ข้ามไปเนื้อหา

คณะนักบวชคาทอลิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คณะสถาบันนักพรต)

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก คณะนักบวช หรือ สถาบันนักบวช (อังกฤษ: religious institute) เป็นสถาบันชีวิตที่ถวายแล้วประเภทหนึ่ง สมาชิกประกอบด้วยชาวคาทอลิกที่สละชีวิตทางโลกมาถือคำปฏิญาณของนักบวชตลอดชีวิต เพื่ออุทิศตนทำงานรับใช้พระศาสนจักรเพียงอย่างเดียว และอยู่รวมกันเป็นคณะ (order/society/congregation) โดยแต่ละคณะมีแนวทางการทำงานและเน้นวัตรปฏิบัติแตกต่างกันไป

นอกจากเรียกว่า "คณะนักบวช" แล้ว ราชบัณฑิตยสถานยังใช้คำว่า คณะนักพรต และ คณะนักบวชถือพรต โดยถือว่ามีความหมายเดียวกัน[1] ส่วนประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ค.ศ. 1983 ฉบับภาษาไทย ใช้คำว่า คณะสถาบันนักพรต[2]

ประเภทของคณะ

[แก้]

ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ค.ศ. 1917 จำแนกคณะนักบวชไว้ 2 ประเภท ได้แก่

  1. คณะแคนันเรกิวลาร์ (Order of Canons Regular) สมาชิกประกอบด้วยแคนัน เช่น คณะแคนันออกัสติเนียน
  2. คณะนักบวชอารามิก (Monastic Order) สมาชิกประกอบด้วยนักพรต เช่น คณะเบเนดิกติน คณะคาร์ทูเซียน
  3. คณะนักบวชภิกขาจาร (Mendicant order) สมาชิกประกอบด้วยไฟรเออร์ เช่น ภราดาคณะฟรันซิสกัน ภราดาคณะดอมินิกัน
  4. คณะบาทหลวงเรกิวลาร์ (Order of Clerics Regular) สมาชิกประกอบด้วยบาทหลวง เช่น คณะเยสุอิต คณะคามิลเลียน
  1. คณะนักบวชบาทหลวง (Clerical Religious Congregation) เช่น คณะซาเลเซียนของคุณพ่อบอสโก คณะพระมหาไถ่
  2. คณะนักบวชฆราวาส (Lay Religious Congregation) เช่น คณะภราดาเซนต์คาเบรียล คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร

การเข้าคณะนักบวช

[แก้]

ชายหรือหญิงที่ปรารถนาจะเข้าเป็นนักบวชไม่ว่าสังกัดในคณะใด ต้องติดต่อกับคณะนั้น โดยทั่วไปนักบวชจะต้องปฏิญาณตน 3 ข้อเป็นพื้นฐาน[1] คือ 1. เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา (คืออธิการคณะ) 2. ถือโสดตลอดชีวิต 3. ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใด ๆ นอกจาก 3 ข้อนี้แล้วผู้สมัครยังต้องปฏิญาณข้ออื่น ๆ อีกตามแต่ละคณะจะกำหนดไว้ และยังต้องรักษาวินัยประจำคณะ (religious rule) ซึ่งจะแตกต่างกันไปอีกเช่นกัน วินัยเหล่านี้เป็นที่อนุมัติของสันตะสำนัก

เมื่อตัดสินใจเข้าคณะ

ขั้นแรก ผู้สมัครจะต้องรับการอบรมในฐานะโปสตูลันต์ (postulant) เพื่อฝึกการปฏิบัติศาสนกิจ ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการอบรมของแต่ละคณะ บางคณะก็แค่อาทิตย์เดียว บางคณะกำหนดขั้นตํ่า 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ส่วนมากจะไม่เกินสองปี ในชั้นโปสตูลันต์นี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาในกฏหมายพระศาสนจักร แต่ละคณะฯสามารถวางแผนการอบรมในขั้นนี้ได้เอง ในขั้นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นนักบวช

ขั้นต่อมา ก็ต้องเข้าอบรมเป็นโนวิซ (novice) เพื่อศึกษาจิตตารมณ์ของคณะนักบวชนั้นๆอย่างเข้มข้น ภายใต้การดูแลของนวกจารย์ ระยะเวลาในขั้นโนวิชนี้ ต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน[3] แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี[4] ในขั้นนี้จะถือว่าเป็นขั้นทดลองฝึกเป็นนักบวช ยังไม่ได้เป็นนักบวชเต็มตัว

ขั้นต่อมา เมื่อครบแล้วจึงขอปฏิญาณตนเป็นสมาชิกของคณะ การปฏิญาณจะทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการปฏิญาณเพื่อถวายตัวชั่วคราว โดยในขั้นนี้ผู้รับการอบรมจะต้องต่อคำปฏิญาณตนทุกปี โดยขั้นนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี[5] เมื่อครบกำหนดแล้วผู้สมัครมั่นใจและมีความพร้อมจะเป็นนักบวชได้ตลอดชีพก็จะทำการปฏิญาณตนอีกครั้งเพื่อถวายตัวตลอดชีพ[1] ในขั้นนี้หลังจากการปฎิญาณตนแล้วจะถือว่าเป็นนักบวชแล้ว

เมื่อเป็นนักบวชในคณะโดยสมบูรณ์แล้ว นักบวชจะต้องปฏิบัติศาสนกิจในสังกัดคณะตลอด ยกเว้นได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากผู้ปกครองคณะฯให้สามารถดำเนินชีวิตนอกหมู่คณะได้ แต่ถ้าหากละเมิดวินัยอย่างร้ายแรงก็อาจถูกขับออกจากคณะ

ส่วนคณะก็ต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของนักบวชในทุกด้าน ทั้งที่พักอาศัย (ซึ่งนักบวชจะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในอาราม หรือบ้านพักของคณะ) ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น[1]

ความแตกต่างระหว่างบาทหลวงกับนักบวช

[แก้]

บาทหลวง (priest) และนักบวช (the religious) มีลักษณะแตกต่างกัน บาทหลวงคือชายที่ได้รับศีลอนุกรมขึ้นที่ 7 คือขั้นบาทหลวง ทำให้มีสถานะเป็นบาทหลวง มีอำนาจสามารถโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacrament) ต่าง ๆ ได้ตามที่ศาสนจักรกำหนดไว้ เช่น ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลอภัยบาป เป็นต้น บาทหลวงจะถูกเรียกว่า “คุณพ่อ” (Father) แต่นักบวชมีสถานะโดยเบื้องต้นแค่ผู้ถือพรต ไม่สามารถโปรดศีลได้ ชาวคาทอลิกจะเรียกนักบวชชายว่า “บราเดอร์” (Brother) และนักบวชหญิงว่า “ซิสเตอร์” (Sister) อย่างไรก็ตามนักบวชชายบางคนในบางคณะอาจขอรับศีลบวชเป็นบาทหลวงได้ ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสถานะเป็นทั้งนักบวชและบาทหลวง (เรียกว่า Regular priest)[6] สามารถประกอบพิธีอย่างบาทหลวงที่ไม่ได้สังกัดคณะนักบวช (secular priest) ได้ทุกประการ ต่างแต่เพียงบาทหลวงที่ไม่ได้เป็นนักบวชจะต้องทำงานให้มุขมณฑลตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ส่วนนักบวชแม้ว่าเป็นบาทหลวงแล้วก็ยังต้องสังกัดคณะนักบวชต่อไป

คณะนักบวชคาทอลิกในประเทศไทย

[แก้]

คณะนักบวชคาทอลิกคณะแรกที่มาถึงสยามคือคณะดอมินิกันถึงในปี พ.ศ. 2110 ตามด้วยคณะฟรันซิสกันในปี พ.ศ. 2125[7] นอกจากนี้ก็มีคณะออกัสติเนียน และคณะเยสุอิต คณะเหล่านี้มีบทบาทมากในการเผยแพร่นิกายคาทอลิกในยุคปาโดรอาโด จากนั้นมีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาดำเนินการเผยแพร่ศาสนาและก่อตั้งมิสซังสยามได้เป็นผลสำเร็จ คณะนี้ได้วางรากฐานคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยจนพัฒนามาเป็นคริสตจักรท้องถิ่นที่ปกครองและบริหารงานตนเองได้ในปัจจุบัน

ตลอดช่วงของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังได้ก่อตั้งคณะนักบวชท้องถิ่นขึ้นมาช่วยเหลืองานของเขตมิสซัง เช่น คณะรักกางเขนช่วยงานของคริสตจักรคาทอลิกในเขตมิสซังจันทบุรี เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง และเขตมิสซังอุบลราชธานี คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ ช่วยงานของคริสตจักรคาทอลิกในเขตมิสซังกรุงเทพฯและเขตมิสซังเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเชิญคณะนักบวชจากต่างประเทศเข้ามาด้วย เช่น คณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมันและคณะภราดาเซนต์คาเบรียลมาช่วยงานด้านการศึกษา คณะซาเลเซียนของคุณพ่อบอสโกช่วยงานด้านพัฒนาสวัสดิภาพเยาวชน คณะคามิลเลียนเน้นงานด้านการสาธารณสุข นอกจากงานสังคมสงเคราะห์ยังมีคณะนักบวชอารามิกซึ่งเน้นวัตรการอธิษฐานและการเข้าฌาน ได้แก่ คณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าซึ่งเปิดอารามแห่งแรกในปี พ.ศ. 2468 และคณะกลาริสกาปูชินเข้ามาตั้งอารามในปี พ.ศ. 2479

ปัจจุบันอธิการเจ้าคณะนักบวชชายในประเทศไทยได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมอธิการเจ้าคณะนักบวชชายแห่งประเทศไทย[8] ขณะที่อธิการิณีเจ้าคณะนักบวชหญิงก็ร่วมกันก่อตั้งเป็นชมรมอธิการิณีเจ้าคณะแห่งประเทศไทยและลาว[9] ทั้งสององค์การรวมกันเป็นสหพันธ์อธิการเจ้าคณะนักบวชในประเทศไทย[10]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 163, 421-2
  2. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 831
  3. ประมวลกฏหมายพระศาสนจักร มาตรา 648 วรรค 1
  4. ประมวลกฏหมายพระศาสนจักร มาตรา 648 วรรค 3
  5. ประมวลกฏหมายพระศาสนจักร มาตรา 655
  6. กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550
  7. สหพันธ์อธิการเจ้าคณะนักบวชในประเทศไทย, นักบวชหญิงและชายในประเทศไทย, พ.ศ. 2545, หน้า 42
  8. สหพันธ์อธิการเจ้าคณะนักบวชในประเทศไทย, 68-9
  9. "ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะแห่งประเทศไทยและลาว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-13.
  10. สหพันธ์อธิการเจ้าคณะนักบวชในประเทศไทยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2009