กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับงานทางด้านธุรการ งานทางด้านเอกสารสารบรรณ งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงงานด้านการช่วยอำนวยการและงานด้านเลขานุการของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
ประวัติ
[แก้]กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เริ่มมีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ในช่วงที่จำนวนประชากรภายในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 14 ล้านคน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการ จัดวางโครงสร้างของข้าราชการตำรวจขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงชื่อจาก "กรมตำรวจภูธร" เป็น "กรมตำรวจ"[1] และสั่งการให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดแบ่งโครงสร้างและแผนงานโดยย่อยออกไป ตามแต่เห็นสมควรแก่การปรับเปลี่ยน
ต่อมาภายในปีเดียวกัน พระยาจ่าเสนาบดีศรีบริบาล ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำการจัดแบ่งแผนงานในกรมตำรวจสำหรับข้าราชการตำรวจสันติบาล โดยได้ประกาศไว้ดังนี้ ...ตำรวจสันติบาล ให้รวบรวมกรมตำรวจภูธร ตำรวจกองพิเศษกับตำรวจภูธรกลางเป็นตำรวจสันติบาล มีหัวหน้าเป็นผู้บังคับการ 1 นาย แบ่งเป็น กองที่หนึ่ง กองที่สอง กองที่สาม และกองตำรวจแผนสรรพกร...[2]
สำหรับกองที่สาม มีระเบียบงานที่แตกต่างกันออกไปจากกองที่หนึ่ง และกองที่สอง กล่าวคือ ...กองที่สาม จัดตั้งขึ้นเพื่อสำหรับเป็นกองวิทยาการตำรวจ ซึ่งต้องให้ผู้ที่มีความรู้พิเศษ เช่น การตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา หรือผู้ที่สมัครเข้ารับราชการ ว่าเคยมีประวัติต้องโทษมาก่อนหรือไม่ มีหน้าที่ในการบันทึกประวัติของผู้กระทำความผิดในคดีต่าง ๆ ตรวจทั้งการตรวจพิสูจน์ของกลางที่ยืดได้ในที่เกิดเหตุ ออกรูปพรรณสัณฐานของของที่สูญหาย รวมทั้งการออกประกาศสืบจับผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญา... ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กองที่สาม ของตำรวจสันติบาลในสมัยนั้นคือจุดเริ่มต้นของกองทะเบียนประวัติอาชญากรและกองพิสูจน์หลักฐาน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กรมตำรวจได้มีการจัดวางระเบียบราชการกรมต่าง ๆ ในกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้ประกาศออกใช้งานใหม่ กองตำรวจสันติบาลได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานในราชการใหม่อีกครั้งดังนี้
- กองกำกับการหนึ่ง สืบสวนปรามปรามโจรผู้ร้าย
- กองกำกับการสอง สืบสวนราชการพิเศษ
- กองกำกับการสาม เทคนิคตำรวจ มีการแบ่งหน่วยงานย่อยออกไปจำนวน 5 แผนก ดังนี้[3]
- แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ
- แผนกบันทึกแผนประทุษกรรม
- แผนกพิสูจน์หลักฐาน
- แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย
- แผนกเนรเทศ
- กองกำกับการสี่ ทะเบียนตำรวจ
หน่วยงานในสังกัด
[แก้]ในปี พ.ศ. 2503 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในหน่วยงานราชการใหม่ โดยยุบ "กองวิทยาการ" ซึ่งก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 8 ปี 4 เดือน 16 วัน ออกจากสารบบทำเนียบหน่วยงานราชการตำรวจของกรมตำรวจ โดยแยกหน่วยงานใหม่ออกเป็น 2 หน่วยงานคือ
- สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ หรือกองพิสูจน์หลักฐานเดิม
- กองทะเบียนประวัติอาชญากร
การแยกหน่วยงานทางด้านการพิสูจน์วัตถุพยานและหลักฐาน รวมทั้งงานทางด้านการตรวจพิสูจน์ค้นคว้าในด้านวัตถุบุคคลออกจากกัน เป็นการปรับปรุงและขยายขอบเขตของหน่วยงานทั้งสองให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ดังนั้นกองพิสูจน์หลักฐานและกองทะเบียนประวัติอาชญากร จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ โดยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการสอบสวนกลาง ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา
ในสมัยของ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธ์คงชื่น ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมราชการในส่วนภูมิภาค และได้พบเห็นการทำงานทางด้านวิทยาการของข้าราชการตำรวจ พบว่าขาดประสิทธิภาพในการทำงาน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงวิทยาการ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของข้าราชการตำรวจ และเนื่องจากลักษณะการทำงานทางด้านวิทยาการมีการอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใด เช่น วิทยาการตำรวนใจส่วนกลางคือกองทะเบียนประวัติอาชญากรและกองพิสูจน์หลักฐาน มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจภูธร เป็นต้น จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน โดยรวบรวมเอาหน่วยงานการตำรวจในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน และจัดตั้งเป็น "สำนักงานวิทยาการ" ขึ้น โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 7 กองบังคับการ ดังนี้
- กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ
- กองพิสูจน์หลักฐาน
- กองทะเบียนประวัติอาชญากร
- กองบังคับการวิทยาการ ภาค 1
- กองบังคับการวิทยาการ ภาค 2
- กองบังคับการวิทยาการ ภาค 3
- กองบังคับการวิทยาการ ภาค 4
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ เอกสารคำสอน วิชาการทะเบียนประวัติอาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 1, พ.ศ. 2543
- ↑ "ประวัติและความเป็นมาของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-14. สืบค้นเมื่อ 2008-03-31.
- ↑ ประวัติและความสำคัญของการทะเบียนประวัติอาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 1, พ.ศ. 2543