ข้ามไปเนื้อหา

ศีลศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คริสต์ศาสนพิธี)
7 ศีลศักดิ์สิทธิ์ (The Seven Sacraments) โดย โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน, ราว ค.ศ. 1448

ศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) ในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก เป็นเครื่องหมายภายนอกที่แสดงว่าผู้รับศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นคริสต์ศาสนิกชน

ความเชื่อ

[แก้]

คริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกเชื่อว่าศีลศักสิทธิ์เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือนำความรอด พระหรรษทาน หรือของประทานจากพระเป็นเจ้า เพื่อให้เราได้รับความรอดปลอดภัย อาศัยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ภายนอกแบบมนุษย์ เพื่อเป็นสื่อนำความหมายสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า โดยทางความเชื่อภายใน เป็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ เพื่อช่วยให้ได้มีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ และสัมผัสกับความรักของพระเจ้า

ศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นโดยผ่านทางพระศาสนจักรที่ประทานให้แก่มนุษย์ เพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องมือของพระ นำมาซึ่งพระคุณ พระหรรษทานแห่งความรอด และความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อทำให้ผู้รับศีลศักสิทธิ์ ได้รับพระหรรษทานจากองค์พระเป็นเจ้า สำหรับประคับประคองการดำเนินชีวิตของคริสตชนคาทอลิก ตั้งแต่เกิดจนตาย

ศีลล้างบาป (Baptism)

[แก้]
พระเยซูทรงรับบัพติศมา

ศีลล้างบาป (Baptism) เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อ เพื่อเป็นการชำระหรือลบล้างบาปกำเนิด อาศัยการช่วยให้รอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า

พิธีการรับศีลล้างบาปนี้ มีเครื่องหมายที่สำคัญคือการใช้น้ำ และการชำระล้างพร้อมกับคำกล่าวว่า ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต ผลของศีลล้างบาปมีความเชื่อว่าทำให้ได้รับพระหรรษทานได้กลับเป็นลูกของพระเจ้า มีเกียรติและศักดิ์ศรีสมบูรณ์แบบ เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายของความศักดิ์สิทธิ์ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดรในสวรรค์

ผู้รับศีลล้างบาปอาจกระทำได้ตั้งแต่เริ่มเกิดใหม่หรือกระทำตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะดีกว่า เพราะเป็นการกระทำด้วยความศรัทธาของตนอย่างแท้จริง ผู้ทำพิธีคืออธิการโบสถ์หรือผู้ที่คุณพ่ออธิการได้มอบหมาย แต่ในยามวิกฤตใกล้ตายก็โปรดศีลล้างบาปให้ได้ทั้งนั้น ผู้โปรดศีลล้างบาปจะต้องทำให้ถูกวิธี มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ

ผู้รับศีลล้างบาปแล้วตามปกติจะมีพ่อแม่ทูนหัวซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเอง พ่อแม่ ทูนหัวนี้ คือ ผู้ประคองศีรษะผู้รับศีลล้างบาปขณะที่ผู้โปรดศีลล้างบาปจะเทน้ำลงบนศีรษะ ผู้ได้รับเกียรติเป็นพ่อแม่ทูนหัวนี้จะต้องดูแลลูกทูนหัวทางฝ่ายวิญญาณไปจนกระทั่งลูกทูนหัวสามารถช่วย ตนเองได้ และพ่อแม่ทูนหัวนี้จะแต่งงานกับลูกทูนหัวของตนไม่ได้เด็ดขาด การทำพิธีล้างบาปนี้อาจกระทำในวันคืนวันเสาร์ศักสิทธิ์ หรือวันอาทิตย์ หรือวันที่เหมาะสม

ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ทุกคนต้องผ่านพิธีรับศีลนี้ก่อน เพื่อแสดงว่าตนเองได้เข้ามาเป็นสมาชิกของศาสนจักรแล้ว จึงจะสามารถรับศีลอื่น ๆ ต่อไปได้อีก การรับศีลล้างบาปนี้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตแม้ว่าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น แต่ถ้ากลับมานับถือศาสนาคริสต์อีกก็ไม่ต้องรับศีลนี้ เพราะถือได้ว่าทำการล้างบาปแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวคริสต์เชื่อกันว่ามนุษย์มีบาปกำเนิดติดตัวมาตั้งแต่เกิดสืบมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งตามพันธสัญญาเดิม ในศาสนาคริสต์บอกว่าบาบกำเนิดนี้มาจากมนุษย์คู่แรก คือ อาดัมและเอวา

พิธีล้างบาปสืบเนื่องมาจากความเชื่อของพวกอิสราเอลนับตั้งแต่ยุคพันธสัญญาเดิมที่เชื่อกันว่าการชำระล้างด้วยน้ำเป็นเครื่องหมายของการชำระทางจิตใจ เริ่มมาจากพระเยซูทรงรับบัพติศมาจากยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดนและพระเยซูเคยมีคำสั่งให้ผู้ที่จะเป็นสาวกนั้นต้องรับศีลล้างบาปในนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต ชาวคริสต์นับตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันนี้จึงได้ถือปฏิบัติตามกันมา เพราะเชื่อว่าเป็นการชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป ยืนยันความเชื่อในพระคริสต์เจ้าผู้ทรงคืนชีพ

ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกที่ทุกคนต้องรับเพื่อที่จะเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร ตามที่พระเยซูเจ้าได้อธิบายให้นิโคเดมุสฟังว่า.."ผู้ที่จะเป็นประชากรของอาณาจักรพระเจ้าจะต้องเกิดใหม่จากน้ำและพระจิต" (ยน.3:1-8)

คนที่จะรับศีลนี้ต้องแน่ใจว่า จะละทิ้งหนทางที่ไร้ความรัก ความเมตตาต่อมนุษยชาติ และหันมารับเอาหนทางของพระเยซูคริสต์ ตามที่ยอห์นได้ประกาศเป็นแนวทางว่า "จงกลับใจเสียใหม่...ใครมีเสื้อสองตัว จงเอาตัวหนึ่งให้คนที่ไม่มี และคนมีอาหาร จงแบ่งให้คนอดอยาก...ส่วนคนเก็บภาษีอย่าเก็บเกินพิกัด และพวกทหารอย่าบังคับขู่เข็ญเอาเงินจากผู้ใดหรือใส่ร้ายเขา จงพอใจกับค่าจ้างที่ตนได้รับ..." (ลก.3:7-17)

ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ยังทำให้เขาเป็นสาวกของพระเยซู มีส่วนร่วมในบุญบารมีและศักดิ์ศรีของพระองค์คือการเป็นสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ (ผู้นำ) ในชีวิตประจำวันของเขา

  1. หน้าที่สมณะ คือ ภาวนา และร่วมถวายบูชามิสซา
  2. หน้าที่ประกาศก คือ สั่งสอนด้วยคำพูดและตัวอย่างที่ดี
  3. หน้าที่ของผู้นำ คือ ต้องรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก

ศีลกำลัง (Confirmation)

[แก้]

การรับศีลกำลังของคริสต์เป็นการยืนยัน หรือเครื่องหมายบ่งบอกถึง "การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ" หรือความศรัทธา คือการพัฒนาเติบโต มีกำลัง เข้มแข็งในความเชื่อ สามารถเป็นพยานถึงความเชื่อ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการกระทำ ตามปกติแล้วผู้ประกอบพิธีศีลกำลังคือมุขนายก(พระสังฆราช)เท่านั้น หรือมุขนายกอาจมอบอำนาจนี้ให้บาทหลวงองค์ใดองค์หนึ่งกระทำแทนเป็นครั้ง ๆ ก็ได้[1][2] คริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วสามารถรับศีลกำลังได้ในช่วงเวลาหรือวัยที่เหมาะสมซึ่งไม่ได้ขึ้นกับอายุทางร่างกาย แต่หมายถึงการเติบโตทางด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ดังนั้นเด็กที่มีความคิดจิตใจเข็มแข็งเหมือนผู้ใหญ่ก็สามารถรับศีลกำลังได้ และในกรณีที่เด็กมีอันตรายหรือเจ็บป่วยและมีโอกาสเสียชีวิตก็สามารถให้เด็กคนนั้นได้รับศีลกำลังได้เช่นกัน[3]

ผลของการศีลกำลังมีความเชื่อว่าผู้ที่รับศีลนี้จะได้รับพระคุณของพระจิต 7 ประการ ได้แก่

  1. พระดำริ หรือปรีชาญาน ให้เราได้สามารถเข้าใจถึงน้ำพระทัยของพระที่มีต่อเราอย่างผู้ที่ฉลาด
  2. สติปัญญา ให้เราได้สามารถเข้าใจถึงความลึกลับ และความจริงของข้อคำสอน
  3. ความคิดอ่าน ให้เรารู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ ตัดสิน และปฏิบัติอย่างเหมาะสมถูกต้อง
  4. พละกำลัง ให้เรามีพลังที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก และการถูกประจญ
  5. ความรู้ ให้เราสามารถมีความเข้าใจในคำสอนและข้อความเชื่อทั้งทางโลกและทางธรรม
  6. ความศรัทธา ให้เรามีความรัก เลื่อมใสศรัทธา ผูกพัน และวางใจในพระเสมอ
  7. ความยำเกรงพระเจ้า ให้เรามีความเคารพ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อหน้าพระเสมอ

การรับศีลนี้เป็นการแสดงสัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ อันเป็นการแสดงความมั่นคงทางจิตใจ หรือเป็นการ รับพระจิตให้มาอยู่ในตน ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ารับศีลนี้ควรอยู่ในวัยที่รู้เหตุผล นั่นคือ มีอายุประมาณ 9-14 ปี ในการโปรด ศีลกำลัง เป็นศีลที่พระศาสนจักรอัญเชิญพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือผู้รับ และประทานพระพรพิเศษให้ผู้รับ และประทานพระพิเศษให้ผู้รับได้มีพลังและปรีชญาณในการทำหน้าที่ของคริสตชน ในฐานะที่มีภารกิจร่วมกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น มหาสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ เหมือนยุคอัครสาวก

ห้าสิบวันหลังจากงานฉลองวันกู้ชาติ พวกสานุศิษย์ของพระเยซู มาชุมนุมในที่แห่งเดียวกัน ทันใดนั้นมีเสียงลมพัดจัด พัดกระโชกเข้ามาในบ้านที่กำลังชุมนุมกันอยู่ พวกสาวกเห็นเปลวไฟรูปร่างเหมือนลิ้นกระจายออกไปถูกทุกคน สาวกทุกคนได้รับพระจิต จึงเริ่มพูดภาษาอื่นตามที่พระจิตทรงบันดาลให้เขาพูด (กจ. 2:1-4) ในสมัยก่อน ผู้ที่จะเป็นสมณะ ประกาศก หรือกษัตริย์อิสราเอล จะต้องได้รับการเจิมก่อน และในศีลบวชเป็นบาทหลวงในปัจจุบัน มุขนายกจะเจิมผู้สมัครบวชด้วยน้ำมันคริสมา ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้เจิมผู้รับศีลกำลังด้วยเช่นกัน

ศีลมหาสนิท (Eucharist)

[แก้]

ศีลมหาสนิทเป็นศีลที่สำคัญที่สุดเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน มีความเชื่อว่าองค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิทที่เข้ามาสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวในความรักของพระองค์ ทุกคนจึงเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว เป็นสมาชิกหรือส่วนต่าง ๆ ในพระกายทิพย์ของพระเยซู

พิธีกรรมที่สำคัญคือการทำมิสซา (พิธีบูชาขอบพระคุณ) โดยมีเครื่องหมายที่สำคัญคือ แผ่นปังและเหล้าองุ่น ที่เป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ซึ่งชาวคริสต์จะได้รับจากบาทหลวงหรือผู้แทนของพระศาสนจักร ในบูชามิสซา หรือพิธีขอบพระคุณ

ผู้ที่จะรับศีลมหาสนิทนี้ได้ต้องผ่านการเรียนคำสอน ในพระคัมภีร์ก่อน และต้องประกอบพิธีบูชามิสซาเพื่อรับศีลมหาสนิทครั้งแรกก่อน จึงจะสามารถรับศีลมหาสนิทได้

ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ต้องไปโบสถ์เพื่อทำพิธีบูชามิสซาหรือพิธีบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ และจะได้รับศีลมหาสนิท ซึ่งรับได้เพียงครั้งเดียวใน 1 วัน

ศีลศักดิ์สิทธิ์ในข้อนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งตรงกับคืนวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะถูกจับตัวไปตรึงไม้กางเขน คืนวันนั้นได้มีการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายร่วมกับอัครสาวกทั้ง 12 คน ในการรับประทานอาหารครั้งนี้ ขนมปัง และเหล้าองุ่นได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญแห่งพันธสัญญา ทั้งนี้เพราะในขณะรับประทานอาหารนั้น พระเยซูได้ส่งขนมปังให้กับอัครสาวกทั้ง 12 คน พร้อมกับกล่าวว่าขนมปังนี้แทนกายของท่าน จากนั้น พระเยซูได้ส่งเหล้าองุ่นให้กับสาวกและกล่าวว่าเหล้าองุ่นนี้แทนโลหิตที่หลังออกมาเพื่อยกบาปโทษให้แก่คนทั้งหลาย

เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ "ศีลมหาสนิท" และการประกอบพิธีกรรมนี้ เรียกว่า "มิสซา" อันเป็นกิจกรรมของชาวคริสต์ เพื่อร่วมสนิทกับพระเจ้าโดยการรับประทาน "พระกาย" และ "พระโลหิต" นี้ คือความหมายของ "มหาสนิท" ซึ่งแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวใน ประชาคมเดียวกันและอยู่ร่วมกันด้วยความรัก (Agape) อีกทั้งเป็นการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน

ศีลมหาสนิท เป็นศีลที่พระเยซูตั้งขึ้นระหว่างทานเลี้ยงมื้อสุดท้ายกับสาวก พระองค์ตรัสว่า เราปรารถนาเป็นอย่างมาก จะเลี้ยงฉลองกับพวกท่านก่อนที่เราจะถูกทรมาน แล้วพระองค์หยิบขนมปังขึ้นมาขอบคุณ พระองค์ทรงหักออกแล้วส่งให้บรรดาสาวกพลางตรัสว่า นี่เป็นกายของเรา ซึ่งได้อุทิศให้พวกท่าน จงทำอย่างนี้เป็นที่ระลึกถึงเรา (ลก.22:14-19)

พระองค์ทรงหยิบถ้วยขึ้นมา กล่าวขอบพระคุณพระเจ้า แล้วส่งให้พวกเขา ตรัสว่า พวกท่านทุกคนดื่มเถิด นี่เป็นโลหิตของเราซึ่งประทับตราพันธสัญญาของพระเจ้า โลหิตของเราต้องไหลออกเพื่อคนเป็นอันมากจะได้รับการอภัยบาป (มธ.26:26-29) พระเยซูยังตรัสอีกว่า เราเป็นอาหารแท้ที่มาจากสวรรค์ คนที่กินอาหารนี้จะมีชีวิตนิรันดร (ยน.6:58)

ศีลอภัยบาป (Penance)

[แก้]

ศีลอภัยบาป (Penance) หรือศีลสารภาพบาป (Confession) เป็นการคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระเจ้า

ศีลในข้อนี้เป็นการยกบาปที่ได้กระทำแล้ว หลังจากที่ทำการรับศีลล้างบาปมาแล้ว ผู้ที่มีอำนาจยกบาปให้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งระดับมุขนายก (Bishop) หรือบาทหลวงที่ได้รับมอบอำนาจจากมุขนายก ถ้ายังชำระหรือชดใช้ไม่หมดก็ต้องไปใช้ในโลกหน้าในแดนชำระ

ผู้ที่จะเข้ารับศีลมหาสนิทหากมีบาปอยู่ต้องแก้บาปก่อน จึงจะเข้ารับศีลมหาสนิทได้ โดยการบอกบาปของตนแก่บาทหลวงเพื่อว่าท่านจะได้ยกบาปให้ ในการสารภาพบาปนี้นิยมกระทำในห้องเล็ก ๆ ซึ่งจัดไว้ด้านข้างของโบสถ์ ภายในห้องเล็กมีม่านหรือฉากกั้นกลาง บางแห่งทำเป็นฝาปรุไว้เพื่อให้ได้ยินเสียงโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าผู้สารภาพบาป ผู้สารภาพบาปและบาทหลวงจะเข้ามาคนละด้านของห้อง เมื่อสารภาพแล้วบาทหลวงคาทอลิค จะกล่าวว่า "พระจิตได้รับบาปของท่านแล้ว บาปที่ท่านทำให้แก่ผู้อื่นก็ได้ยกโทษให้แล้ว" หลังจากนั้นผู้สารภาพแล้วจะต้องพยายามไม่ทำบาปที่ตนทำไว้ และจะต้องตั้งใจมั่นที่จะไม่กระทำผิดต่อพระเจ้าอีกต่อไป

การชดใช้บาปนั้น ศาสตราจารย์ กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิต (2530 : 97) ได้กล่าวว่า เป็นการเสริมแต่งคุณภาพชีวิตเพื่อให้ชีวิตพระเจ้าพัฒนายิ่งขึ้นตามลำดับทั้งในตนเองและผู้อื่น กิจการชดใช้บาปที่บาทหลวง กำหนดนั้น อาจเป็นการสวดบทบางบท หรือให้ทำดีอะไรบางอย่างตามแต่สะดวกและใจรัก แต่ถ้าเป็นการชดใช้ความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์จะต้องชดใช้ให้อย่างยุติธรรม มิฉะนั้นจะไม่พ้นบาปได้ การชดใช้บาป จึงเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ชีวิตใหม่ที่ตนเองจะต้องวางแผนชีวิตโดยอาศัยคำแนะนำจากผู้รู้ เพื่อให้ชีวิตของตนนั้น สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่อาจสารภาพบาปเป็นส่วนตัวได้ เช่น คนไข้ พูดไม่ได้ เครื่องบินกำลังตก เรือกำลังล่ม หรือกำลังติดอยู่ในตึกที่ไฟไหม้ บาทหลวงจะอภัยบาปให้ทันที คนที่อยู่ในสภาพจำเป็นนี้หากมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ได้รับการอภัยบาปทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีอะไรเพิ่ม แต่ถ้ารอดชีวิตไปได้และมีโอกาสสารภาพบาปได้เมื่อใด จะต้องสารภาพทันทีกับบาทหลวงรูปใดก็ได้ทั้งนั้น

ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุงแก้ไข เริ่มต้นใหม่ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน เป็นอิสระจากบาป มีความบริสุทธิ์ และมีสันติในจิต

พิธีสารภาพบาปนี้ ได้แบบอย่างมาจากพระจริยวัตรของพระเยซูเมื่อครั้งไปรักษาโรคให้แก่คนเป็นโรคเรื้อน และคนตาบอด คนเหล่านี้เมื่อได้รับการอภัยโทษจากพระเยซูแล้วก็หายจากโรคร้ายและคนตาบอดได้กลายเป็นคนตาดี การรักษาโรคของพระเยซู ก็คือ การใช้อำนาจจิตที่เต็มไปด้วยความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่แก่คนทุกข์ยากเหล่านั้น เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่มีบาปอันกระทำไว้แล้ว จึงถูกพระเจ้าลงโทษ และพระเยซูซึ่งเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์สามารถยกบาปให้ได้เพียงกล่าวแก่คนบาปเหล่านั้นว่า บาปของเจ้า เราได้ยกโทษให้แล้ว นับแต่นั้นมาการสารภาพบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญยิ่ง

ศีลอภัยบาป เป็นศีลที่อภัยบาปของมนุษย์ เมื่อได้ทำผิดพลาดไป ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามที่สัญญาไว้ในตอนรับศีลล้างบาป พระศาสนจักรได้รับอำนาจยกบาปจากพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า "เปโตร ท่านคือศิลา บนศิลานี้เราจะสร้างศาสนจักรของเราไว้ แม้แต่ความตายก็ไม่อาจจะเอาชนะศาสนจักรของเราได้ เราจะมอบกุญแจเข้าอาณาของพระเจ้าให้ท่านไว้ สิ่งใดที่ท่านห้ามในโลกนี้ก็จะถูกห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านอนุญาตในโลกนี้ก็จะได้รับอนุญาตบนสวรรค์ด้วย" (มธ.16:16-20 , ยน.20:19-23)

ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)

[แก้]

ศีลเจิมคนไข้เป็นศีลที่โปรดให้สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง ในสภาพที่น่าเป็นห่วง หรือกำลังจะสิ้นใจ เพื่อเขาจะได้รับพระหรรษทานในยามเจ็บป่วย และเป็นการเตรียมจิตใจให้ยึดมั่นใน ความเชื่อ และเพื่อการฟื้นฟูสภาพทั้งกายและจิตใจ

พิธีกรรมมีเครื่องหมายสำคัญคือ การเจิมน้ำมันที่หน้าผาก และฝ่ามือทั้งสองข้าง คนไข้ที่จะรับศีลเจิมนี้ส่วนมากเป็นพวกอยู่ในขั้นร้ายแรง บาทหลวงจะเป็นผู้ทำพิธีกรรม โดยเริ่มตั้งแต่อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์เทศน์เตือนใจ ปกมือศีรษะคนไข้ เจิมน้ำมันที่หน้าผากและมือ หรืออาจเพิ่มเติมในที่อื่น ๆ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ถ้าคนไข้ตายแล้ว บาทหลวงจะไม่ประกอบพิธีนอกจากสวดภาวนาขอพระเจ้าอภัยบาปให้

ผู้ที่รับศีลนี้มีความเชื่อว่าจะได้รับพระหรรษทาน และเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อ พร้อมที่จะยอมรับความเจ็บปวด และเห็นถึงพระพรในยามเจ็บป่วย มีส่วนร่วมในพระทรมาน และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ดังนั้น ควรจะให้ผู้ป่วยได้รับในขณะที่รู้ตัว เพื่อการเตรียมจิตใจได้อย่างดี ทั้งนี้ผู้รับก็จะสามารถรับศีลอภัย และศีลมหาสนิท ซึ่งถือว่าเป็นศีลเสบียงที่ให้สำหรับผู้ป่วยเพื่อเป็นการเตรียมกลับไปหาพระเป็นเจ้าในสภาพของชีวิตพระหรรษทานและในความพร้อมของผู้ป่วย

ศีลเจิมคนไข้เป็นศีลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสุขภาพดีคืนมา หรือรับการยกบาป ตามที่นักบุญยากอบเขียนไว้ว่า "มีใครในพวกท่านป่วยหรือ ? เขาควรจะเชิญผู้อาวุโสในศาสนจักรมาอธิษฐานเพื่อเขาแล้วให้ผู้อาวุโสนั้นชโลมน้ำมันให้ในนามพระเจ้า คำอธิษฐานที่กล่าวมาด้วยความเชื่อจะช่วยคนป่วยได้ พระเจ้าจะให้เขากลับมีสุขภาพดีดังเดิม และจะทรงอภัยบาปที่ได้กระทำไปแล้ว ฉะนั้น จงสารภาพบาปต่อกันและอธิษฐานเพื่อกัน เพื่อท่านจะได้หายโรค คำอธิษฐานของคนดีมีพลังยิ่งนัก"

แต่เดิมมาสาวกของพระเยซูได้รักษาคนไข้โดยใช้น้ำมันชโลมเพื่อให้หายจากไข้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พิธีชโลมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Unction)

ศีลศักดิ์สิทธิ์ในข้อนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"พิธีรับศีลกล่าว"เป็นศีลที่ใช้ในการประกาศความรักที่ ชายและหญิงมีต่อกัน ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า และพร้อมที่จะกล่าวประกาศว่าเขาทั้งสองรักกัน ด้วยความสมัครใจ มีอิสระอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้ถูกบังคับ และพร้อมที่จะร่วมชีวิตคู่ เพื่อเป็นของกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวในความรักที่หย่าร้างไม่ได้ ที่จะซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เพื่อเป็นเครื่องหมาย เป็นพยานถึงความรักของพระ และพร้อมที่จะมอบครอบครัวใหม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระ และอนาคตของลูกหลานซึ่งพระเจ้าให้มา และเด็กที่เกิดมาเหล่านี้จะต้องถูกนำมาประกาศความเป็น สัตบุรุษ โดยการรับศีลล้างบาป

พิธีกรรมมีเครื่องหมายสำคัญคือ คำกล่าวของคู่บ่าวสาว ต่อหน้าบาทหลวงผู้แทนของพระศาสนจักร รวมทั้งบรรดาสักขีพยาน ว่าเขาทั้งสองรักกันและจะซื่อสัตย์ต่อกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พิธีส่วนใหญ่ประกอบกันในโบสถ์ พร้อมกับทำพิธีมิสซาด้วย

ศีลกล่าวจัดเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมชาย หญิง สองคนเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นการสัญญา ต่อกันว่าจะมีความรัก ความซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยกันสร้างครอบครัวของชาวคริสต์ให้สมบูรณ์ และการหย่าร้างเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดนอกเสียจากมีเหตุจำเป็น ดังนั้นการแต่งงานจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อคู่สมรสทั้งสองมีความสมัครใจที่จะแต่งงานกัน ไม่มีอุปสรรคมาขัดขวางทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ และจะต้องกระทำพิธีต่อหน้าคุณพ่ออธิการหรือผู้แทนและต่อหน้าสักขีพยานอีก 2 คน ในการทำพิธีนี้ต้องสาบานว่าจะสัตย์ซื่อต่อกัน และช่วยเหลือกันตลอดชีวิต

ศีลสมรส เป็นศีลที่คู่บ่าวสาวได้แสดงความรักและสมัครใจ ต่อหน้าพระศาสนจักรว่า จะรัก ยกย่องให้เกียรติแก่กันและกัน และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โดยไม่ถูกบังคับหรือมีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

ผลของศีลสมรส ทำให้คู่บ่าวสาวเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องต่อหน้าพระ และต่อพระศาสนจักร อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน และเป็นครอบครัวคริสตชนใหม่ที่พร้อมจะให้กำเนิดบุตร อบรมเลี้ยงดูในชีวิตคริสตชน เป็นพยานประกาศความรักของพระในความสมบูรณ์ครบครันของชีวิตครอบครัวของเขาเพื่อช่วยกันและกันในความบกพร่อง หรือที่ขาดไปให้แก่กันและกัน ทั้งนี้คู่บ่าวสาวจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระศาสนจักรเพื่อความดีและความรอดของวิญญาน

พระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับการสมรสว่า "แรกเริ่มเดิมทีนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้น เป็นชายและหญิง เพราะเหตุนี้ชายจะละบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และทั้งสองจะเป็นดุจคน ๆ เดียวกัน ดังนั้นมนุษย์ต้องไม่แยกสิ่งที่พระเจ้าทรงผูกพันเข้าด้วยกัน...ถ้าชายใดหย่าภรรยาของตนชายนั้นไปแต่งงานใหม่ เขาก็ผิดประเวณี" (มธ.19:1-9) ดังนั้น เมื่อรับศีลนี้แล้วจะหย่าแล้วแต่งงานใหม่ไม่ได้ จนกว่าฝ่ายหนึ่งจะตายจากไป

ศีลอนุกรม (Ordination)

[แก้]

ศีลอนุกรมคือศีลสำหรับผู้ที่จะสมัครบวชหรือถวายตัวแด่พระเจ้า ถือเป็นพระพรแห่งกระแสเรียกที่พระเจ้าทรงเรียกและเลือกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินชีวิต และมีภารกิจในการเป็นศาสนบริกร (ordained minister) ผู้แทนของพระคริสต์ ในการประกาศสอนคำสอน การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ และการปกครองดูแลคริสตชน

พิธีกรรมมีเครื่องหมายที่สำคัญคือ การปกมือของมุขนายกเหนือผู้รับศีลบวช ตลอดจนการเจิมน้ำมันคริสมา เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการประทานองค์พระจิต เป็นการอภิเษก และมอบอำนาจของการเป็นบาทหลวงแห่งศาสนบริกร เพื่อสานต่องานของพระคริสตเจ้า และการถูกส่งไปเพื่อรับใช้เป็นผู้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด ศีลบวช มีลำดับ 3 ขั้น คือ พันธบริกร (สังฆานุกร)[4] บาทหลวง และมุขนายก (พระสังฆราช)

ศีลบวชนี้จะเกี่ยวข้องกับการบวช เป็นพิธีใหญ่ที่คุณพ่ออธิการจะต้องกระทำให้แก่ผู้ประสงค์เข้ามาบวชอันเป็นการมอบอำนาจให้ ทำหน้าที่นักบวชต่อไป พิธีนี้เข้าใจว่าน่าจะกระทำขึ้นมาในภายหลังเพื่อให้เป็นระบบมากขึ้น แต่เดิมมา การบวชจึงเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่สำหรับสัตบุรุษคาทอลิกซึ่งบวชได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ต้องตัดสินใจให้รอบคอบก่อน เพราะจะไม่มีการบวชเป็นครั้งที่สอง ผู้บวชเมื่อบวชแล้วจะมีหน้าที่พิเศษที่แตกต่างจากคนทั่วไปเพราะเชื่อกันว่าเป็นผู้ได้รับพระหรรษทานพิเศษที่แตกต่างจากคนทั่วไป คือ ได้รับพระหรรษทานพิเศษจากพระจิตเจ้า ดังนั้นพวกท่านเหล่านี้จึงสามารถประกอบพิธีกรรมในศาสนา การโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ คำสอน และการสวดบทสวดประจำวัน

บาทหลวงมีหน้าที่ปกครองสัตบุรุษในเขตโบสถ์ที่ได้รับมอบหมายจากมุขนายกมิสซัง มีหน้าที่ให้การอภิบาลสัตบุรุษโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ สอนคำสอนของพระศาสนจักรและถวายบูชามิสซา

พระเยซูทรงเลือกสาวก 12 คนเป็นอัครสาวก เท่ากับจำนวนตระกูลอิสราเอล 12 ตระกูล จึงเท่ากับว่าสาวกทั้ง 12 คนนี้เป็นต้นกำเนิดของ ประชากรใหม่ของพระเจ้าเพื่อช่วยพระเยซูคริสต์ในการประกาศอาณาจักร แต่ก่อนมาในสมัยของพระเยซูคริสต์ยังไม่มีการบวช ถ้าจะเลือกใครเป็นสาวกก็กระทำขึ้นมาโดยไม่มีพิธีรีตองแต่การบวชที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มกันขึ้นมาเองในภายหลังเพื่อความเป็นระบบและเพื่อเป็นเครื่องเตือนย้ำผู้บวชให้ตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องนำพาชีวิตจำนวนมากให้ถึงซึ่งความรอด

ศีลบวช เป็นศีลที่พระศาสนจักรเจิมให้ผู้ที่ได้รับการอบรมมาดีแล้วเป็นบาทหลวง เพื่อรับใช้ศาสนจักรตามที่พระเยซูได้สั่งสอนไว้ "กษัตริย์ในโลกนี้ มีอำนาจเหนือประชากรของเขาแต่พวกท่านต้องไม่เป็นเช่นนั้น ผู้นำต้องรับใช้ปวงชน เหมือนอย่างที่เรามาอยู่ท่ามกลางพวกท่านดังผู้รับใช้" (ลก.22:24-27; เทียบ ยน.13:13-14)

อ้างอิง

[แก้]
  1. พิธีศีลกำลัง เก็บถาวร 2016-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ
  2. ศีลกำลัง, แผนกคริสตศาสนธรรม มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ
  3. Catechism of the Catholic Church - Sacrament of Confirmation, สันตะสำนัก
  4. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 233