถป้องกันศัตรูได้ดี อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับเมืองท่าคลาสเส (Classe) ซึ่งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากจักรวรรดิบิแซนทีนหรือโรมันตะวันออกได้อย่างสะดวกสบาย ถึงอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 476 ราเวนนา เมืองหลวงสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันก็ทนต่อการรุกรานของพวกกอธไม่ไหว โอโดเชอร์ ผู้นำของชนเหล่านั้นได้เข้ายึดครองและเปลี่ยนแปลงราเวนนาให้เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโตรกอธ อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ราเวนนาได้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 540 และถึงกาลอวสานเมื่อจักรพรรดิจัสติเนียนของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือ บิแซนทีน ได้ส่งกองทัพมารบบุกยึดกรุงราเวนนาและอิตาลีไว้ได้ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของบิแซนทีนเข้ามามีอิทธิพลโดยตรงในอิตาลี ในขณะเดียวกันอำนาจของคริสตจักรที่โรมนับวันจะพอกพูนขึ้นทุกขณะ

อ้างอิง

[แก้]
  • Honour, Hugh; Flemming, J. (2005). The Visual Arts: A History (ภาษาอังกฤษ) (7th ed.). Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall. ISBN 0-13-193507-0.
  • Eduard Syndicus; Early Christian Art; Burns & Oates, London, 1962
  • "Early Christian art". In Encyclopædia Britannica Online.