ข้ามไปเนื้อหา

รอยขูดขีดเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กราฟฟิตี)
การพ่นสีรอยขูดขีดเขียนบนกำแพง

รอยขูดขีดเขียน (อังกฤษ: graffiti) เป็นภาพวาดที่เกิดจากการขีดเขียนไปบนผนัง คำ "graffiti" เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษากรีก grafito ซึ่งแปลว่าการเขียนภาพลงบนผนังหรือกำแพงในสมัยโบราณ โดยที่รู้จักกันทั่วไปจะมีลักษณะของการพ่น (bombing) เซ็นชื่อ หรือเป็นการเซ็นลายเซ็น โดยเริ่มต้นจากเมืองฟิลาเดลเฟียในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงแพร่หลายในนิวยอร์กช่วงยุคคริสต์ทศวรรษที่ 60

ความหมาย

[แก้]

จากหนังสือ Freight Train Graffitti ให้คำนิยามรอยขูดขีดเขียนว่า "รอยขูดขีดเขียนถือเป็นวัฒนธรรมนอกกระแสที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของความเป็น ขบถ ราวกับว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซ่าน เป็นสุข เมื่อยามที่ศิลปินรอยขูดขีดเขียนได้ท้าทายต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามกีดกันกำจัดรอยขูดขีดเขียนให้หมดไป"

ขณะที่ นิโคลัส แกนซ์ ผู้เขียน Graffiti World อธิบายไว้ว่า คำว่า graffitti ที่มาจาก graffitto ในภาษาอิตาลี ที่แปลว่า รอยจารึก หรือ รอยขีดข่วน อาจกล่าวได้ว่ารอยขูดขีดเขียนถือกำเนิดขึ้นบนโลกมานานแล้ว พร้อมๆ กับกำเนิดของอารยธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอักษรฮีโรกลิฟฟิก ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ ก็อาจถือว่าเป็นรอยขูดขีดเขียนได้เช่นกัน

ประวัติ

[แก้]

จากตำรารอยขูดขีดเขียนไม่น้อยระบุไว้ตรงกันว่า รอยขูดขีดเขียนเริ่มต้นขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟียในช่วงทศวรรษที่ 60 ก่อนจะแพร่เข้ามายังนิวยอร์กในทศวรรษต่อมา สาเหตุการเกิดของรอยขูดขีดเขียนนั้น ในยุคสมัยที่การเหยียดสีผิวเป็นไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1954 ที่ผู้ปกครองนักเรียนผิวสีรวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่คณะกรรมการโรงเรียนแห่งรัฐแคนซัสปฏิเสธที่จะรับเด้กผิวสีเข้าศึกษา และในปีถัดมา สตรีผิวสีนาม โรซา พาร์กส ที่เธอถูกตัดสินมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายที่จะสละที่นั่งของเธอให้บุรุษผิวขาวตามที่กฎหมายของรัฐกำหนด เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมือง จนกระทั่งเกิดกฎหมายนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1964 แต่ว่าคนผิวสีก็ยังตกอยู่ในสภาพคนชายขอบของสังคม ได้เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งเพลงบลูส์ แจ๊ซ และเร้กเก้ และอีกด้านหนึ่งของคนผิวสีที่ต้องเผชิญ พวกเขาได้แสดงออกมาอย่างเกรี้ยวกราด ดิบหยาบ ประกาศให้เห็นถึงความ ขบถ ดังเช่น ดนตรีแร็ปที่เต็มไปด้วยคำด่าทอสังคมอย่างไม่เกรงกลัว รอยขูดขีดเขียนถือกำเนิดมาในยุคสมัยนี้

ในช่วยปลายทศวรรษที่ 60 รอยขูดขีดเขียนเดินทางเข้าสู่นิวยอร์ก โดย JULIO204 ไรเตอร์จากสลัมย่านบรองซ์นำเข้าไปเผยแพร่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 ที่นิวยอร์ก "ทากิ" ไรเตอร์ชื่อดังที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นยุคสมัยของเหล่าไรเตอร์หรือนักเขียนรอยขูดขีดเขียนโดยแท้จริง เมื่อคำว่า TAKI 183 ของเขา ได้รับการสัมภาษณ์และเปิดเผย ตีพิมพ์ภาพลายเซ็นของเขาในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส คำว่า TAKI 183 ที่เขาเขียนปรากฏให้เห็นทั้งในรถไฟใต้ดินและสถานที่สำคัญอย่างบรอดเวย์ สนามบินเคนเนดี รวมทั้งที่ต่าง ๆ ทั้งในนิวเจอร์ซีย์ คอนเนตทิคัต และสถานที่อื่น ๆ ทั่วนิวยอร์ก

หลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้วางแผง วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยต่างประทับใจในชื่อเสียงของทากิ พวกเขาจึงเริ่มเขียนชื่อของตัวเองตามสถานที่สาธารณะ จนค่อย ๆ ได้รับความนิยมและคึกคักในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รอยขูดขีดเขียนได้ถูกเขียนเต็มไปหมดจากไรเตอร์อย่าง TRACY168 StayHigh149 และ PHASE2 เริ่มเขียน "tag" (แท็ก) หรือลายเซ็นของตนตามโบกี้รถไฟ

ในปี ค.ศ. 1972 TOPCAT ได้นำเทคนิคใหม่ เข้าสู่นิวยอร์ก คือตัวอักษรยาว ๆ เก้งก้างเต็มพื้นที่คอนเทนเนอร์รถไฟ ต่อมารูปแบบนี้ได้รับความนิยมจากเหล่าไรเตอร์นิวยอร์ก และเรียกว่าเป็น "Broadway Elegant" ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวอักษรที่เขียนต่อก่อเป็นแถวยาว ๆ

ปี ค.ศ. 1973 รอยขูดขีดเขียนปรากฏอยู่แทบทุกซอกมุมตึกในนิวยอร์ก ดังที่ ริชาร์ด โกด์สไตน์ เขียนลงนิวยอร์กแม็กกาซีนไว้ว่า "ดูเหมือนเหล่าวัยรุ่นหนุ่ม ๆ แทบจะไม่สนใจอะไรเลย นอกจากมองหาทำเลที่พวกเขาจะพ่นรอยขูดขีดเขียน" โกลด์สไตน์เองได้จัดให้มีการประกวดรางวัล "ทากิอวอร์ด" ขึ้นเพื่อคัดเลือกรอยขูดขีดเขียนที่เขาคิดว่าดีที่สุดในขณะนั้น โกลด์สไตน์กล่าวอีกว่า กระแสความคลั่งไคล้รอยขูดขีดเขียนในขณะนั้น ไม่ต่างจากความบ้าคลั่งที่พวกเขามีต่อดนตรียุคร็อกแอนด์โรลในยุคทศวรรษที่ 50 เลย

รอยขูดขีดเขียนได้รับความนิยมขึ้นอีก เมื่อไรเตอร์จากประเทศต่าง ๆ หรือแต่ละท้องถิ่นนำผลงานของตนไปเผยแพร่ตามที่ต่างๆ จากทั่วสหรัฐอเมริกาถูกส่งต่อไปหลายประเทศในยุโรป นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรอยขูดขีดเขียนขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ แอลเอ นิวยอร์ก หรือย่านมิดเวสต์ โดยงานแรก ๆ ที่ถูกบันทึกไว้คืองาน Frame Exhibition ที่แอลเอราวปี ค.ศ. 1988 และในปี ค.ศ. 1993-1996 Chicago Transit Authority (CTA) รับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดการแข่งขันรอยขูดขีดเขียน โดยผู้ชนะเลิศจะได้ทุนการศึกษาและได้เข้าเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะ นับเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของการนำรอยขูดขีดเขียนเข้าสู่ "พื้นที่จัดวาง" อย่างเป็นระบบ

กระแสรอยขูดขีดเขียนในระดับสากลได้เกิดขึ้นเมื่อเว็บไซต์รอยขูดขีดเขียน ที่ชื่อ Art Crimes ในโลกออนไลนด์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน กันยายน ปี ค.ศ. 1994 โดยในปี 1999 อาร์ตไครมส์อ้างว่าเว็บไซต์ของเขามีภาพรอยขูดขีดเขียนมากกว่า 3,000 ภาพจาก 205 เมือง ใน 43 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการเกิดของอาร์ตไครมส์ได้เกิดไรเตอร์หน้าใหม่และนิตยสารเกี่ยวกับรอยขูดขีดเขียนแพร่หลายขึ้น

ทุกวันนี้รอยขูดขีดเขียนพัฒนากลายเป็นแฟชั่นที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ทั้งลวดลายแท็กที่พบตามเสื้อผ้าแนวสตรีตอาร์ตไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบ ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอโดยศิลปินฮิปฮอปในเอ็มทีวี ซึ่งมักมีภาพรอยขูดขีดเขียนปรากฏเป็นแบ็กกราวด์

ประเภทของกราฟฟิตี้

[แก้]
  • "Tag" คือการเซ็นลายเซ็นหรือนามแฝงของแต่ละคนโดยสเปรย์กระป๋อง หรือ ปากกา ส่วนมากใช้สีเดียว บางคนอาจพ่นเป็นตัวอักษรธรรมดา ขณะที่บางคนดีไซน์ให้เป็นตัวอักษรที่เกาะเกี่ยวกันจนอ่านไม่ออก เน้นให้ดูแปลกและสะดุดตา
  • "Throw-ups" คือการเขียนเร็ว ๆ ด้วยสีพื้นฐาน จำนวนน้อยสีนิยมใช้สีขาวดำ แสดงให้เห็นเส้นสายที่รวดเร็ว เป็นการเขียนตัวอักษรน้อยตัว มีเส้นตัดขอบเพื่อให้ดูมีมิติ ไม่เน้นความสวยงาม เพราะต้องทำแข่งกับเวลา
  • "Fill-in" หรือ "Piece" คือ "Throw-ups" ที่ซับซ้อนขึ้น เป็นผลงานของไรเตอร์คนเดียว เป็นการพ่นสีสเปรย์ให้เป็นภาพหรือตัวอักษรที่สวยงาม ใช้เวลานานในการสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์
  • "Block" หรือ "Bubble" การเขียน Tag ที่ดูมีมิติมากขึ้น ใช้สีประมาณ 3 สี หรือมากกว่านั้น
  • "Wildstyle" หรือ "Wickedstyle" เป็นสไตล์ที่ซับซ้อนขึ้น มีการเกาะเกี่ยวกันของตัวหนังสือ ลักษณะการเขียนประเภทนี้จะอ่านค่อนข้างยาก เพื่อแสดงความเหนือชั้นของการดีไซน์
  • "Blockbuster" คือ "Fill-in" ที่เขียนที่ตั้งใจเขียนทั้งผนัง
  • "Character" คือการพ่นเป็นรูปคน หรือ คาแร็กเตอร์ต่าง ๆ ไม่วาจะเป็นตัวการ์ตูน หรือเป็นภาพเสมือนจริงของดารา-นักร้องในดวงใจ หรืออาจเป็นตัวการ์ตูนที่ไรเตอร์ออกแบบเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของไรเตอร์คนนั้น ๆ
  • "Production" คือ การรวมรอยขูดขีดเขียนทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน เกิดจากการรวมที่ไรเตอร์หลายคนหรือหลายกลุ่มนัดกันสร้างผลงานร่วมกัน โดยมีธีมไปในทิศทางเดียวกันหรือสอดคล้องกัน เช่น นัดกันพ่นคาแร็กเตอร์ประจำตัวของไรเตอร์แต่ละคนหรือพ่นชื่อกลุ่ม ชื่อตัวเอง หรือเปล่าไรเตอร์อาจร่วมกันกำหนดวาระต่าง ๆ ขึ้นเอง

รอยขูดขีดเขียนในประเทศไทย

[แก้]

รอยขูดขีดเขียนในประเทศไทยมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะพบเห็นตามอาคารหรือกำแพงที่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงกำแพงและอาคารที่ยังมีผู้อยู่อาศัยด้วย ส่วนใหญ่รอยขูดขีดเขียนในประเทศไทยยังเป็นการแสดงออกทางศิลปะเท่านั้น ยังไม่มีการเสียดสีหรือล้อเลียนเรื่องราวต่างๆ ในสังคมมากนัก

หลังจากที่รอยขูดขีดเขียนครองความนิยมในหมู่วัยรุ่นไทยและได้พัฒนาขึ้นมาก ได้มีการประกวดรอยขูดขีดเขียนหรืองานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่าง ๆ ที่นำรอยขูดขีดเขียนไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นงาน Battle of the year ที่งานจัดประกวดรอยขูดขีดเขียน งาน MBK Graffitti Lesson 1 ที่จัดประกวดแข่งขันโชว์การพ่นรอยขูดขีดเขียนแนวสตรีทอาร์ต และเว็บไซต์กระปุกดอตคอมและพันธมิตรได้เคยร่วมจัดประกวดรอยขูดขีดเขียนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงงานแสดงนิทรรศการศิลปะ Keep on Keeping on เป็นต้น ซึ่งจากการจัดงานประกวดนี้เอง ไรเตอร์จำนวนไม่น้อยสามารถยึดรอยขูดขีดเขียนเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างสุจริต เช่นการนำรอยขูดขีดเขียนมาใช้ออกแบบร้านเสื้อผ้าแนวสตรีทอาร์ต ออกแบบร้านสเก็ตบอร์ด อย่างเช่น เอ็ม แห่งวงบุดด้า เบลส ที่เคยยึดเป็นอาชีพ

ในช่วงเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 ที่เกิดเหตุระเบิดกลางกรุง 8 จุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงข่าวว่าพบเบาะแสที่น่าจะเป็นของคนร้าย คือตัวอักษรซึ่งถูกเขียนบนตู้โทรศัพท์ คาดว่าอาจเป็นร่องรอยที่กลุ่มมือวางระเบิดทิ้งเอาไว้เพื่อส่งสัญญาณบางอย่าง คือตัวอักษรภาษาอังกฤษที่คล้าย IRK เกาะเกี่ยวกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวิเคราะห์ว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นของ JI หรือกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ กลุ่ม RKK หรืออาจโยงใยไปได้ถึงกบฏ IRA ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่คล้าย IRK นั้นคือแท็กที่เขียนว่า IRIE หรือรอยขูดขีดเขียนแบบหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย

อ้างอิง

[แก้]
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 271 เดิอนกันยายน พ.ศ. 2550 หน้า 138-172

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]