การทดสอบลานสายตา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
การทดสอบลานสายตา (Visual field test) | |
---|---|
การวินิจฉัยทางการแพทย์ | |
ICD-9-CM | 95.05 |
MeSH | D010499 |
เม็ดไลน์พลัส | 003879 |
LOINC | 28629-4 |
การทดสอบลานสายตา หรือ การตรวจลานสายตา (อังกฤษ: visual field test) เป็นการตรวจตาที่สามารถตรวจจับความผิดปกติของการเห็นตรงกลาง (central) และการเห็นรอบนอก (peripheral) ของลานสายตา ซึ่งอาจเกิดเพราะโรคหลายอย่างรวมทั้งต้อหิน, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคต่อมใต้สมอง, เนื้องอกในสมอง หรือปัญหาทางประสาทอื่น ๆ สามารถตรวจได้ในห้องตรวจโดยให้คนไข้ตรึงตา/มองนิ่ง ๆ ที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วแสดงวัตถุรอบ ๆ ภายในลานสายตาของคนไข้ หรืออาจใช้เครื่องมือแบบง่าย ๆ เช่นจอ (tangent screen test) หรือใช้แผ่นตาราง (Amsler grid) อุปกรณ์เพื่อการนี้โดยเฉพาะเรียกว่าเครื่องวัดลานสายตา/เพริมีเตอร์[1] (perimeter)
ผู้ตรวจสามารถทดสอบได้โดยวิธีหลายอย่าง คือทำเอง ใช้เครื่องช่วย หรือให้เครื่องทำทั้งหมด การใช้เครื่องทำทั้งหมดช่วยแพทย์วินิจฉัยเพราะสามารถพิมพ์ผลแสดงลานสายตาของคนไข้ได้อย่างละเอียด
ชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ ของการทดสอบนี้รวมทั้ง tangent screen exam, automated perimetry exam, Goldmann visual field exam และ Humphrey field exam
Confrontation visual field exam
[แก้]เทคนิกที่ใช้ตรวจรวมทั้ง Confrontation visual field exam (Donders' test) คือ ผู้ตรวจจะบอกให้คนไข้ปิดตาข้างหนึ่งแล้วมองผู้ตรวจ ถ้าทำอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อคนไข้ปิดตาข้างขวา ผู้ตรวจก็จะปิดตาข้างซ้าย โดยนัยตรงข้ามก็เช่นกัน ผู้ตรวจจะยกมือออกจากลานสายตาของคนไข้แล้วนำมันกลับเข้ามาอีก ปกติแล้ว ผู้ตรวจจะกระดิกนิ้วมือช้า ๆ หรือใช้เข็มปักหมวก (hat pin) สำหรับการนี้ โดยคนไข้จะส่งสัญญาณเมื่อเห็นมืออีก เป็นการทดสอบเบื้องต้นที่ทำได้ง่าย ๆ
การวัดลานสายตา (perimetry)
[แก้]การวัดลานสายตา[1] (อังกฤษ: perimetry, campimetry) เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ทดสอบลานสายตา[2] เป็นการวัดความไวแสงในระดับต่าง ๆ ของลานสายตาอย่างเป็นระบบ โดยคนไข้จะส่งสัญญาณเมื่อเห็นเป้าหมายที่ใช้ทดสอบปรากฏบนพื้นหลังจอโดยเฉพาะ ๆ แล้วทำภาพและให้ค่าจุดต่าง ๆ ในลานสายตา โดยเฉพาะส่วนรอบนอกสุด ภาษาอังกฤษเรียกชื่อว่า perimetry เพราะเป็นการวัด perimeter (เส้นขอบ) ของลานสายตา
เครื่องวัดลานสายตาอัตโนมัติมีใช้อย่างกว้างขวาง การประยุกต์ใช้รวมทั้งใช้ตรวจวินิจฉัยโรค เป็นส่วนของการสอบเข้างาน ใช้ประเมินสมรรถภาพทางตา ใช้ตรวจคัดโรคภายในสถาบันการศึกษาหรือภายในชุมชน เป็นส่วนของการตรวจคัดทหาร และเพื่อระบุความพิการ[3]
รูปแบบเครื่องวัด
- Tangent screen
- เป็นเครื่องวัดที่ง่ายสุด เพราะใช้เพียงแค่จอตั้งคือ tangent screen[4] ตรวจโดยแสดงหมุดปักขนาดต่าง ๆ ที่ติดกับไม้ดำ ซึ่งอาจเลื่อนไปมาได้ และจะทำกับฉากหลังเป็นสีดำ[4] หมุดปักที่เป็นตัวกระตุ้นอาจเป็นสีขาวหรือเป็นสีอื่น ๆ[4]
- เครื่องวัดลานสายตาโกลด์แมนน์ (Goldmann Perimeter)
- เครื่องวัดลานสายตาโกลด์แมนน์เป็นเหมือนหม้อทรงกลมที่ตั้งอยู่หน้าคนไข้ตามระยะที่กำหนด[4] ผู้ตรวจจะแสดงแสงที่ใช้ตรวจในขนาดและความสว่างต่าง ๆ แสงอาจเลื่อนเข้ามาตรงกลางจากขอบนอก (kinetic perimetry) หรืออาจจะอยู่กับที่ (static perimetry) วิธีนี้สามารถตรวจการเห็นรอบนอกอย่างสมบูรณ์ และได้ใช้มาหลายปีเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงทางสายตาของคนไข้โรคต้อหิน[4] อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแพทย์มักใช้เครื่องวัดแบบอัตโนมัติ
- การวัดลานสายตาอัตโนมัติ (Automated perimetry)
- การวัดลานสายตาอัตโนมัติใช้แสงกระตุ้นที่เครื่องเป็นตัวเคลื่อนที่ คนไข้ระบุว่าเห็นแสงโดยกดปุ่ม การใช้พื้นหลังเป็นสีขาวและแสงกระตุ้นที่เพิ่มความสว่างเป็นขั้น ๆ เรียกว่า การวัดลานสายตาแบบ "white-on-white" เป็นวิธีการวัดที่ใช้มากที่สุดทางคลินิก และในงานทดลองที่ต้องวัดการเสียลานสายตา[5] แต่ความไวของการวัดเช่นนี้ค่อนข้างต่ำ และการกระจายของค่าวัด (variability) ก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น อาจต้องเสียเซลล์รับแสงถึง 25-50% กว่าเครื่องจะตรวจจับความเปลี่ยนแปลงได้[5] วิธีนี้ปกติใช้เพื่อตรวจจับจุดบอดในระยะต้น ๆ คนไข้จะนั่งหน้าโดมเว้าเล็ก ๆ ที่ประกอบกับเครื่องโดยมีเป้าสายตาอยู่ตรงกลาง คนไข้จะวางคางบนที่วาง ปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจ มีปุ่มสำหรับกด เจ้าหน้าที่จะให้คนไข้นั่งข้างหน้าโดมและมองที่เป้าหมายตรงกลาง คอมพิวเตอร์จะเป็นตัวส่องแสงไปยังจุดต่าง ๆ ภายในโดม ซึ่งคนไข้ควรกดปุ่มเมื่อเห็นแสง คอมพิวเตอร์จึงสามารถสร้างแผนที่และระบุลานสายตาของคนไข้[6][7]
- Microperimeter
- เครื่องนี้ใช้ประเมินการทำงานของจุดภาพชัด (macular) ภายในตาด้วยคอมพิวเตอร์
วิธีแสดงแสงกระตุ้น
[แก้]การวัดลานสายตาแบบสถิต (static perimetry)
[แก้]static perimetry ตรวจสอบตำแหน่งต่าง ๆ ของลานสายตาทีละตำแหน่ง ๆ[4] แรกสุด จะแสดงแสงสลัว ๆ ที่ตำแหน่งหนึ่ง ๆ ถ้าคนไข้ไม่เห็น ก็จะทำให้สว่างขึ้น ๆ จนกว่าจะเห็น[4] ระดับแสงสว่างต่ำสุดที่เห็นได้เรียกว่าเป็นความไวขีดเริ่มเปลี่ยน ("threshold" sensitivity) ที่ตำแหน่งนั้น ๆ[4] แล้วก็ทำที่ตำแหน่งอื่น ๆ อีก จนกระทั่งได้ทดสอบลานสายตาทั้งหมด[4]
วิธีการนี้มักทำด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ ใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคแบบเร็ว และติดตามอาการบางอย่างของโรค เช่น ดวงมืดในลานเห็น (scotoma) การเสียการเห็นรอบนอก (peripheral vision) และการเสียสายตาที่จับได้ยากกว่านั้นอื่น ๆ การวัดลานสายตาสำคัญในการตรวจคัดกรอง (screening) การวินิจฉัย และการเฝ้าติดตามโรคทางตา โรคจอตา โรคประสาทตา และโรคสมอง
การวัดลานสายตาแบบจลน์ (kinetic perimetry)
[แก้]kinetic perimetry ใช้แสงสว่างที่ผู้ตรวจ (ไม่ใช่เครื่อง) เลื่อนแสงกระตุ้น เช่น goldmann kinetic perimetry (การวัดลานสายตาด้วยเครื่องโกลด์แมนน์แบบจลน์)[8] แรกสุด จะทดสอบด้วยแสงจุดเดียวที่มีขนาดและสว่างเท่ากัน แสงจะเคลื่อนไปยังตรงกลางสายตาจากขอบจนกระทั่งคนไข้เห็น ซึ่งจะทำซ้ำจากรอบ ๆ ที่ตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าทำจำนวนครั้งพอ ก็จะเห็นเขตการเห็นสำหรับตัวกระตุ้นนั้น ๆ เจ้าหน้าที่จะตรวจซ้ำอีกแต่ใช้แสงแบบอื่น ๆ หรือสว่างกว่าแสงที่ทดสอบแบบแรก
เพราะเหตุนี้ การวัดลานสายตาแบบจลน์จึงสามารถทดสอบขอบเขตความไวแสงของลานสายตา ซึ่งอาจเป็นทางเลือกการตรวจที่ดีสำหรับคนไข้ที่มีปัญหากับเครื่องวัดลานสายตาอัตโนมัติเพราะมีปัญหาการมองตรงที่ ๆ เดียว หรือมีปัญหาทางประชาน/สติปัญญาอื่น ๆ[9]
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "perimetry". ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕.
(แพทยศาสตร์) การวัดลานสายตา
- ↑ "Visual Field". NIH, US National Library of Medicine. Medline Plus. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012.
- ↑ "1990 Perimetry Standards". First Codicil. Imaging and Perimetry Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 Cunningham, Emmett T.; Paul Riordan-Eva (2011). "Chapter 2: Ophthalmologic Evaluation - Specialized Ophthalmologic Examinations". Vaughan & Asbury's general ophthalmology (18th ed.). New York: McGraw-Hill Medical. ISBN 978-0-07-163420-5.
- ↑ 5.0 5.1 McKendrick, Allison M (March 2005). "Recent developments in perimetry: test stimuli and procedures". Clinical and Experimental Optometry. 88 (2): 73–80. doi:10.1111/j.1444-0938.2005.tb06671.x. PMID 15807638.
- ↑ "Visual Field Testing". 2 มกราคม 2013.
- ↑ Siverstone DE, Hirsch J (1986). Automated Visual Field Testing. Norwalk, CT: Appelton-Century Croft.
- ↑ "What is Perimetry?". Imaging and Perimetry Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012.
- ↑ Ing, Edsel. "Neuro-Ophthalmic Examination". Web MD, LLC. Medscape. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2012.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Amsler Grid Test", Ossibus Software
- "Free visual field test", visual-field-test.com, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2019