ข้ามไปเนื้อหา

ดาแกโรไทป์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระบวนการดาแกโรไทป์)
หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (ค.ศ. 1787 - 1851)

ดาแกโรไทพ์ (อังกฤษ: Daguerreotype) ถูกคิดค้นโดย หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (พ.ศ. 2330 - 2394) โดยดาแกร์ได้ทดลองเกี่ยวกับวัสดุไวแสง เพื่อใช้บันทึกภาพจากกล้องออบสคูร่าโดยตั้งชื่อว่ากระบวนการ ไดออรามา (Diorama) และในขณะเดียวกัน โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียฟ ก็ได้คิดค้นกระบวนการเฮลิโอกราฟฟี (Heliograghy) อยู่เช่นกัน แต่ทั้งสองเก็บเป็นความลับเรื่อยมาจนกระทั่งได้รู้จักกันโดยการชักนำของสองพี่น้องช่างทำแว่นตาและต่อมาทั้งสองได้ทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกัน แต่เมื่อทำสัญญาได้เพียง 4 ปี เนียฟกลับถึงแก่กรรมไปเสียก่อน และดาแกร์ ได้นำกระบวนการเฮลิโอกราฟฟี่ (Heliograghy) ของ เนียฟ และกระบวนการไดออรามาของ ดาแกร์ เองมารวมกันแล้วทดลองถ่ายภาพปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จเขาจึงตั้งชื่อกระบวนการใหม่นี้ว่า ดาแกโรไทพ์ (Daguerreotype)

ภาพแรกที่ดาแกร์ทำสำเร็จจนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการถ่ายภาพสมัยใหม่ มีชื่อว่าห้องภาพจิตรกร (The Artist’s studio) โดยเป็นการถ่ายภาพหุ่นนิ่งหรือภาพ(still Life) วัตถุที่ใช้เป็นแบบได้แก่ภาพวาด รูปแกะสลักที่เป็นฝีมือของเขาเอง เมื่อข่าวความสำเร็จแพร่ขยายออกไปทำให้ผู้คนสนใจเป็นอันมากโดยเฉพาะ ฟรังซัว อารากอล (Francois Aragol) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งกรุงปารีส ได้มาขอศึกษาความรู้จาก ดาแกร์และนำไปเผยแพร่สาธิตต่อ และเขายังได้เสนอรัฐบาลฝรั่งเศสซื้อลิขสิทธิ์จากดาแกร์ เมื่อรัฐบาลเห็นชอบได้ซื้อลิขสิทธิ์และได้โอนให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งกรุงปรารีสพัฒนา และต่อมารัฐบาลฝรั่งเศส ก็ได้ประกาศให้กระบวนการ ดาแกร์โรไทพ์ (Daguerreotype) เป็นของสาธารณะ ผู้ใดจะนำไปใช้ก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์

เมื่อดาแกร์เห็นว่ามีคนสนใจกระบวนการของเขาเป็นอันมากเขาจึงได้เขียนหนังสือเพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า (The History and Description of the Process Named the Daguerreotype) มีจำนวน 79 หน้าและได้พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสถึง 29 ครั้งและเป็นภาษาอื่นแพร่หลายไปทั่วซีกโลกตะวันตก แต่มีคนติว่าดาแกร์ใช้คำยากเกินไปและมีศัพท์วิทยาศาสตร์อยู่มาก ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจ รัฐบาลจึงสั่งให้ดาแกร์สาธิตกระบวนการให้สาธารณชนได้ดู เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจแจ่มแจ้ง และทุกครั้งที่มีการสาธิตเมื่อจบการสาธิตผู้คนต่างพากันแย่งซื้ออุปกรณ์ในการทำกระบวนการนี้เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นของฝากจากกรุงปารีส จนทำให้เกิดร้านขายอุปกรณ์เหล่านี้อยู่มากมากทั่วกรุงปรารีส

เพียง 1 ปีหลังจากคิดค้นได้สำเร็จกระบวนการนี้ได้กระจายอยู่ทั่วไปในซีกโลกตะวันตก และเพียง 6 ปีจากนั้นดาแกร์โรไทพ์ก็ได้มาถึงประเทศไทยพร้อมเรือสินค้าของพวกฝรั่งในปี พ.ศ. 2388 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีก็ทรงได้ฉายพระรูปส่งไปพระราชทานให้ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียร์ซ ของสหรัฐอเมริกาจากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ด้วยและเจริญเติบโตในประเทศไทยอย่างสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดมีการสร้างห้องมืด สั่งกล้องออบสคูร่า เพลท เคมีต่างๆ เข้ามาใช้ในราชสำนักมากมาย พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานกล้องและความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้แก่เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ด้วยกันทั้งยังเคยออกร้านถ่ายรูปและทรงเป็นช่างภาพเองในงานประจำปี วัดเบญจมบพิตรเพื่อนำเงินรายได้ไปบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดเบญจมบพิตรด้วย

ภาพที่มีชื่อเสียงของเอ็ดการ์ อัลลัน โพ ถ่ายโดยกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ในปี พ.ศ. 2391 ไม่นานก่อนเขาเสียชีวิต

ขั้นตอนวิธีการทำกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ (Daguerreotype)

[แก้]
  1. ให้นำแผ่นทองแดง(plate)ซึ่งชุบเงินไว้หนึ่งด้าน
  2. ใช้สำลีชุบน้ำมันหอมผสมกับหินจากภูเขาไฟที่บดละเอียดแล้ว(pumice powder) ทาลงบนแผ่นทองด้านที่ชุบเงินให้ทั่วโดยสม่ำเสมอนานพอสมควร
  3. นำแผ่นทองแดงไปล้างในสารละลายกรดไนตริกแอซิคและน้ำกลั่น 1:16
  4. นำแผ่นทองแดงไปอังกับความร้อนโดยหันด้านที่เป็นทองแดงลงหาเปลวไฟ

    ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นกระบวนการให้ห้องมืด
  5. ให้นำแผ่นทองแดงไปวางไว้บนกล่องที่มีไอโอดีนโดยหันด้านที่เป็นเงินลงหาไอโดดีนโดยกล่องนี้ในส่วนกลางกล่องจะต้องมีผ้ามัสลินขวางอยู่เพื่อเกลี่ยให้ไอโอดีนขึ้นไปติดได้ทั่วแผ่นเพลทอย่างสม่ำเสมอ
  6. เมื่อกระบวนการนี้เสร็จแผ่นเพลทจะกลางเป็นสีเหลืองเหมือนทองเหลือง
  7. นำแผ่นเพลทใส่กล่องสำหรับใส่แผ่นเพลท (hoder) และบรรจุใส่กล้องออบสคูร่า
  8. ถ่ายภาพที่ต้องการโดยในสมัยของดาแกร์นั้นใช้เวลาตั้งแต่ 15 - 40 นาที แล้วแต่สภาพแสง
  9. นำแผ่นเพลทไปล้างในกรดไนตริกแอซิคเข้มข้น
  10. นำแผ่นเพลทไปตั้งเอียง 45 องศากับถาดที่มีปรอท (Hg) อยู่
  11. นำตะเกียงไปเผาปรอท (Hg) ในถาด ขั้นตอนนี้รูปจะค่อยปรากฏขึ้นมาทีละน้อยจนครบ
  12. นำแผ่นเพลทไปล้างในสารละลายไฮโปและน้ำกลั่นเป็นการคงสภาพ ซึ่งสารละลายนี้จะต้องทำให้อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดเล็กน้อยและเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

การพัฒนาขึ้นไปอีก 3 ประการคือ

[แก้]
  1. การปรับปรุงเลนส์ ในระยะแรกกล้องมีเลนส์เพียงตัวเดียวต่อมา โจเซฟ เพนซ์วอล (Josef Petzvall) ชาวเยอรมันได้ออกแบบเลนส์คู่ขึ้นซึ่งมีความไวแสงกว่าเดิมถึง 16 เท่า
  2. การปรับปรุงความไวแสงของเพลท จอห์น เฟรดเดอริค กอด ดาร์ด (John Friedrich God-dard) ได้ทดลองนำโปรมีนไปฉาบเพิ่มเข้าไปบนเพลทอีกครั้งทำให้เพลทมีความไวแสงเพิ่มขึ้นมาก เขาเรียกวัสดุไวแสงชนิดใหม่นี้ว่า “Quick stuff” และถ้าใช้เพลทนี้ร่วมกับกล้องเลนส์คู่จะใช้เวลานานไม่ถึง 1 นาที
  3. การย้อมสีภาพ เนื่องจากภาพที่ได้จากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์มีโทนนุ่มและซีดจางง่ายดังนั้น ฮิฟโพไลท์ หลุยส์ ฟีซัว (Hippolyte Louis Fizeau) ได้ทำการย้อมสีภาพด้วยการน้ำเพลทที่คงสภาพแล้วไปอุ่นให้ร้อนแล้วนำสารละลายของ Gold chloride (AuCl3) เทลงบนเพลททำให้โทนของภาพมีสีน้ำตาลไหม้แกมม่วง การย้อมสีภาพจะทำให้เยื่อไวแสงติดได้นานขึ้นและสีของภาพคงทนถาวรกว่า

ข้อเสียของดาแกร์โรไทพ์

[แก้]
  1. การถ่ายภาพหนึ่งครั้งจะได้เพียงภาพเดียวไม่สามารถอัดเพิ่มได้
  2. เพลทเป็นโลหะมีน้ำหนักมาก เป็นรอยง่ายต้องเก็บไว้ในกรอบหรือซองโดยเฉพาะ
  3. เวลามองดูภาพบางทีลำบากเพราะมีแสงสะท้อนรบกวนนัยน์ตา

การสาธิตกระบวนการดาแกร์โรไทพ์

[แก้]

ดาแกร์ได้แสดงให้ประชาชนชม เมื่อ 17 กันยายน ค.ศ. 1839 ที่แกรนด์ โฮเต็ล (Grand Hotel)ในปารีส หนังสือพิมพ์ New York Star ได้ส่งผู้สื่อข่าวมาฟังและสังเกตการณ์ และเมื่อกลับไปนิวยอร์ก ผู้สื่อข่าวคนนี้ได้นำเรื่องราวไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์มีใจความดังนี้

ในการทดลองดาแกโรไทพ์ ดาแกร์ได้แสดงการทดลองจริงๆ ต่อหน้าผู้ชมเพื่อประกอบการบรรยายของเขา เขานำแผ่นทองแดงแผ่นนึง ซึ่งผิวด้านนึงชุบเงิน ใช้สำลีปั้นเป็นรูปกลมๆ ชุบน้ำมันหอม ผสมกับหินระเบิดจากภูเขาไฟที่บดละเอียดแล้ว แล้วนำไปทาถูบนแผ่นทองแดงด้านที่ชุบเงิน วิธีถูเขาถูเบาๆ ครั้งแรกถูเป็นวงกลม เมื่อนานพอสมควรแล้ว ต่อไปเขาถูจากบนมาล่างและถูจนกระทั่งทั่วทั้งสี่ด้านตลอดแผ่น จากนั้นเขานำแผ่นโลหะที่ถูเรียบร้อยแล้ว นำไปล้างในน้ำยาซึ่งมีส่วนผสมของน้ำกลั่น 16 ส่วน กับกรดไนตริก 1 ส่วน เมื่อล้างแล้วนำไปอังกับความร้อนจากตะเกียงโดยให้ด้านที่ชุบเงินอยู่ด้านบนและด้านทองแดงอยู่ด้านล่างติดกับเปลวไฟ เมื่ออังความร้อนพอสมควรแล้ว เขานำไปล้างอีกครั้งหนึ่งในกรดไนตริกชนิดเข้มข้น พอถึงตอนนี้ แผ่นโลหะก็พร้อมจะฉาบด้วยไอโอดีน

วิธีต่อมาเขานำแผ่นโลหะมาในที่ๆ แสงสว่างส่องเข้าไม่ได้ แล้วเอาแผ่นโลหะตรึงติดกรอบไม้ แล้วสอดเข้าไปใต้ฝากล่องเล็กๆ ซึ่งที่ก้นกล่องนั้นมีขวดไอโอดีนตั้งอยู่ สำหรับแผ่นโลหะ เขาวางด้านชุบเงินอยู่ข้างล่างเพื่อคอยรอรับไอของโอดีนจากขวด ที่ตรงกลางระหว่างขวดไอโอดีนกับแผ่นโลหะ มีผ้ามัสลินบางๆ ขึงอยู่ เพื่อทำหน้าที่ เกลี่ยควันไอโอดีนให้ถูกแผ่นโลหะสม่ำเสมอกัน เมื่อทำถึงขั้นตอนนี้ ปรากฏว่าแผ่นโลหะด้านที่ชุบเงินกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของ Agl-Siver Iodide ซึ่งเกิดจากเงินกับไอโอดีน ขั้นตอนนี้คือ การฉาบวัสดุไวแสงบนแผ่นโลหะ

ดาแกร์ได้ปรับโฟกัสที่กล้องออบสคูล่าสำหรับถ่ายภาพไว้ล่วงหน้าและเอาแผ่นโลหะที่ทำเสร็จแล้วนั้นมาสอดเข้าไปตรงที่บรรจุวัสดุไวแสงของกล้องถ่าย เมื่อบรรจุเพลทแล้ว ก็ทำการถ่ายโดยใช้เวลาถึง 15 นาที สำหรับเวลาการถ่าย อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตั้งแต่ 5-40 นาที แล้วแต่แสงมากหรือน้อย ผู้สื่อข่าวคนนี้เรียกดาแกร์ว่า ผู้อำนวยการ (Director) เข้าได้เล่าต่อไปว่า เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว ดาแกร์เอาเพลทออกมาให้ดู ซึ่งไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทำให้ผู้ชทคิดว่า การทดลองคงล้มเหลว จากนั้นดาแกร์เอาเพลทไปล้าง ผู้ชมต่างพากันคิดว่า หลังจากล้างแล้ว ต้องเห็นภาพแน่ๆ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะไม่มีภาพปรากฏให้เห็น เลยพากันคิดว่า การทดลองล้มเหลวแน่ๆ แต่ดาแกร์ไม่พูดอะไร เขาลงมือทำต่อไป โดยเอาเพลทไปตั้งเอียง 45 องศาเหนือถาดที่มีปรอทอยู่ แล้วเอาตะเกียงเผาปรอทในถาด ไอของปรอทจะขึ้นมาถูกเพลทด้านชุบเงิน ตอนนี้ภาพจะเกิดขึ้นทีละน้อยจนเต็มที่ แล้วไปล้างในน้ำกลั่นซึ่งผสมด้วยไฮโป เป็นการคงสภาพ ซึ่งน้ำยาที่ล้างทำให้ร้อนถึงอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดเล็กน้อย ถึงตอนนี้เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ได้ภาพออกมาดูตามต้องการ

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Star กล่าวว่า ในชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวของเขายังไม่เคยเห็นสิ่งที่วิเศษสมบูรณ์ขนาดนี้มาก่อน เขาได้มีโอกาสเห็นสิ่งมหัศจรรย์ด้วยตาตนเองเป็นครั้งแรก สำหรับภาพที่ดาแกร์ทำนั้น ถ้ามองดูด้วยตาเปล่าจะมองไม่เห็นเกรน (Grain) ของภาพ แต่ถ้านำมาส่องดูกับแว่นขยายจะเห็นเกรนหยาบ ในการทดลองนี้มีตอนหนึ่งที่น่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง คือตอนที่ผู้ชมยังมองไม่เห็นภาพบนเพลท ก่อนที่จะเอาเพลมไปอังปรอท ซึ่งตอนนี้เขาอธิบายว่า ยังเป็นภาพแฝงอยู่ เมื่อนำเพลทไปอังไอปรอทแล้ว ภาพก็จะปรากฏขึ้นมามองให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]