ข้ามไปเนื้อหา

หลวงปู่ขาว อนาลโย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขาว อนาลโย)
พระขาว อนาลโย

(ขาว อนาลโย)
ชื่ออื่นหลวงปู่ขาว
ส่วนบุคคล
เกิด28 ธันวาคม พ.ศ. 2431 (94 ปี)
มรณภาพ16 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
อุปสมบท2 พฤษภาคม พ.ศ. 2462
พรรษา64

หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นพระภิกษุ คณะธรรมยุติกนิกาย ท่านได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ชาติภูมิ

[แก้]

หลวงปู่ขาว อนาลโย นามเดิมชื่อ ขาว โคระถา เกิดวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ปีชวด ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ) บิดาชื่อ พั่ว โคระถา มารดาชื่อ รอด โคระถา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 ทำอาชีพหลักของครอบครัว คือ ทำนาและค้าขาย ต่อมาท่านได้สมรสกับนางมี โคระถา เมื่อ พ.ศ. 2452 ขณะอายุได้ 20 ปี มีบุตรด้วยกัน 3 คน ใช้ชีวิตคู่ได้ 11 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นอกจากหลวงปู่ขาวแล้วยังมีผลผลิตทางธรรมจากบ้านบ่อชะเนงและเป็นญาติกับหลวงปู่ขาว อีก 2 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร กรุงเทพมหานคร[1] และพระราชปรีชาญาณมุนี (หลอม มหาวิริโย ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดบ่อชะเนง และเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ (รูปปัจจุบัน)[2]

อุปสมบท

[แก้]

ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 ที่วัดโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือวัดบ่อชะเนง) บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ สังกัดคณะมหานิกาย มีท่านพระครูพุฒิศักดิ์ฯ เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์บุญจันทร์ฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และจำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี 6 พรรษา

ต่อมาหลวงปู่ขาวเกิดความศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงได้ญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุติกนิกายเมื่อ พ.ศ. 2468 ขณะมีอายุได้ 37 ปี ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นประธานพิธี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระชิโนวาทธำรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุฑโฒ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

[แก้]
ภาพถ่ายหมู่ของคณะลูกศิษย์ในพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่หน้าศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าหนองผือนาใน) บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (จากซ้าย) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต

หลังกระทำญัตติกรรมเข้าคณะธรรมยุติกานิกายแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเวลา 8 ปี จากนั้นได้เดินธุดงค์ตาม ท่านพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่าง ๆ ท่านออกเดินทางทุกปี และได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายปีอีกด้วย

ท่านได้สร้างบารมีอยู่ในป่าเขาเป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น สิง ค่าง ช้าง เสือ เวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมาตามความรำพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้าง ว่าหายหน้าไปไหนนานไม่ผ่านมาทางนี้เลย พอตกกลางคืนดึก ๆ ช้างก็จะมาหาจริง ๆ และ เดินตรงมายังกุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้ว ช้างก็จะกลับเข้าป่าไป เวลาที่ท่านนึกถึงเสือ ก็เช่นกัน นึกถึงตอนกลางวันตกกลางคืนเสือก็มาเพ่นพ่านภายในวัดบริเวณที่ท่านพักอยู่

คุณหมออวย เกตุสิงห์ เขียนไว้ในประวัติอาพาธ ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสือ อนาลโยวาท ว่า เวลาท่านไม่สบายอยู่ในป่าเขา มักจะไม่ใช้หยูกยาอะไรเลย จะใช้แต่ธรรมโอสถ ซึ่งได้ผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน ท่านเคยระงับไข้ด้วยวิธีภาวนามาหลายครั้ง จนเป็นที่มั่นใจต่อการพิจารณาเวลาไม่สบาย

ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว เล่าถึง หลวงปู่ขาว ในหนังสือ "ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" ว่าหลวงปู่ขาว ได้บรรลุธรรมชั้นสุดยอดในราวพรรษาที่ 16-17 ในสถานที่ซึ่งมีนามว่าโหล่งขอด แห่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เขียนเล่าไว้ว่า "เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จ หลวงปู่ขาว ออกจากที่พักไปสรงน้ำ ได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขา กำลังสุกเหลืองอร่าม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะนั้นว่า ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด ใจที่พาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียวกันกับเมล็ดข้าว เชื้อนั้น ถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจให้สิ้นไป จะต้องพาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็แล้วอะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลสอวิชชา ตัณหาอุปาทาน ท่านคิดทบทวนไปมา โดยถืออวิชชาเป็นเป้าหมายแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วยความสนใจอยากรู้ตัวจริงแห่งอวิชชา นับแต่หัวค่ำจนดึกไม่ลดละการพิจารณาระหว่าง อวิชชา กับ ใจ จวนสว่างจึงตัดสินใจกันลงได้ด้วยปัญญา อวิชชาขาดกระเด็นออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ การพิจารณาข้าว ก็มายุติกันที่ข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป การพิจารณาจิต ก็มาหยุดกันที่ อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุกขึ้นมา เช่นเดียวกับ ข้าวสุก จิตหมดการก่อกำเนิดเกิดในภพต่าง ๆ อย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิตล้วน ๆ ในกระท่อมกลางเขา มีชาวป่าเป็นอุปัฏฐากดูแล ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลสวัฏฏ์ไปได้ แล้วเกิดความอัศจรรย์อยู่คนเดียวตอนสว่าง พระอาทิตย์ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชาขึ้นสู่ธรรมอัศจรรย์ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียว กันกับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยามวิเศษเสียจริง

ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามถิ่นต่าง ๆ จนในที่สุดก็มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ. 2501 จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมพ.ศ. 2526

มรณภาพ

[แก้]

คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เล่าเกี่ยวกับปัจฉิมกาลของท่านไว้ในหนังสือ อนาลโยวาท ว่า ท่านทุพพลภาพอยู่ถึง 9 ปี แต่สุขภาพจิตยังดีมีนิสัยรื่นเริงติดตลกในระยะสามปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านมืดสนิทเพราะต้อแก้วตา หรือ ต้อกระจก หูก็ตึงมาก เพราะหินปูนจับกระดูก แต่ท่านก็มิได้เดือดร้อนใจ และสามารถบอกกำหนดอายุขัยของตนเองได้ว่า จะมรณภาพอายุ 95 ปี ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ท่านได้กล่าวไว้

หลวงปู่ขาวมรณภาพในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 อายุ 94 ปี 64 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอดตั้งบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่กลับคับแคบไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีระร่างของท่านนับเป็น จำนวนแสนคน นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศทีเดียว

ธรรมโอวาท

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของท่าน ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติโยม ณ บ้านบ่อชะเนง (บ้านเกิดของท่าน)

"คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีลมีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดี ไม่มีลุ่มไม่มีดอน จงพากันทำไป ในอิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ

พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบลิ้น ชั่วไก่กินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป

การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่ ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีกให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละ เป็นนิวรณ์ตัวร้าย ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"

ปัจฉิมบท

[แก้]
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ขาว อนาลโย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ได้พรรณนาถึงเมตตาธรรม และ ตปธรรม ของ หลวงปู่ขาว ไว้ในหนังสือ ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"ท่านอาจารย์องค์นี้มีความเด็ดเดี่ยวมาก การนั่งภาวนาตลอดสว่างท่านทำได้สบายมาก ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญกัดเหล็กกัดเพชรจริง ๆ จะทำไม่ได้ จึงขอชมเชยอนุโมทนากับท่านอย่างถึงใจ เพราะเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านร้อยเปอร์เซนต์ว่า เป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจ ทั้งที่ยังครองขันธ์อยู่"

ในบทความภาคผนวกตอนหนึ่งของหนังสือ อนาลโยวาท ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งว่า "วันหนึ่ง มีชายแปลกหน้าวัยฉกรรจ์ผู้หนึ่ง ปรากฏกายขึ้นที่วัด ขอเข้านมัสการท่านอาจารย์ พอได้พบก็ตรงเข้าไปกราบถึงที่เท้า แล้วเอ่ยปากขอบพระคุณที่ท่านช่วยเขาให้พ้นจากโทษมหันต์ พร้อมเล่าว่า เขาเป็นทหารไปรบที่ประเทศลาวเป็นเวลานาน พอกลับมาบ้าน ก็ได้รู้ว่าภรรยานอกใจ จึงโกรธแค้น เตรียมปืนจะไปยิงทิ้งทั้งคู่ แต่ยังไม่ทันได้กระทำเช่นนั้น เพราะกินเหล้าเมา แล้วหลับฝันไปว่า มีพระแก่องค์หนึ่งมาขอบิณฑบาตความอาฆาตโกรธแค้น และเทศน์ให้ฟังถึงบาปกรรมของการฆ่า จนเขายอมยกโทษ ให้อภัย ละความพยาบาท ได้ถามในฝัน ได้ความว่า พระภิกษุองค์นั้น ชื่อ ขาว มาแต่เมืองอุดรฯ พอตื่นขี้นจึงออกเดินทางมาเสาะหาท่าน จนได้พบที่วัด เช่นนี้" หลวงปู่ขาว ท่านกล่าวอนุโมทนา แล้วอบรมต่อไปให้เข้าใจหลักธรรม ตลอดจนผลของการงดเว้นจากการฆ่า ทำให้ชายผู้นั้นซาบซึ้งในรสพระธรรม จนตัดสินใจที่จะอุปสมบทต่อไป เรื่องนี้ เป็นหลักฐานว่า ความเมตตาของท่านเปี่ยมล้น และครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางเพียงใด

อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสำคัญที่สุดของ หลวงปู่ขาว ก็คือ วัดถ้ำกลองเพล อันเป็นสถานที่ท่านพำนักจำพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2526 ท่านดูแลบริเวณวัดซึ่งมีเนื้อที่กว่าพันไร่ ให้เป็นป่าร่มรื่นบนลากสันเขา มีโขดหินขนาดใหญ่มากมาย เป็นเพิงผาธรรมชาติที่งดงาม ด้านหลังเป็นอ่างเก็บน้ำ ชื่อ อ่างอาราม ซึ่งเป็นโครงการชลประทานพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จุดเด่นของ วัดถ้ำกลองเพล คือ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสวยงามควรแก่การศึกษาและเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง "ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ"

สานุศิษย์สำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ฉลองอายุวัฒนมงคล ๙๐ ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ถาวรมหาเถระ), Link
  2. ๓ พี่น้องแห่งบ้านบ่อชะเนงผู้เจริญในธรรม, Link
  • หนังสือสวดมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู