ข้ามไปเนื้อหา

ความไร้สัญชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คนไร้สัญชาติ)

ความไร้สัญชาติ (อังกฤษ: statelessness) เป็นข้อความคิดทางกฎหมายซึ่งพรรณนาถึงการที่บุคคลไม่มีสัญชาติ (nationality) ใด ๆ เลย กล่าวคือ สภาวะซึ่งบุคคลไม่เป็นที่รับรองว่าเกี่ยวข้องกับรัฐชาติรัฐใด ๆ เลย บุคคลเช่นนี้เรียก คนไร้สัญชาติ (stateless person)

ไร้สัญชาติ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ

  • ไร้สัญชาติโดยนิตินัย (de jure stateless) เป็นกรณีที่บุคคล "ไม่มีรัฐใดนับว่าเป็นผู้ถือสัญชาติโดยผลของกฎหมายแห่งรัฐนั้นเลย" (not considered as a national by any state under the operation of its law)[1] ผู้ไร้สัญชาติโดยนิตินัยอาจเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) ด้วย แต่มิใช่ว่าผู้ขอที่ลี้ภัย (asylum) ทุกคนจะไร้สัญชาติโดยนิตินัย
  • ไร้สัญชาติโดยพฤตินัย (de facto stateless) เป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้อยู่ในรัฐที่ตนถือสัญชาติ และไม่อาจรับความคุ้มครองจากรัฐที่ตนกำลังอาศัยอยู่นั้น[2] ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเบียดเบียนของรัฐ หรือการขาดความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐทั้งสองดังกล่าว

เหตุผลที่บุคคลไร้สัญชาตินั้นมีอยู่มากมายทั่วโลก[3] ปรกติแล้ว สัญชาติได้มาโดยหลักสองประการ คือ หลักดินแดน (jus soli) กับหลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis) หลักดินแดนระบุว่า บุคคลเกิดในดินแดนของรัฐใด ย่อมได้สัญชาติของรัฐนั้น ส่วนหลักสืบสายโลหิตว่า บิดามารดาถือสัญชาติใด บุคคลย่อมถือสัญชาติตามนั้นด้วย ปัจจุบัน รัฐส่วนใหญ่ใช้หลักทั้งสองนี้ควบคู่กัน และการขัดกันของกฎหมายสัญชาติก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความไร้สัญชาติ เป็นต้นว่า แม้รัฐหลายรัฐจะเปิดให้บุคคลได้สัญชาติตามบุพการี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดที่ใดก็ตาม แต่หลายรัฐก็ยังไม่ยอมรับให้บุคคลได้สัญชาติจากมารดาซึ่งถือสัญชาติของตน[4] ความขัดข้องนี้ส่งผลให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) ซึ่งห้ามเลือกปฏิบัติในการให้สัญชาติเพราะเหตุแห่งเพศ[5]

อีกเหตุหนึ่งของความไร้สัญชาติ คือ การสืบทอดของรัฐ (state succession)[6] ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ปรากฏว่า บุคคลกลายเป็นไร้สัญชาติ เพราะรัฐที่ตนถือสัญชาตินั้นสิ้นสุดลงหรือตกอยู่ในความควบคุมของรัฐอื่น และไม่มีรัฐใหม่มาสืบทอดต่อ ตัวอย่างที่แจ้งชัด คือ คราวที่สหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียล่มสลาย[7][8][9]

อนึ่ง ยังมีกรณีที่บุคคลสละสัญชาติของตนเองโดยสมัครใจ จึงเป็นเหตุให้บุคคลนั้นไร้สัญชาติ เช่น แกรี เดวิส (Garry Davis) ที่เรียกตนเองว่า "พลเมืองโลก" (world citizen) แต่ปรกติแล้ว กฎหมายของรัฐส่วนใหญ่ในโลกนี้จะยอมให้ราษฎรของตนสละสัญชาติตนก็ต่อเมื่อได้สัญชาติใหม่แล้ว

อีกเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไร้สัญชาติ คือ กรณีที่บุคคลเป็นราษฎรของดินแดนซึ่งไม่เป็นรัฐ เป็นต้นว่า ดินแดนปาเลสไตน์ ซาฮาราตะวันตก และไซปรัสเหนือ

ความไร้สัญชาตินั้นบังเกิดขึ้นมายาวนานหลายร้อยปี แต่ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่งใฝ่ใจแก้ไขเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มใน ค.ศ. 1954 เมื่อสหรัฐอเมริกาตกลงรับอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของคนไร้สัญชาติ (Convention relating to the Status of Stateless Persons) ซึ่งวางกรอบการคุ้มครองคนไร้สัญชาติ เจ็ดปีให้หลัง คือ ค.ศ. 1961 จึงมีการทำอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ (Convention on the Reduction of Statelessness) ซึ่งประกอบด้วยข้อบทที่มุ่งหมายป้องกันและบรรเทาความไร้สัญชาติ ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก[10][11]

อย่างไรก็ดี การไม่อาจพิสูจน์สัญชาติ เช่น เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร (undocumented immigrant) ไม่นับว่าไร้สัญชาติ แต่การขาดหนังสือสำคัญบางอย่าง เช่น สูติบัตร อาจนำไปสู่ความไร้สัญชาติได้ บุคคลหลายล้านคนบนโลกนี้ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีหนังสือสำคัญ เป็นเหตุให้ระบุสัญชาติแน่นอนไม่ได้ และประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต เพราะมิรู้ที่จะแสวงหาความคุ้มครองโดยอาศัยความเป็นพลเมืองของรัฐใด[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Convention relating to the Status of Stateless Persons, article 1(1)".
  2. "The Concept of Stateless Persons under International Law". UNHCR.
  3. "Statelessness". Forced Migration Review. Refugee Studies Centre.
  4. "Remarks on Statelessness and Gender Discrimination". US Department of State.
  5. "Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW)".
  6. "International Observatory on Statelessness". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-07. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
  7. Southwick, Katherine. "Ethiopia-Eritrea: statelessness and state succession" (PDF). Forced Migration Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-15. สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
  8. UNHCR. "Nationality and Statelessness: A Handbook for Parliamentarians" (PDF). สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
  9. Tekle, Amare. "Eritrea: State succession and the effort to eliminate statelessness". สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
  10. "Children's right to nationality". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-25. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
  11. UNHCR. "Interpreting the 1961 Statelessness Convention and Preventing Statelessness among Children". สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
  12. "De Jure Statelessness in the Real World: Applying the Prato Summary Conclusions". Open Society Foundations.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]